[คำที่ ๒oo] วิปตฺติ

 
Sudhipong.U
วันที่  25 มิ.ย. 2558
หมายเลข  32320
อ่าน  454

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  วิปตฺติ

คำว่า วิปตฺติ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า วิ  - ปัด - ติ] มีความหมายว่า ความเสื่อม หรือ แปลทับศัพท์เป็น ความวิบัติ   เป็นคำที่มีความหมายกว้างขวางมาก ตั้งแต่ความเสื่อมธรรมดา เช่น เสื่อมทรัพย์  เสื่อมญาติ  เสื่อมยศ เป็นต้น และความหมายที่ลึกซึ้งแสดงถึงความวิบัติหรือความเสื่อมจริงๆ  คือ เสื่อมทางจิต เพราะจิตเป็นอกุศล ประกอบด้วยโลภะ โทสะ วิบัติเพราะการล่วงศีล และที่น่ากลัวที่สุด ก็คือ ความวิบัติเพราะมีความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของสภาพธรรม ซึ่งขณะนั้นเป็นความเสื่อมจากปัญญา เสื่อมจากคุณความดีทั้งหลาย ข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต อยสูตร แสดงถึงความวิบัติเพราะมีความเห็นผิด ดังนี้คือ  

“ทิฏฐิวิบัติ เป็นอย่างไร? คนบางคนในโลกนี้ เป็นคนมิจฉาทิฎฐิ มีความเห็นวิปริต (ผิดจากคลองธรรม) ว่า (๑) ทานไม่มีผล (๒) การบูชาไม่มีผล (๓) สักการะที่นำมาเพื่อแขก ไม่มีผล (๔) วิบากของกรรมดีและชั่ว ไม่มี (๕) โลกนี้ ไม่มี (๖) โลกหน้า ไม่มี  (๗) มารดาไม่มี (๘) บิดาไม่มี  (๙) สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะ (สัตว์ผุดเกิด) ไม่มี (๑๐) สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินไปโดยชอบ ผู้ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และปรโลกให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม ย่อมไม่มีในโลก (คือ ไม่เชื่อในพระปัญญาคุณของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า)  นี่เรียกว่า ทิฏฐิวิบัติ”

ข้อความจากพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค แสดงถึงบุคคล ๓ จำพวกที่เป็นผู้มีทิฏฐิวิบัติ ดังนี้คือ

“บุคคล ๓ จำพวกเหล่าไหน มีทิฏฐิวิบัติ คือ เดียรถีย์ ๑ สาวกเดียรถีย์ ๑ บุคคลผู้มีทิฏฐิผิด ๑ บุคคล ๓ จำพวกเหล่านั้น มีทิฏฐิวิบัติ.


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทุกคำ เป็นคำจริง เป็นคำเกื้อกูล เป็นคำอนุเคราะห์ให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูก เกื้อกูลผู้ที่มากไปด้วยความไม่รู้ให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูก ค่อยๆ รู้ขึ้น พ้นจากความไม่รู้และกิเลสทั้งหลายที่สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ แม้แต่ในเรื่องของความวิบัติ หรือ ความเสื่อม ก็เป็นสิ่งที่มีจริงที่พระองค์ทรงแสดงไว้ เป็นเครื่องเกื้อกูลที่ดีให้เห็นโทษเห็นภัยของสิ่งที่เป็นความวิบัติหรือความเสื่อมจริงๆ  ตามความเป็นจริง

วิบัติ หมายถึง ความเสื่อม ถ้าเป็นความเสื่อมหรือความวิบัติที่มีโทษ ก็คือ ความวิบัติหรือความเสื่อมของจิต  ซึ่งก็คือจิตที่ประกอบด้วยอกุศลธรรม นั่นเอง ซึ่งทำให้เป็นผู้มีจิตวิบัติ คือ อกุศลจิต ประเภทที่มีความติดข้องต้องการเกิดร่วมด้วย หรือประเภทที่มีความโกรธความขุ่นเคืองใจเกิดร่วมด้วย ที่จะทำให้มีความประพฤติเป็นไปตามอกุศลนั้นๆ และที่เป็นความวิบัติที่มีโทษมากที่สุด ก็คือ ความเห็นผิด คือ มิจฉาทิฏฐิ,  ความเสื่อมทรัพย์ เสื่อมญาติ เสื่อมยศ ไม่เป็นเหตุให้เกิดในอบายภูมิ แต่ถ้ามีความเสื่อมเพราะอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว เป็นเหตุให้เกิดในอบายภูมิได้โดยที่ไม่มีใครทำให้แล้ว

มิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลธรรม เพราะมีความเห็นผิดเกิดขึ้นเป็นไป จึงเรียกบุคคลนั้นว่า เป็นบุคคลผู้มีความเห็นผิด เป็นผู้มีความเห็นที่ไม่ตรง มีความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของสภาพธรรม เมื่อเห็นผิดแล้ว ทุกอย่างก็ผิดไปหมด ความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจา และทางใจ ก็ย่อมผิดไปด้วย กล่าวได้ว่า คิดผิด พูดผิด ทำผิด ประพฤติปฏิบัติผิด คล้อยตามความเห็นที่ผิด ถ้าได้กระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ ก็จะเป็นเหตุให้ตนเองยิ่งตกต่ำมากยิ่งขึ้น คือ ตกไปสู่อบายภูมิ ยากที่ข้ามพ้นได้ทั้งหมด ล้วนสืบเนื่องมาจากความเห็นผิดทั้งนั้นความเห็นผิด เป็นอกุศลธรรม ที่อันตรายและมีโทษมากเป็นอย่างยิ่ง

ขณะที่ความเห็นผิดเกิดขึ้น เสื่อมแล้ว นั่นก็คือ เสื่อมจากปัญญา เสื่อมจากคุณความดีทั้งปวง เช่น เห็นผิดว่าวิบากของกรรมดีและชั่ว ไม่มี ก็ลองคิดดูว่าถ้าเห็นผิดอย่างนี้แล้วจะเป็นอย่างไร? ก็ไม่ทำดีอย่างแน่นอน มีแต่ทำชั่วประการต่างๆ ไม่เห็นว่า ควรที่จะขัดเกลาอกุศลแม้เล็กๆน้อยๆ หรือความคิดผิดแม้เล็กๆน้อยๆ ที่มีต่อแต่ละบุคคลในชีวิตประจำวัน และยิ่งเป็นความเห็นผิดในข้อประพฤติปฏิบัติแล้ว ก็ยิ่งเพิ่มพูนความติดข้อง ความไม่รู้ และความเห็นผิดให้มากยิ่งขึ้น จนยากที่จะแก้ไขได้  ไม่ยอมสละความเห็นผิดดังกล่าว เพื่อมาสู่ความเห็นที่ถูกต้องตามพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง นี้คือ ความเห็นผิด ซึ่งเป็นวิบัติหรือความเสื่อมอย่างยิ่ง 

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงด้วยความละเอียดรอบคอบ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกเท่านั้น ที่จะเป็นไปเพื่อละคลายความเห็นที่ผิด ที่ไม่ตรง ได้ในที่สุด เราไม่สามารถที่จะทราบได้เลยว่าโอกาสที่เราจะเข้าใจธรรมในภพนี้ชาตินี้ จะเหลืออีกเท่าใด  เพราะฉะนั้นแล้ว เวลาที่เหลืออยู่นี้จึงเป็นเวลาที่มีค่าที่สุดในการที่จะให้ตนเองมีความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะเป็นไปเพื่อการดับกิเลสทั้งหลาย มีความไม่รู้ ความติดข้อง และความเห็นผิด เป็นต้น ซึ่งจะทำให้พ้นจากความวิบัติประการต่างๆ ได้ในที่สุด.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ