[คำที่ ๒o๖] จิตฺตนิยาม
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “จิตฺตนิยาม”
คำว่า จิตฺตนิยาม เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า จิด - ตะ - นิ - ยา - มะ] มาจากคำว่า จิตฺต (จิต, สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) กับคำว่า นิยาม (ความแน่นอน) รวมกันเป็น จิตฺตนิยาม แปลว่า ความแน่นอนของจิต ความเป็นจริงของจิต ที่ว่าเป็นความแน่นอน นั้น คือ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงไปได้เลย จิตเกิดดับทีละขณะ เป็นลำดับด้วยดี ไม่สับลำดับกัน เช่น จักขุวิญญาณ เกิดแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไป คือ สัมปฏิจฉันนจิต เกิดต่อ เป็นต้น และ จิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้น ย่อมรู้แจ้งอารมณ์ และมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ตามควรแก่จิตขณะนั้น ๆ
ข้อความจากสุมังคลวิลาสินี อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปทานสูตร แสดงความหมายของจิตตนิยาม ไว้ ว่า
“ธรรมคือจิตและเจตสิกดวงก่อนๆ เป็นปัจจัย โดยอุปนิสัยปัจจัยแห่งธรรมคือจิตและเจตสิกดวงหลังๆ เพราะฉะนั้น การเกิดขึ้นแห่งสัมปฏิจฉันนะ เป็นต้น ในลำดับแห่งจักขุวิญญาณ เป็นต้น นี้ เป็นจิตตนิยาม”
ธรรม หมายถึง สิ่งที่มีจริงทั้งหมด เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว ไม่พ้นไปจากจิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก(สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) และ รูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย) แต่ละบุคคลที่เกิดมามีชีวิตดำเนินไปในแต่ละวันนั้น ก็เป็นธรรมทุกขณะ เพราะมีธรรมเหล่านี้ คือ มีจิต มีเจตสิก และ มีรูป จึงสมมติเป็นคนนั้น คนนี้ เป็นสัตว์บุคคลต่างๆ ในสังสารวัฏฏ์อันยาวนาน แต่ละบุคคลก็เกิดมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากความเป็นไปของสภาพธรรม คือ จิต เจตสิกและรูป เพราะผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ยังมีตัณหา ยังมีอวิชชาซึ่งยังดับไม่ได้ ก็ยังต้องมีการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไป ประการที่สำคัญ คือ ไม่ว่าจะเกิดเป็นใคร มีอายุยืนนานเพียงใด ก็ดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น จิตขณะหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น จิตไม่สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันสองดวงหรือสองขณะได้ หรือ ไม่ใช่ว่าจะมีจิตดวงเดียวเกิดขึ้นเป็นสิ่งยั่งยืนตลอดไป เพราะตามความเป็นจริงแล้ว มีจิตเกิดดับสืบต่อกันอยู่ตลอดเวลา อย่างไม่ขาดสาย เป็นลำดับด้วยดีไม่สับลำดับกัน ซึ่งก็เป็นอย่างนี้มานานแล้วในสังสารวัฏฏ์ ทุกขณะของชีวิต ก็คือการเกิดดับสืบต่อกันของจิต นั่นเอง
ทุกคนมีจิต เรียกอีกคำหนึ่งได้ในภาษาไทยว่า “ใจ” บางทีก็ใช้คู่กันไปว่า “จิตใจ” หมายความถึงสิ่งที่มีจริงที่ไม่ใช่รูปร่างกาย เพราะว่าที่ว่าเป็นคน เป็นสัตว์ นั้น ตามความเป็นจริงแล้วไม่ใช่มีแต่เฉพาะร่างกายเท่านั้น แต่ต้องมีจิตใจด้วย ซึ่งเป็นคำที่พูดจนชิน แต่ไม่รู้ความจริงว่า จิต คือ อะไร จนกว่าจะมีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะจิตไม่มีรูปร่าง ไม่ใช่สี ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส จะได้ยินก็ได้ยินแต่เสียง จะไปได้ยินจิตย่อมไม่ได้ จะเห็นก็เห็นแต่สีสันวัณณะต่างๆ ไม่สามารถเห็นจิตได้เลย จิตเป็นสภาพรู้ ต่างกับสิ่งที่ไม่ใช่สภาพรู้อย่างสิ้นเชิง จากการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงแสดงว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ที่ไหนก็ตาม มีสภาพธรรมที่ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ สภาพธรรมที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เป็นรูปธรรม และสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ ได้แก่ จิต (และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) เพราะฉะนั้นจิตเป็นธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งแม้จะไม่มีรูปร่างอะไรเลย แต่ก็เป็นสภาพที่สามารถรู้สิ่งต่างๆได้ และเมื่อจิตเกิดขึ้นก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอตามควรแก่จิตขณะนั้นๆ ในขณะนี้ถ้าเข้าใจจิตก็จะเริ่มรู้ว่า ขณะที่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก นั่นคือลักษณะของจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ ถ้าจะเอารูปออกหมด เอาสีออกไปหมด ไม่เห็นอะไร เอาเสียงออกไป ไม่ได้ยินอะไร ไม่มีกลิ่นปรากฏ ไม่มีรสปรากฏ ไม่มีเย็น ร้อน อ่อน แข็งปรากฏ ก็ยังมีจิตที่คิดนึก ขณะใดที่คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ขณะนั้นก็เป็นจิต เพราะฉะนั้น จิตดี ก็คิดดี จิตไม่ดีก็คิดไม่ดี ถ้าแยกสภาพธรรมออกเป็นลักษณะที่ต่างกันเป็นประเภทใหญ่ๆ ก็จะต้องมี ๒ ประเภท คือ นามธรรม เป็นจิต (รวมถึงเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย) และสภาพที่ไม่รู้อะไรเลย เป็นรูปธรรม คือไม่ใช่สภาพรู้ ชีวิตของแต่ละบุคคลที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มีอยู่เท่านี้จริงๆ คือ นามธรรมกับรูปธรรม ขณะนี้ทุกๆ วันกำลังดำเนินไปใกล้ซึ่งความตายเข้าไปทุกทีๆ ซึ่งไม่สามารถจะทราบได้ว่าจะถึงวันนั้นเมื่อใด เมื่อถึงวันนั้นจริงๆ ก็จักต้องสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ สูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งทรัพย์สมบัติ แก้วแหวนเงินทอง ความผูกพันกับบุคคลต่างๆ เป็นต้น แต่สิ่งที่สะสมอยู่ในจิตทุกๆ ขณะ คือ กุศลและอกุศล ไม่สูญหายไปไหน เป็นสภาพธรรมที่จะติดตามไปในภพต่อๆ ไปได้ แต่ถ้าเป็นขณะที่สำคัญ ขณะที่ประเสริฐ แล้ว ก็ต้องเป็นขณะที่เป็นกุศล เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ความเข้าใจพระธรรมจากการฟังพระธรรม
การเดินทางในสังสารวัฏฏ์ยังอีกยาวไกล เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ก็ควรจะได้ประโยชน์จากการที่ได้เกิดมาอย่างยากแสนยากด้วยการสะสมกุศล สะสมความดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา เพราะในที่สุดแล้ว ทุกคนก็จะต้องละจากโลกนี้ไปอย่างแน่นอน ซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นเมื่อใด อาจจะเป็นวันนี้หรือพรุ่งนี้ก็ได้ จะเป็นผู้ประมาทไม่ได้เลยทีเดียว และที่สำคัญ มีคนเป็นจำนวนมากทีเดียว ที่เกิดมาแล้วตายไปโดยที่ไม่ได้เข้าใจพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง, ความเข้าใจพระธรรมนี้เองที่จะเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส ขัดเกลาความไม่รู้และความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เป็นต้นได้ในที่สุด ดังนั้น ไม่ว่าจะได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมในส่วนใด ประโยชน์จึงอยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นปัญญาของตนเอง.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ