[คำที่ ๒o๑] ปพฺพชิต
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ปพฺพชิต”
คำว่า ปพฺพชิต เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ปับ - พะ - ชิ - ตะ] แปลว่า บรรพชิต คือ ผู้เว้นทั่ว เว้นจากอกุศลธรรม มีความหมายที่ลึกซึ้งมาก แสดงทั้งความเป็นบรรพชิต โดยสภาวะจริงๆ คือ ผู้ที่สามารถดับกิเลสตามลำดับขั้นจนถึงสูงสุดถึงความเป็นพระอรหันต์ และอีกความหมายถึงแสดงถึงบรรพชิตโดยเพศ คือ ผู้ที่สละอาคารบ้านเรือนถือเพศที่สูงยิ่งกว่าความเป็นคฤหัสถ์ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้นั้นจะได้รับประโยชน์จากการถือเพศเป็นบรรพชิตหรือไม่ ก็ตามการสะสมของผู้นั้นจริงๆ ข้อความที่แสดงถึงความหมายของบรรพชิต มีดังนี้
“ในบทเหล่านั้น บทว่า ปพฺพชิเตน (บรรพชิต) คือ ผู้ตัดวัตถุกามอันเกี่ยวข้องด้วยคฤหัสถ์ออกบวช”
(จาก สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค)
“บุคคลมีบาปอันลอยแล้วแล เราเรียกว่า พราหมณ์, บุคคลที่เราเรียกว่า สมณะ เพราะความประพฤติเรียบร้อย, บุคคลขับไล่มลทิน (คืออกุศลธรรม) ของตนอยู่ เพราะเหตุนั้น เราเรียกว่า บรรพชิต”
(จาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)
บรรพชิต หมายถึง ผู้เว้นทั่ว, เว้นจากอกุศลโดยประการทั้งปวง ผู้ที่จะบวชเป็นบรรพชิตในพระพุทธศาสนาได้นั้น ต้องสละอาคารบ้านเรือน ละกองแห่งโภคสมบัติทั้งหลายทั้งปวง แสดงให้เห็นถึงความพร้อมที่จะขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิตด้วยความจริงใจ สูงสุดเพื่ออบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสทั้งปวงได้หมดสิ้น บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ บรรพชิตในพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั้น ได้แก่ พระภิกษุ เป็นผู้ที่มีศรัทธา มีความจริงใจ ที่จะศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต ซึ่งจะต้องศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจ น้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกต้อง ละเว้นในสิ่งที่ผิดที่ขัดต่อความประพฤติเป็นไปของบรรพชิตอันเป็นเพศที่สูงยิ่ง ดังนั้น สิ่งใดก็ตามที่จะทำให้เกิดอกุศลพอกพูนมากยิ่งขึ้น ไม่ได้เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง สิ่งนั้น บรรพชิต ทำไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น การรับเงินรับทอง มีเงินมีทอง บรรพชิต หรือพระภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ รับเงินและทองไม่ได้ เป็นผู้ปราศจากเงินและทองอย่างสิ้นเชิง เพราะท่านเหล่านั้น ต้องสละทรัพย์สินเงินทองก่อนบวชแล้ว จึงรับเงินและทองไม่ได้ เงินทองไม่ควรแก่เพศบรรพชิตโดยประการทั้งปวง ไม่มีพระพุทธดำรัสแม้แต่คำเดียว ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสให้พระภิกษุรับเงินและทอง หรือไปแสวงหาเงินและทอง ตามข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค มณิจูฬกสูตร ว่า
“ทองและเงินไม่ควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรย่อมไม่ยินดีทองและเงิน สมณศากยบุตรห้ามแก้วและทอง ปราศจากทองและเงิน เรามิได้กล่าวว่า สมณศากยบุตรพึงยินดีพึงแสวงหาทองและเงินโดยปริยายอะไรเลย”
พระภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ไม่มีเงินและทอง มีเพียงบริขารเครื่องใช้อันเหมาะควรแก่บรรพชิตและอาศัยปัจจัย ๔ ในการดำรงชีวิตเพื่อให้ชีวิตเป็นไปได้ในการที่จะศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลส เท่านั้น ได้แก่ อาหารบิณฑบาตที่มาจากศรัทธาของชาวบ้าน จีวรเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคเมื่อเกิดอาพาธ พระภิกษุรูปใด รับเงินและทอง ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตย์ สิกขาบทที่ ๘ แห่งโกสิยวรรค ว่า “อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือ ยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์” ต้องสละเงินนั้นในท่ามกลางสงฆ์ จึงจะแสดงอาบัติ (ปลงอาบัติ) ได้ และทำให้เป็นผู้พ้นจากโทษนั้นได้ แต่ถ้าภิกษุรูปใด มีเงินและทอง รับเงินและทอง ยินดีในเงินและทองแม้ที่เขาเก็บไว้ให้เพื่อตน ไม่เห็นโทษของการล่วงละเมิดพระวินัย ภิกษุนั้น ไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ แต่เป็นผู้ไม่มีความละอาย ไม่มีความเคารพยำเกรงในพระรัตนตรัย เป็นมหาโจรหลอกลวงชาวบ้าน
นี้เป็นเพียง ๑ ตัวอย่างเท่านั้นที่พระภิกษุ หรือ บรรพชิตในพระพุทธศาสนา ทำไม่ได้ เพราะถ้าทำไปแล้วเป็นอาบัติ มีโทษกับผู้นั้น เพราะกิจหน้าที่ที่สำคัญที่บรรพชิตในพระพุทธศาสนาจะกระทำได้ คือ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสของตนเอง และกระทำกิจอันเหมาะควรแก่ความเป็นบรรพชิตเท่านั้น
ยุคปัจจุบันนี้ เมื่อบวชเข้ามาแล้วได้ศึกษาพระธรรมวินัยจนกระทั่งมีความเข้าใจ มากน้อยแค่ไหนว่า สิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนไม่ควรทำ สิ่งไหนที่ทำไปแล้วเป็นการผิดพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว จึงเป็นเรื่องที่น่าพิจารณาอย่างยิ่ง ถ้าบวชแล้วเป็นผู้ไม่ดำรงอยู่ในพระธรรมวินัย กล่าวได้เลยว่าเป็นผู้ทรยศต่อพระรัตนตรัย เพราะได้ปฏิญาณตนว่าจะเป็นพระภิกษุ แต่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ไม่ได้ขัดเกลากิเลสของตนเองอย่างที่ได้ปฏิญาณไว้ ได้แต่เที่ยวย่ำยีพระธรรมวินัย ย่อมเป็นผู้เสื่อมจากคุณความดีที่จะพึงมีพึงได้จากการเข้ามาสู่พระธรรมวินัยนี้ เมื่อกระทำแต่สิ่งที่ไม่เหมาะสมอยู่เรื่อยๆ โทษย่อมเกิดแก่ผู้นั้นโดยส่วนเดียวและมีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้า
เพราะฉะนั้นแล้ว จึงเป็นเครื่องเตือนที่ดีว่า แต่ละคนควรอบรมเจริญปัญญาในเพศใด แม้ไม่ได้สละอาคารบ้านเรือนออกบวชเป็นบรรพชิตก็สามารถอบรมเจริญปัญญา สะสมความดีในเพศคฤหัสถ์ได้ แต่ถ้าสละอาคารบ้านเรือนออกบวชเป็นบรรพชิตแล้วแต่ไม่ได้น้อมประพฤติตามพระธรรมวินัย ล่วงสิกขาบทแม้จะเพียงเล็กน้อย ก็เป็นโทษกับผู้นั้นโดยส่วนเดียว เพราะไม่มีข้อบังคับว่าจะต้องบวชเป็นบรรพชิต และแท้ที่จริงแล้ว การเป็นคฤหัสถ์ที่ดี ยังยาก และสิ่งที่จะเกื้อกูลให้เป็นคฤหัสถ์ที่ดี ก็คือ พระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ที่จะต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่ประมาทในการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ