[คำที่ ๒o๓] สีลพฺพตปรามาส

 
Sudhipong.U
วันที่  16 ก.ค. 2558
หมายเลข  32323
อ่าน  464

ภาษาบาลี ๑ คำ  คติธรรมประจำสัปดาห์ “สีลพฺพตปรามาส

คำว่า สีลพฺพตปรามาส เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า สี -  ลับ - พะ -ตะ -ปะ- รา มา -สะ] มาจากคำว่า สีล (ในที่นี้ คือ ความประพฤติอันเป็นอกุศล เช่น ประพฤติอย่างปกติของสุนัข บริโภคอาหารที่วางไว้บนพื้นดิน เป็นต้น) พต (พรต ข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด ภายนอกพระธรรมวินัยนี้) กับคำว่า ปรามาส (การยึดมั่น การลูบคลำยึดถือ) รวมกันเป็น  สีลพฺพตปรามาส  เขียนเป็นไทยได้ว่า สีลัพพตปรามาส หมายถึง การลูบคลำยึดถือในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด เป็นความเห็นผิดอย่างหนึ่งที่เห็นว่าการประพฤติตามข้อวัตรปฏิบัติอย่างนั้นๆ ว่าจะเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ เช่น อาบน้ำล้างบาป การทรมานตนให้ได้รับความลำบาก เป็นต้น แต่ความจริง ไม่ใช่หนทางแห่งความพ้นทุกข์ แต่เป็นเหตุให้พอกพูนความเห็นผิด ความติดข้องและความไม่รู้ให้มีมากขึ้น ข้อความจาก พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ แสดงความเป็นจริงของสีลัพพตปรามาส ไว้ว่า

“สีลัพพตปรามาส  เป็นไฉน? ความเห็นว่า ความบริสุทธิ์ย่อมมีได้ด้วยศีล ด้วยพรต ด้วยศีลพรตของสมณพราหมณ์ในภายนอกแต่ศาสนานี้   ดังนี้ ทิฏฐิ (คือความเห็นผิด) ความเห็นไปข้างทิฏฐิ ป่าชัฏคือทิฏฐิ กันดารคือทิฏฐิ ความเห็นเป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐิ ความผันแปรแห่งทิฏฐิ   สัญโญชน์(กิเลสที่ผูกมัดสัตว์ไว้ในวัฏฏะ) คือ ทิฏฐิ ความยึดถือ ความยึดมั่น ความตั้งมั่น ความถือผิดทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด  ลัทธิเป็นบ่อเกิดแห่งความพินาศ การถือโดยวิปลาส (คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง) อันมีลักษณะเช่นว่านี้ อันใด นี้เรียกว่า สีลัพพตปรามาส”


สีลัพพตปรามาส เป็นความเห็นผิดที่ยึดถือ ลูบคลำในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด ว่า เป็นหนทางที่ถูกต้อง เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ เป็นหนทางที่พ้นจากกิเลสได้ แต่ความเป็นจริงแล้ว ไม่เป็นอย่างนั้นเพราะไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง ไม่เป็นไปเพื่อการรู้สภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ กล่าวโดยสภาพธรรมแล้ว เป็นทิฏฐิเจตสิก (มิจฉาทิฏฐิ) ทำให้ผูกไว้ในสังสารวัฏฏ์ต่อไป มีตั้งแต่ระดับเล็กน้อย จนถึงมีกำลังมาก มีการเข้าสำนักปฏิบัติ ประพฤติวัตรต่างๆ ที่ผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เป็นต้น และที่ละเอียดยิ่งไปกว่านั้น แม้ขณะที่มีความเห็นว่า จะต้องจดจ้องที่สภาพธรรม มีตัวตนที่จะพยายามทำเพื่อรู้สภาพธรรมในขณะนี้ อย่างนี้ก็เป็นสีลัพพตปรามาส เพราะเหตุว่า ไม่ได้เข้าใจความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม

ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ว่าจะกล่าวถึงอะไร ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงเลยไม่ว่าจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ติดข้อง โกรธ เป็นต้น รวมไปถึงความเห็นผิดที่ลูบคลำยึดถือในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด (ทิฏฐิเจตสิก) ก็เป็นธรรมที่มีจริง เวลาที่ความเห็นผิดเกิดก็เกิดร่วมกับจิตที่เป็นอกุศลประเภทโลภมูลจิตที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย นี่คือความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ซึ่งตราบใดที่ยังไม่ได้ดับความเห็ดผิดได้อย่างเด็ดขาด ก็ยังมีเหตุปัจจัยทำให้ความเห็นผิดประเภทนี้เกิดขึ้นได้ ตามความเป็นจริงแล้วก็เป็นความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศล ซึ่งจะต้องเข้าใจว่า ขณะที่อกุศลเกิดขึ้น กุศลจะเกิดขึ้นไม่ได้ แต่ถ้าเป็นกุศลจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นอกุศลก็เกิดไม่ได้ ความเห็นผิดก็เกิดไม่ได้ในขณะนั้น

จากที่เคยเป็นอกุศลมากๆ ถ้าหากว่าไม่อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเลย ก็ไม่มีทางที่จะมีความเข้าใจถูกเห็นถูกแล้วละคลายความเห็นผิดได้ แต่ถ้าได้ฟังพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็สามารถขัดเกลาละคลายความเห็นผิดและความไม่รู้ได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในสมัยพุทธกาล ก็มีผู้ที่เคยมีความเห็นผิดมาก่อน เคยยึดถือลูบคลำในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิดมาก่อน แต่พอเหตุปัจจัยพร้อมได้ฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เกิดความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นปัญญาของตนเอง ก็สามารถขัดเกลาละคลาย จนกระทั่งสามารถดับความเห็นผิดได้ ถึงความเป็นพระโสดาบัน ไม่กลับไปหาความเห็นผิดปฏิบัติผิดอีก เพราะเหตุว่าละได้แล้ว ตลอดจนถึงสามารถดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ถึงความเป็นพระอรหันต์ได้      

เพราะฉะนั้นแล้ว ถ้าไม่ได้ฟัง ไม่ได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ขาดการพิจารณา ขาดการไตร่ตรอง ในเหตุในผล ไม่มีทางที่จะเข้าใจความจริง ย่อมจะโอนไปคล้อยไปในหนทางที่ผิดได้ ผู้ที่จะดับสีลัพพตปรามาสได้อย่างเด็ดขาด ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน ดังนั้น เมื่อยังไม่รู้ ยังไม่เข้าใจเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาในหนทางที่ถูกต้อง จึงต้องเริ่มฟัง เริ่มศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งเป็นคำจริงที่แสดงให้เข้าใจในสิ่งที่มีจริงโดยตลอด จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น และเมื่อมีความเข้าใจไปตามลำดับ ก็จะทำให้มีความมั่นคงในการอบรมเจริญปัญญา เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก ในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ยิ่งขึ้น ชีวิตประจำวัน จึงขาดการฟังพระธรรม ไม่ได้เลยทีเดียว เพราะจะไม่รู้ไปจนตลอดชีวิต ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง.        


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ