[คำที่ ๑๙๖] อตฺตปิย
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อตฺตปิย”
คำว่า อตฺตปิย เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า อัด - ตะ - ปิ - ยะ] มาจากคำ ๒ คำ คือ อตฺต (ตนเอง) กับ คำว่า ปิย (เป็นที่รัก) รวมกันเป็น อตฺตปิย แปลว่า ผู้มีตนเป็นที่รัก หรือ ผู้รักตน คำว่า ตน ในที่นี้ ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ แต่เป็นความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมที่เป็นนามธรรม กับ รูปธรรม จึงหมายรู้ว่าเป็นบุคคลแต่ละคน, คำว่า ผู้มีตนเป็นที่รัก หรือ ผู้รักตน นั้น เป็นคำที่มีความหมายที่ลึกซึ้งมาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ผู้ที่ประพฤติสุจริต คือ ความดีทั้งหลาย ด้วยกาย วาจา และใจ ชื่อว่า เป็นผู้มีตนเป็นที่รัก หรือเป็นผู้ที่รักตน เป็นการรักตน ด้วยการเห็นคุณค่าของการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ แล้ว ไม่ทำความเสียหายแก่ตน ด้วยการไม่กระทำบาปกรรมทั้งหลาย ตามข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรต ปิยสูตร ว่า
“ชนบางพวก ย่อมประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ พวกเขาเหล่านั้นชื่อว่ารักตน ถึงแม้พวกเขาจะกล่าวอย่างนี้ว่า เราไม่รักตน ถึงเช่นนั้นพวกเขาเหล่านั้น ก็ชื่อว่ารักตน ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่าชนผู้ที่รักใคร่กัน ย่อมทำความดีความเจริญให้แก่ชนผู้ที่รักใคร่กันได้ โดยประการใด พวกเขาเหล่านั้น ย่อมทำความดีความเจริญแก่ตนด้วยตนเองได้โดยประการนั้น ฉะนั้น พวกเขาเหล่านั้น จึงชื่อว่ารักตน”
สัตว์ทั้งหลายในภพภูมิต่างๆ เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้วไม่พ้นไปจากจิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) รูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร) หรือเมื่อกล่าวโดยนัยของขันธ์ ๕ ก็เป็นเพียงขันธ์ ๕ ที่เกิดขึ้นเป็นไปเท่านั้น แต่เมื่อกล่าวโดยนัยสมมติบัญญัติ เพราะสัตว์มีกำเนิดต่างกัน จึงกล่าวว่าเป็นสัตว์ในอบายภูมิ เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพรหม ซึ่งจะเห็นได้ว่าการที่สัตว์ทั้งหลายได้กำเนิดต่างๆ กัน ก็เพราะกรรมที่สัตว์เหล่านั้นกระทำไว้แล้วนั่นเอง
การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดขึ้นเพราะผลของกุศลกรรม เป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เมื่อได้ความเป็นมนุษย์แล้ว ชีวิตยังเป็นอยู่ยาก ต้องประกอบการงาน เพื่อความสืบต่อแห่งชีวิต ให้เป็นไปอย่างไม่เดือดร้อน และชีวิตก็ไม่ได้ยั่งยืนเลย สั้นมาก ไม่รู้ว่าจะละจากโลกนี้ไปเมื่อใดด้วย และที่สำคัญ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จอุบัติขึ้นในโลกทรงตรัสรู้และทรงแสดงพระสัทธรรมก็ที่ภูมิมนุษย์ ภูมิมนุษย์นี้ เป็นภูมิที่มีโอกาสเจริญกุศลได้ทุกๆ ประการ ทั้งในเรื่องทาน ศีล และการอบรมเจริญปัญญา
มนุษย์แต่ละคนก็มีความแตกต่างกันไป ตามการสะสม แต่ละคนเป็นแต่ละหนึ่งไม่เหมือนกันเลย เป็นความจริงที่ว่า บุคคลใดก็ตามที่ประพฤติทุจริตทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ขณะนั้นเป็นการกระทำเหตุที่ไม่ดี เป็นอันตรายแล้วในขณะที่กระทำอกุศลกรรม เป็นผู้ไม่รักตน เป็นผู้ทำความเสียหายให้แก่ตนเอง ซึ่งจะเป็นเหตุทำให้ตนเองได้รับผลที่ไม่ดีในภายหน้า โดยที่ไม่มีใครทำให้เลย นอกจากอกุศลกรรมของตนเองเท่านั้น เพราะเหตุว่าเวลาที่อกุศลกรรมให้ผลนั้น อกุศลวิบากผลของอกุศลกรรม ก็ย่อมเกิดขึ้น
ส่วนบุคคลผู้ที่ประพฤติสุจริตทั้งทางกาย ทางวาจาและทางใจ เจริญกุศลประการต่างๆ ไม่ได้กระทำสิ่งที่เป็นอันตราย กล่าวคือ อกุศลกรรมทั้งหลายให้กับตนเอง บุคคลประเภทนี้เป็นผู้รักตนเอง ทำความดี ความเจริญให้กับตนเอง ด้วยการสะสมความดีทั้งหลายในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ความดีที่ประกอบด้วยปัญญาที่เป็นไปกับการระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ที่จะเป็นเหตุทำให้ออกจากวัฏฏะ ก็เป็นการรักตนเองอย่างสูงสุด คือ สามารถทำให้พ้นจากกิเลสทั้งปวง ไม่ต้องมีการเวียนว่ายตายเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์
ดังนั้น เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ยากอย่างยิ่งแล้ว ก็ไม่ควรที่จะประมาทในชีวิต ควรเห็นถึงความสำคัญของการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เห็นว่าตนเองเป็นที่รัก ก็ควรที่จะได้กระทำสิ่งที่ดีให้กับตนเอง ทำตนให้คุ้มค่ากับการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ด้วยการสะสมความดีประการต่างๆ กล่าวคือ ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา พร้อมทั้งเจริญกุศลทุกประการ สะสมเป็นที่พึ่งให้กับตนเองต่อไป อันเป็นทางเดียวที่จะค่อยๆ ขัดเกลากิเลสของตนเองให้เบาบางลง จนกว่าจะถึงการดับได้อย่างหมดสิ้นในที่สุด.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ