[คำที่ ๒o๕] เวทนา

 
Sudhipong.U
วันที่  30 ก.ค. 2558
หมายเลข  32325
อ่าน  746

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “เวทนา”

คำว่า เวทนา เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า  เว - ดะ - นา] หมายถึง ความรู้สึก เป็นความเสวยอารมณ์ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม อาจจะเข้าใจผิดว่า เวทนา เป็นความน่าสงสาร น่าเห็นใจ ก็เป็นได้ แต่ความจริงแล้ว ไม่ได้เป็นอย่างนั้น  เพราะความรู้สึก ไม่ใช่ความสงสาร ความรู้สึกเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นนามธรรมที่เกิดร่วมกับจิตทุกขณะ ทุกประเภท ตามควรแก่จิตขณะนั้นๆ เช่น ขณะที่ความโกรธเกิดขึ้น เวทนาที่เกิดร่วมด้วยต้องเป็นความรู้สึกที่ไม่สบายใจ ที่เป็นโทมนัสเวทนา ขณะที่เกิดความติดข้อง ก็อาจจะมีความรู้สึกดีใจ ที่เป็นโสมนัส หรือ ความรู้สึกเฉยๆ ที่เป็นอุเบกขาเวทนาเกิดร่วมด้วยก็ได้ เป็นต้น ซึ่งจะต้องอาศัยการฟังพระธรรมเท่านั้นจึงจะเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้

ข้อความจากอัฏฐสาลินี  อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก  ธัมมสังคณีปกรณ์ แสดงความหมายและประเภทของเวทนาไว้ดังนี้

“ธรรม มีสุขเป็นต้นแม้ทั้งหมด ชื่อว่า เวทนา เพราะอรรถว่า ย่อมรู้สึก คือ ย่อมเสวยรสของอารมณ์, บรรดาเวทนาเหล่านั้น สุขเวทนา มีความเสวยอารมณ์ที่น่าปรารถนาเป็นลักษณะ ทุกขเวทนา มีการเสวยอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาเป็นลักษณะ อทุกขมสุขเวทนา (ความรู้สึกไม่สุข ไม่ทุกข์ หรือ อุเบกขาเวทนา) มีการเสวยอารมณ์ผิดแปลกจากเวทนาทั้งสอง”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ได้นอกเหนือจากชีวิตประจำวัน แต่เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ที่เกิดเพราะจริงๆในชีวิตประจำวัน แต่ละขณะๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเป็นธรรม จึงมีการยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์บุคคลหรือสิ่งต่างๆ ด้วยความไม่รู้ความจริง เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลกทรงตรัสรู้ความจริง จึงทรงแสดงความจริงนี้ให้สัตว์โลกได้ฟัง ได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง แม้แต่ในเรื่องของเวทนา ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นความรู้สึก ซึ่งจะต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษาไปว่า เป็นนามธรรมที่จะต้องเกิดกับจิต ตามความเป็นจริงแล้ว จิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นนามธรรม และนามธรรมที่เป็นสภาพรู้ นั้น มี ๒ อย่าง คือ จิต กับ เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบกับจิต) โดยที่จิต เป็นใหญ่เป็นประธานเฉพาะในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เช่นเสียง มีจริงๆ ที่รู้ว่ามีหลายเสียง ก็เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของเสียงในขณะนั้นแต่ละเสียง จึงรู้ว่าเสียงต่างๆ ไม่เหมือนกัน แต่สำหรับความรู้สึกซึ่งเป็นเจตสิกประเภทหนึ่งนั้น ไม่ใช่จิต ความรู้สึกเป็นสภาพธรรม อีกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดพร้อมกับจิต ไม่ว่าจิตจะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด จะต้องมีความรู้สึกประเภทหนึ่งประเภทใด เกิดร่วมด้วย เช่นขณะที่เห็น จะกล่าวว่าในขณะเห็นไม่รู้สึกอะไรเลย ไม่ได้ ความจริงมีสภาพธรรมซึ่งเป็นเวทนาเจตสิก เกิดแล้วรู้สึกในสิ่งที่ปรากฏ ขณะที่เห็น นั้น ก็มีความรู้สึกที่เป็นอุเบกขาเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนา (ไม่สุข ไม่ทุกข์ คือ เฉยๆ)  เกิดร่วมด้วย นี้คือความจริง       

เวทนา หรือ ความรู้สึกนั้น มี ๕ ประเภทโดยละเอียด ได้แก่ ความรู้สึกที่เป็นสุข (สุขเวทนา) ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ (ทุกขเวทนา) เวทนาทั้ง ๒ อย่างนี้ หมายความถึงความรู้สึกทางกาย เช่น เวลาที่เจ็บไข้ได้ป่วย ความรู้สึกที่เป็นทุกข์เกิดขึ้น เป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่ง  แต่ไม่ใช่จิต ความรู้สึกขณะที่เป็นทุกข์ทางกายเกิดขึ้นนั้นเป็นความรู้สึกที่มีจริง ต้องอาศัยกาย จึงเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีกาย ก็จะไม่หิวไม่ปวด ไม่เมื่อย ทุกขเวทนาเกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ความรู้สึกเป็นทุกข์ทางกาย เป็นทุกขเวทนา และความรู้สึกเป็นสุขทางกาย เป็นสุขเวทนา ในขณะที่สัมผัสสิ่งที่น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจ และอีก ๓ เวทนาเป็นความรู้สึกดีใจ คือ โสมนัสเวทนา, ความรู้สึกเสียใจ ไม่สบายใจ เป็นโทมนัสเวทนา และ ความรู้สึกที่เป็นอุเบกขา หรือ อทุกขมสุขเวทนา เป็นความรู้สึกที่ไม่สุขไม่ทุกข์ คือ เฉยๆ       แต่เมื่อกล่าวโดยเวทนา ๓ แล้ว สุขทางกาย(สุขเวทนา) กับ ความรู้สึกดีใจ(โสมนัสเวทนา)  เป็น สุขเวทนา ความรู้สึกทุกข์ทางกาย (ทุกขเวทนา) และ ความรู้สึกที่เป็นความเสียใจไม่สบายใจ(โทมนัสเวทนา) เป็น ทุกขเวทนา และอีกเวทนาหนึ่ง คือ ความรู้สึกที่เป็นอุเบกขาเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนา (ไม่สุข  ไม่ทุกข์ คือ เฉยๆ) จึงรวมเป็นเวทนา ๓ ประการ

จะเห็นได้ว่าวันหนึ่งๆ ที่จิตเกิดขึ้น จะต้องมีเจตสิกชนิดหนึ่งที่เรียกว่าเวทนาเจตสิก เกิดร่วมด้วยทุกครั้ง แต่ไม่ใช่จิต เพราะจิตไม่ได้รู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์หรือเฉยๆแต่อย่างใด แต่เจตสิกชนิดนั้น เป็นสภาพที่รู้สึกในสิ่งที่จิตกำลังรู้ เช่น ในเสียง เสียงบางเสียง ไม่ชอบเลย ขณะที่ไม่ชอบ ความรู้สึกขณะนั้นเป็นโทมนัส ใจที่ไม่ดี เป็นโทมนัสเวทนา หมายความว่าเป็นความรู้สึกที่ไม่สบายใจ ความไม่สบายใจแม้เพียงเล็กน้อย เช่น ความขุ่นใจถ้าเห็นฝุ่นละออง แม้นิดเดียว ตลอดจนถึงมีกำลังมาก ก็เป็นความไม่สบายใจที่มีระดับที่ต่างกัน ความรู้สึกที่ไม่สบายใจ นั้น เป็นสภาพธรรมที่เป็นเจตสิก เป็นโทมนัสเวทนา เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกใดๆ ในวันหนึ่งๆ ก็เกิดขึ้นเพราะจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ใด เวทนาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตนั้นก็มีความรู้สึกในอารมณ์นั้นๆ อาจจะเป็นทุกข์หรือสุขทางกาย โสมนัส หรือโทมนัสทางใจ   ตลอดจนถึงความรู้สึกเฉยๆ  ตามควรแก่จิตขณะนั้นๆ  ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา ไม่มีเราแทรกอยู่ในเวทนาซึ่งเป็นความรู้สึกนั้นเลย

ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ไม่ว่าจะฟังในส่วนใด เรื่องอะไร ก็ไม่พ้นไปจากฟังเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีจริง ที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริง ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ซึ่งจะเป็นไปเพื่อการละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลหรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ในที่สุด สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการคล้อยไปตามความประพฤติเป็นไปของพระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีตที่เห็นประโยชน์ของการได้ฟังคำจริงที่เป็นวาจาสัจจะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง  ซึ่งเป็นหนทางที่จะทำให้ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกค่อยๆเจริญขึ้นไปตามลำดับ.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ