[คำที่ ๑๙๗] ปาป

 
Sudhipong.U
วันที่  4 มิ.ย. 2558
หมายเลข  32317
อ่าน  659

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ปาป”

คำว่า ปาป เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า  ปา - ปะ] หมายถึง สภาพธรรมฝ่ายที่ไม่ดี เป็นสภาพธรรมที่ชั่ว เป็นสภาพธรรมที่มีโทษ เขียนเป็นไทยได้ว่า บาป เป็นคำจริงที่แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรม กล่าวคือ อกุศลจิตและเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย มีตั้งแต่ระดับที่บางเบา จนกระทั่งล่วงเป็นทุจริตกรรม เบียดเบียนประทุษร้ายผู้อื่น ถ้าทำบาปในระดับที่เป็นทุจริตกรรม เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม เป็นต้น แล้ว ย่อมนำมาซึ่งผลที่ไม่ดีโดยส่วนเดียว ตามข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก  ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ดังนี้ คือ

“ผู้มีปกติทำบาป ย่อมเดือดร้อนในโลกนี้ ละไปแล้ว ย่อมเดือดร้อน เขาย่อมเดือดร้อน ในโลกทั้งสอง, เขาย่อมเดือดร้อนว่า 'กรรมชั่ว เราทำแล้ว,' ไปสู่ทุคติ ย่อมเดือดร้อนยิ่งขึ้น”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง อุปการะเกื้อกูลให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง เพราะสิ่งที่มีจริงไม่ได้พ้นไปจากชีวิตประจำวันเลย ทุกขณะเป็นธรรม แม้บาป ก็เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงก็จะไม่สามารถมีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้เลย     

บาป หมายถึงอกุศลธรรม สภาพธรรมที่ไม่ดีไม่งามและให้โทษ ตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าไม่มีจิต ก็ไม่มีบาป อย่างเช่นต้นไม้ไม่มีบาป เนื่องจากต้นไม้คิดไม่ได้ ต้นไม้ทำอะไรไม่ได้ ต้นไม้ฆ่าสัตว์ ไม่ได้ ต้นไม้ลักทรัพย์ ไม่ได้ เป็นต้น จึงไม่มีบาป บาปต้องเป็นสภาพของจิตซึ่งประกอบด้วยสภาพธรรมที่ไม่ดี เช่น ประกอบด้วยความติดข้องต้องการ ประกอบด้วยความขุ่นเคืองใจ เป็นต้น เพราะฉะนั้นไม่มีใครสามารถจะเห็นจิตหรือดูจิตได้ด้วยตา แต่ว่าสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของจิตได้ เพราะเหตุว่าทุกคนมีจิต แต่แม้ว่าทุกคนจะรู้เพียงคร่าวๆว่ามีจิต แต่ถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียดก็ยังไม่สามารถที่จะตอบได้ว่าที่ว่ามีจิตนั้น จิตอยู่ที่ไหน ซึ่งจะต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ขณะที่เห็นเป็นจิตชนิดหนึ่ง ขณะที่ได้ยินเป็นจิตชนิดหนึ่ง ขณะที่ได้กลิ่นเป็นจิตชนิดหนึ่ง ขณะที่ลิ้มรสเป็นจิตชนิดหนึ่ง ขณะที่กำลังรู้สิ่งที่เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง เป็นจิตชนิดหนึ่ง ขณะที่คิดนึกเป็นจิตชนิดหนึ่ง จึงพอที่จะพิจารณาให้ละเอียดลงไปอีกได้ว่า จิตเห็นเป็นบาปหรือไม่? จิตเห็นเพียงเห็น เพราะฉะนั้นจิตเห็นไม่ใช่อกุศลจิตและไม่ใช่กุศลจิต จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่อกุศลจิตและไม่ใช่กุศลจิต เป็นเพียงวิบากจิต เป็นผลของกรรม แต่ว่าขณะใดที่เห็นแล้ว ชอบ ได้ยินแล้วชอบ ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต เป็นอกุศลจิตที่ประกอบด้วยโลภะ ความติดข้องต้องการ จะใช้คำว่าบาปก็ได้ เพราะเหตุว่าเป็นขณะจิตที่เศร้าหมอง ไม่ผ่องใส มีสภาพของโลภเจตสิกซึ่งทำให้เป็นสภาพที่ติด ที่พอใจ ที่ยินดี ที่ปรารถนาในอารมณ์นั้น เพราะฉะนั้นในขณะนั้นไม่ใช่กุศล แต่เป็นอกุศล ซึ่งก็คือ เป็นบาป และถ้าขณะใดที่เห็น แล้วเกิดความไม่พอใจ ในขณะนั้นเป็นโทสะ เป็นสภาพที่ขุ่นเคืองขัดข้อง ไม่พอใจ ขณะนั้นเป็นอกุศล จะใช้คำว่า “บาป” ก็ได้ เพราะโดยรวมแล้ว บาป ได้แก่ อกุศลธรรมทุกชนิด นี้คือความเป็นจริง  

วันหนึ่งๆ มีจิตที่เป็นอกุศล คือ เป็นบาป มากจริงๆ เพียงแต่ว่าจิตที่เป็นอกุศลนั้นยังไม่มีกำลังถึงขั้นที่จะเป็นทุจริตกรรม ยังไม่ถึงขั้นที่กระทำอกุศลกรรมประการต่าง ๆ มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น เป็นต้น เมื่อยังเป็นเพียงแค่ความติดข้อง หรือความขุ่นเคืองใจ ที่ไม่ได้ล่วงเป็นทุจริตกรรม ก็ไม่ใช่เหตุที่จะทำให้เกิดวิบากในภายหน้า แต่ก็สะสมสืบต่อเป็นอุปนิสัยที่ไม่ดีต่อไป แต่เมื่อใดก็ตามที่สะสมมีกำลังมากขึ้นจนล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ นั่นเป็นบาปที่มีกำลัง ที่สามารถให้ผลที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ นำเกิดในอบายภูมิได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะประมาทไม่ได้เลยทีเดียว

เพราะฉะนั้นก็จะเห็นระดับขั้นของอกุศลในขณะที่หลังจากที่เห็น หลังจากได้ยิน หลังจากได้กลิ่น เป็นต้น จนกระทั่งถึงเวลาที่อกุศลนั้นมีกำลังทำให้ล่วงเป็นทุจริตกรรมทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง นั้น กล่าวรวมว่าเป็นบาป เป็นธรรมที่ไม่ดี ขณะใดที่เป็นอกุศลจิต ขณะนั้นเป็นบาป  เป็นอกุศลธรรม  เป็นธรรมมีจริง ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้นที่จะทำให้รู้จักบาปตามความเป็นจริง และละบาปได้จนกระทั่งไม่มีบาป คือ ไม่มีอกุศลธรรมใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย ทั้งหมดทั้งปวงจะเป็นไปได้ ก็ต้องไม่ขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ฟังบ่อยๆ เนืองๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
lokiya
วันที่ 2 มี.ค. 2566

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ