[คำที่ ๑๙๘] หทย

 
Sudhipong.U
วันที่  11 มิ.ย. 2558
หมายเลข  32318
อ่าน  489

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ หทย

คำว่า หทย เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า หะ - ทะ - ยะ] แปลว่า สภาพธรรมที่อยู่ภายใน หมายถึงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง คือ จิต ซึ่งอยู่ภายในที่สุด แม้เจตสิกที่เกิดร่วมกับจิต ประกอบกับจิต ยังเป็นภายนอก แม้อารมณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่จิตรู้ก็เป็นภายนอก เพราะสภาพธรรมที่อยู่ภายในจริงๆ คือ จิต ตามข้อความจากพระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ ว่า จิตเท่านั้นเรียกว่า หทัย เพราะอรรถว่าอยู่ภายใน,    

จิตมีมากมายหลายประเภท แต่เมื่อว่าโดยลักษณะแล้ว มีลักษณะเดียว คือ มีการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์เป็นลักษณะ ตามข้อความบางตอนจากอรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ ว่า “ก็เมื่อว่าโดยลักษณะ จิตมีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะ จริงอยู่ จิตที่เป็นไปในภูมิ ชื่อว่า ไม่มีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะ ก็หาไม่ เพราะจิตทั้งหมดมีการรู้แจ้งอารมณ์ทั้งนั้น”


ในสังสารวัฏฏ์อันยาวนาน แต่ละบุคคลก็เกิดมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากความเป็นไปของสภาพธรรม คือ จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) และรูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อารมณ์อะไร) เพราะผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ยังมีตัณหา ยังมีอวิชชาซึ่งยังดับไม่ได้ ก็ยังต้องมีการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไป ประการที่สำคัญ คือ ไม่ว่าจะเกิดเป็นใคร มีอายุยืนนานเพียงใด ก็ดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น จิตขณะหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น จิตไม่สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันสองดวงหรือสองขณะได้ หรือไม่ใช่ว่าจะมีจิตดวงเดียวเกิดขึ้นเป็นสิ่งยั่งยืนตลอดไป เพราะตามความเป็นจริงแล้ว มีจิตเกิดดับสืบต่อกันอยู่ตลอดเวลาอย่างไม่ขาดสาย เป็นกุศลบ้าง เป็นกุศลบ้าง เป็นวิบากบ้าง เป็นกิริยาบ้าง ตามความเป็นไปของจิต ซึ่งก็เป็นอย่างนี้มานานแล้วในสังสารวัฏฏ์

เมื่อกล่าวถึงสิ่งที่มีจริงแล้ว เป็นปรมัตถธรรม ซึ่งไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน จำแนกเป็นสภาพธรรมที่เป็น “จิตปรมัตถ์” เป็นสภาพรู้ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ “เจตสิกปรมัตถ์” ได้แก่ สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมที่เกิดกับจิต มีลักษณะเฉพาะของนามธรรมนั้นๆ แต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต แต่ว่ากระทำกิจของตนต่างๆ กันไป สำหรับเจตสิกปรมัตถ์มีทั้งหมด ๕๒ ประเภท มี ผัสสะ (สภาพธรรมที่กระทบอารมณ์) เวทนา (ความรู้สึก) สัญญา (ความจำ) เจตนา (ความจงใจ) เป็นต้น และในการอบรมเจริญปัญญา ก็จะรู้ลักษณะของรูปธรรมด้วย ซึ่งเป็นปรมัตถธรรมอีกอย่างหนึ่ง คือ รูปปรมัตถ์ เพราะในชีวิตจริงๆ ตามความเป็นจริง มีการเห็น ซึ่งเป็นจิต และสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สภาพรู้ ก็เป็นรูปปรมัตถ์ การอบรมปัญญา ก็เป็นการรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงละเอียด เพื่อที่จะให้เข้าใจชัดในความเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ของสิ่งที่มีจริง ที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน ทั้งจิต เจตสิก และรูป ส่วนในนิพพานนั้น เมื่อยังไม่ประจักษ์ ก็ควรที่จะได้ศึกษาเพื่อที่จะได้เข้าใจเรื่องของปรมัตถธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก รูป ก่อน

สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง คือ จิต เป็นสภาพธรรมที่อยู่ภายใน อันมีอีกชื่อหนึ่งว่า หทย หรือ หทัย เพราะมีความหมายว่า เป็นสภาวะอยู่ภายใน จากพยัญชนะนี้ก็ทำให้เข้าใจได้ว่า จิตไม่ได้อยู่ข้างนอก ไม่ได้อยู่ภายนอก แต่ความหมายของภายใน ในที่นี้  คือ จิตเป็นสภาพธรรมที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏซึ่งเป็นภายนอก สิ่งใดที่ปรากฏ สิ่งนั้นเป็นภายนอก เพราะเป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังรู้

เพราะฉะนั้น การศึกษาเรื่องของจิต เป็นการที่จะพิจารณาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ ถ้าไม่เคยคิดเลยว่า จิตอยู่ที่ไหน ถ้าไม่รู้อย่างนี้  ก็จะไม่สามารถรู้ลักษณะของจิตได้ เพราะมีจิต แต่ไม่ทราบว่าจิตอยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้น ก็ไม่สามารถพิจารณาลักษณะของจิตได้ว่า เป็นเพียงสภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน แต่เมื่อเข้าใจว่าจิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นภายใน เพราะความหมายว่า เป็นสภาวะอยู่ภายใน ในขณะเห็นจิตไม่ได้อยู่ข้างนอก สีสันวรรณะกำลังปรากฏเป็นภายนอก จิตเป็นสภาวธรรมที่อยู่ภายใน คือ ที่กำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา นี้คือการอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ถ้าไม่คิดอย่างนี้ ก็ไม่ทราบว่าจะไปหาจิตที่ไหน เมื่อหาจิตไม่พบ ก็ไม่สามารถจะพิจารณาจนกระทั่งรู้ชัดว่านั่นแหละคือลักษณะของจิต ที่ว่าทุกคนมีจิต นั้น ไม่ได้นอกเหนือจากชีวิตประจำวันเลย ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เอง เป็นสภาพที่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ สิ่งที่ปรากฏ ปรากฏภายนอก ส่วนที่เห็นคือที่กำลังรู้นั้น เป็นจิต เป็นสภาพธรรมที่เป็นอาการรู้ เป็นธาตุรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา นอกจากนั้นแล้ว ในขณะที่ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง คิดนึกบ้าง เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง ทั้งหมดนี้คือความเกิดขึ้นเป็นไปของจิต  ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่อยู่ภายใน

เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ทุกขณะของชีวิตคือการเกิดดับสืบต่อกันของจิต (รวมถึงสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต คือ เจตสิก ด้วย) และที่สำคัญ  จิต ไม่ใช่เรา เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยหลายอย่าง เช่น มีที่เกิด มีอารมณ์ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นต้น เป็นการปฏิเสธความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล อย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะฟัง จะศึกษาในส่วนใดก็ตาม ก็เพื่อเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน จริงๆ ทั้งหมดของพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริงโดยตลอด


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ