[คำที่ ๑๙๕] โกธน

 
Sudhipong.U
วันที่  21 พ.ค. 2558
หมายเลข  32315
อ่าน  361

ภาษาบาลี ๑ คำคติธรรมประจำสัปดาห์ “โกธน

คำว่า โกธน เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า โก - ทะ - นะ ] หมายถึง บุคคลผู้โกรธ ผู้มักโกรธ ผู้มีความขุ่นเคืองใจ มีความไม่พอใจ ตราบใดที่ยังไม่สามารถดับได้ ความโกรธ ความขุ่นเคือง ความไม่พอใจ เมื่อได้เหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เมื่อความโกรธเกิดขึ้นกับบุคคลใด ก็กล่าวเรียกบุคคลนั้นตามสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปว่า เป็นบุคคลผู้มีความโกรธ เป็นบุคคลผู้โกรธ ข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต  เลขสูตร แสดงบุคคล ๓ จำพวก ดังนี้

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่แผ่นหิน เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ โกรธ เนืองๆ ทั้งความโกรธของเขานั้น นอนเนื่องอยู่ในสันดานนานนัก เปรียบเหมือนรอยขีดที่แผ่นหิน ไม่ลบเลือนเร็วเพราะลมหรือน้ำ ย่อมตั้งอยู่ยั่งยืน แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมโกรธเนืองๆ ทั้งความโกรธของเขานั้นก็นอนเนื่องอยู่ในสันดานนานนัก นี้เรียกว่า บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่แผ่นหิน 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่แผ่นดิน เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ โกรธเนืองๆ แต่ความโกรธของเขานั้นไม่นอนเนื่องอยู่ในสันดานนานนัก เปรียบเหมือนรอยขีดที่แผ่นดิน ลบเลือนไปโดยเร็วเพราะลมและน้ำ ไม่ตั้งอยู่ยั่งยืนแม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมโกรธเนืองๆ แต่ความโกรธของเขานั้นไม่นอนเนื่องอยู่ในสันดานนานนัก นี้เรียกว่า บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่แผ่นดิน 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่น้ำ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ แม้จะถูกว่าด้วยคำหนักๆ แม้จะถูกว่าด้วยคำหยาบๆ แม้จะถูกว่าด้วยคำที่ไม่พอใจ ก็คงสมานไมตรี กลมเกลียว ปรองดองกันอยู่ เปรียบเหมือนรอยขีดที่น้ำ จะขาดจากกันก็ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้น ไม่ตั้งอยู่นาน แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้จะถูกว่าด้วยคำหนักๆ แม้จะถูกว่าด้วยคำหยาบๆ แม้จะถูกว่าด้วยคำที่ไม่พอใจ ก็คงสมานไมตรี กลมเกลียว ปรองดองกันอยู่ นี้เรียกว่า บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่น้ำ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นคำจริง เป็นคำอนุเคราะห์ให้ได้เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ  เป็นเครื่องเตือนให้รู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า มากไปด้วยความไม่ดี เพียงใด และจะขัดเกลาให้เบาบางลงได้อย่างไร ทุกพระสูตรเกื้อกูลต่อการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงเมื่อได้เข้าใจอย่างถูกต้อง 

แต่ละคนอาจจะเคยเป็นบุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่แผ่นหิน คือ เป็นผู้ที่จดจำสิ่งที่ผ่านมาแล้วไว้หนาแน่น เป็นความโกรธก็โกรธฝังใจไม่ลบเลือน ไม่ลืม ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ดีเลยแม้แต่น้อย ถ้าเป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แม้ว่าจะประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาเพียงใดก็ตาม ก็ย่อมดีขึ้น คือ เห็นความไม่มีสาระ ความไม่ใช่สัตว์ ความไม่ใช่บุคคล ความไม่ใช่ตัวตนแม้ในลักษณะของความที่เคยจำ เคยโกรธ เคยไม่พอใจ เคยฝังใจไว้ ความโกรธที่เปรียบด้วยรอยขีดที่แผ่นหินนั้นก็จะค่อยๆ คลายลงจนกระทั่งในที่สุดก็เป็นเพียงรอยขีดในน้ำได้ เพราะเหตุว่าถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ ด้วยปัญญาที่รู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเลย เมื่อมีการระลึกรู้บ่อยๆ ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย  ความฝังใจในสิ่งที่ไม่พอใจ ก็จะเห็นความไม่มีสาระ ถึงแม้ว่ายังไม่อาจที่จะดับความโกรธได้ แต่เวลาที่ระลึกได้ขณะใดที่คิดไม่ดี  ก็รู้ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็จะทำให้ความไม่พอใจที่เคยสะสมฝังใจเหนียวแน่นมาก ค่อยๆ ละคลายจนกระทั่งในที่สุดไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้ท่านหวั่นไหวไปได้ ไม่ว่าจะประสบกับอารมณ์ใดๆ ก็ตาม

​ควรอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้เห็นคุณของพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ว่าจะเป็นพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงในพระสูตรใด ด้วยเรื่องอะไร ท่านเป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้บ้างหรือไม่ และจะเป็นบุคคลนั้นมากน้อยเพียงใด? ถึงแม้ว่าจะเคยเป็นอย่างบุคคลนั้น ก็เปลี่ยนได้ด้วยปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เห็นความไม่มีสาระ ความไม่มีประโยชน์ในการที่จะไปจดจำหรือว่าฝังใจในความโกรธซึ่งเกิดขึ้นเนืองๆบ่อยๆซึ่งไม่ทำให้เกิดประโยชน์อะไรเลยแม้แต่น้อย เพราะฉะนั้น พระธรรมทั้งหมดเพื่อจะให้ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าทรงแสดงเรื่องของความโกรธ ก็ขอให้พิจารณาตัวของท่านว่า ท่านเป็นบุคคลประเภทไหน ถ้าโกรธลึก โกรธนาน ฝังใจ จดจำ ซึ่งไม่ดี นั้น ก็จะขัดเกลาขึ้น ดีขึ้น ด้วยการที่เกิดปัญญาระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ นอกจากนั้นไม่มีหนทางอื่น และที่สำคัญพระธรรมเกื้อกูลให้เห็นคุณของกุศลธรรมและเห็นโทษของอกุศลธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง แล้วอบรมเจริญธรรมฝ่ายที่เป็นกุศลยิ่งขึ้น

​ อกุศลธรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นไป เช่น ความโกรธ ความไม่พอใจ เป็นต้น นั้น เป็นชีวิตประจำวัน เป็นสภาพธรรมที่จะต้องระลึกรู้ จะต้องขัดเกลา ละคลายด้วยการอบรมปัญญา แสดงถึงชีวิตจริงๆตามธรรมดา ตามปกติที่เคยสะสมมา แล้วแต่ว่าท่านจะเป็นคนประเภทใด มีกิเลสชนิดไหน มากน้อยเพียงใด ก็จะต้องละคลายไปด้วยการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ซึ่งจะขาดรากฐานที่สำคัญไม่ได้เลย คือ การฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงๆ บ่อยๆ เนืองๆ ไม่ขาดการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ