[คำที่ ๒o๗] กมฺมนิยาม
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “กมฺมนิยาม”
คำว่า กมฺมนิยาม เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า กำ -มะ - นิ - ยา - มะ] มาจากคำว่า กมฺม (การกระทำ,กรรม) กับคำว่า นิยาม (ความแน่นอน) รวมกันเป็น กมฺมนิยาม แปลว่า ความแน่นอนของกรรม หรือ ความเป็นจริงของกรรม ความแน่นอนในที่นี้ หมายถึง ความเป็นจริงที่ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะความเป็นจริงของธรรมเป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น กล่าวคือ กรรม ที่เป็นกุศลกรรม ความดีทั้งหลาย เมื่อถึงคราวให้ผล ก็ให้ผลเป็นผลที่น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม กรรมที่เป็นอกุศลกรรม ที่เป็นความชั่วทั้งหลาย นั้น เมื่อถึงคราวให้ผล ก็ให้ผลเป็นผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ เท่านั้น ไม่มีใครทำให้ และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เป็นไปไม่ได้ที่กรรมดี จะให้ผลที่ไม่ดี และเป็นไปไม่ได้ที่กรรมชั่ว จะให้ผลดี
ข้อความจาก สุมังคลวิลาสินี อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาปทานสูตร แสดงความหมายของกรรมนิยาม ไว้ว่า
การที่กุศลให้ผลที่น่าปรารถนา การที่อกุศลให้ผลที่ไม่น่าปรารถนา นี้ชื่อ กรรมนิยาม.
ตัวอย่างความเป็นจริงของกรรมนิยาม จากพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท มีดังนี้ .-
ภิกษุ ๗ รูป ไปจากปัจจันตชนบท เพื่อต้องการจะเฝ้าพระศาสดา เวลาเย็น เข้าไปสู่วัดแห่งหนึ่ง แล้วถามถึงที่พัก. ก็ในถ้ำแห่งหนึ่ง มีเตียงอยู่ ๗ เตียง เมื่อภิกษุเหล่านั้นได้ถ้ำนั้น นอนบนเตียงนั้นแล้ว ตอนกลางคืน แผ่นหินเท่าเรือนยอดกลิ้งลงมาปิดประตูถ้ำไว้ พวกภิกษุเจ้าของถิ่น กล่าวว่า "พวกเราให้ถ้ำนี้ถึงแก่ภิกษุอาคันตุกะ ก็แผ่นหินใหญ่นี้ ได้ตั้งปิดประตูถ้ำเสียแล้ว พวกเราจักนำแผ่นหินนั้นออก" แล้วสั่งให้ประชุมพวกมนุษย์จากบ้าน ๗ ตำบลโดยรอบ แม้พยายามอยู่ ก็ไม่อาจยังแผ่นหินนั้นให้เขยื้อนจากที่ได้ แม้พวกภิกษุผู้เข้าไปอยู่ในภายใน ก็พยายามเหมือนกัน แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ยังไม่อาจให้แผ่นหินนั้นเขยื้อนได้ตลอด ๗ วัน, พวกภิกษุอาคันตุกะ อันความหิวแผดเผาแล้วตลอด ๗ วัน ได้เสวยทุกข์ใหญ่แล้ว. ในวันที่ ๗ แผ่นหินก็ได้กลับกลิ้งออกไปเอง. พวกภิกษุเหล่านั้นออกไปแล้ว คิดว่า "บาปของพวกเรานี้ เว้นพระศาสดาเสียแล้วใครเล่าจักรู้ได้ พวกเราจักทูลถามพระศาสดา" ดังนี้แล้ว ก็พากันหลีกไป. ....
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้พวกเธอก็เสวยกรรมอันตนกระทำแล้วเหมือนกัน ก็ในอดีตกาล เด็กเลี้ยงโค ๗ คนชาวกรุงพาราณสี เที่ยวเลี้ยงโคอยู่คราวละ ๗ วัน ในพื้นที่ใกล้ดงแห่งหนึ่ง วันหนึ่งเที่ยวเลี้ยงโคแล้วกลับมาพบเหี้ยใหญ่ตัวหนึ่ง จึงไล่ตาม เหี้ยหนีเข้าไปสู่จอมปลวกแห่งหนึ่ง ก็ช่องแห่งจอมปลวกนั้นมี ๗ ช่อง พวกเด็กปรึกษากันว่า บัดนี้ พวกเราจักไม่อาจจับได้ พรุ่งนี้จึงจักมาจับดังนี้แล้ว ต่างคนต่างก็ถือเอากิ่งไม้ที่หักได้คนละกำ ๆ แม้ทั้ง ๗ คนพากันปิดช่องทั้ง ๗ ช่องแล้วหลีกไป. ในวันรุ่งขึ้นเด็กเหล่านั้นมิได้คำนึงถึงเหี้ยนั้น ต้อนโคไปในพื้นที่อื่น ครั้นในวันที่ ๗ พาโคกลับมา พบจอมปลวกนั้น กลับได้สติ(นึกขึ้นได้) คิดกันว่า 'เหี้ยนั้นเป็นอย่างไรหนอ' จึงเปิดช่องที่ตน ๆ ปิดไว้แล้ว. เหี้ยหมดอาลัยในชีวิต เหลือแต่กระดูกและหนัง สั่นคลานออกมา. เด็กเหล่านั้นเห็นดังนั้นแล้ว จึงทำความเอ็นดูพูดกันว่า 'พวกเราอย่าฆ่ามันเลย มันอดเหยื่อตลอด๗ วัน' จึงลูบหลังเหี้ยนั้นแล้วปล่อยไป ด้วยกล่าวว่า 'จงไปตามสบายเถิด'เด็กเหล่านั้นไม่ต้องไหม้ในนรกก่อน เพราะไม่ได้ฆ่าเหี้ย แต่ชนทั้ง ๗ นั้น ได้เป็นผู้อดข้าวร่วมกันตลอด ๗ วัน ๆ ใน ๑๔ อัตภาพ (๑๔ ชาติ) ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กรรมนั้น อันพวกเธอเป็นเด็กเลี้ยงโค ๗ คนทำไว้แล้วในกาลนั้น"
ชีวิตของแต่ละบุคคลที่ดำเนินไปนั้น เป็นจิตแต่ละขณะ จิตเกิดดับสืบต่อกัน เป็นปัจจัยแก่กันและกัน ในชาติปัจจุบันนี้จิตขณะแรกเกิดขึ้นดับไปเป็นปัจจัยแก่จิตขณะต่อมาสืบต่อมาเรื่อยๆ และจิตในขณะนี้ดับไปก็เป็นปัจจัยแก่จิตขณะต่อไปสืบต่อไปจนถึงจุติจิต (จิตสุดท้ายในชาตินี้) จุติจิตในชาตินี้ก็เป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธิจิตในชาติต่อไปสืบต่อเนื่องไปอย่างนี้ เรียกว่าสังสารวัฏฏ์ อกุศลกรรม และกุศลกรรมที่เรากระทำในชาติก่อนๆ รวมถึงชาตินี้ด้วย ย่อมสะสมสืบต่อไปในจิต แม้ว่าจะเกิดเป็นบุคคลใหม่ในชาติใหม่แล้วก็ตาม วิบากคือผลของกรรมย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นตามสมควรแก่เหตุ เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น กรรมที่กระทำไว้ไม่ได้หายไปไหน แม้ผู้ทำกรรมจะลืมไปแล้ว แต่กรรมย่อมไม่ลืมที่จะให้ผล เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ใครๆ ก็ยับยั้งไม่ได้ (ดังข้อความจากพระไตรปิฎกที่ได้ยกมา ซึ่งเป็นตัวอย่างของการให้ผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว)
การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ในชีวิตประจำวัน ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นแห่งปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง แม้ในเรื่องกรรมและผลของกรรมก็เช่นเดียวกัน ไม่พ้นไปจากธรรมเลย ไม่พ้นจากชีวิตประจำวันด้วย ผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ย่อมจะเป็นผู้มีความเข้าใจว่าผลที่เกิดขึ้นกับบุคคลแต่ละคน หรือแม้กระทั่งเกิดกับตัวเอง ไม่ว่าดีหรือร้าย น่าปรารถนาหรือไม่น่าปรารถนาก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นเพราะกรรมที่เคยได้กระทำมาแล้วทั้งสิ้น ไม่มีใครทำให้เลย ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถ้าไม่มีเหตุคือกรรมที่ได้กระทำมาแล้ว ผลที่จะเกิดย่อมมีไม่ได้ แต่เพราะมีเหตุคือกรรมที่ได้กระทำแล้ว เมื่อได้โอกาสที่กรรมจะให้ผล ผลจึงเกิดขึ้น
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเครื่องเตือนที่ดีสำหรับทุกชีวิตอย่างแท้จริง จึงควรอย่างยิ่งที่จะได้พิจารณาว่า เกิดมาแล้ว ต้องละจากโลกนี้ไปด้วยกันทั้งนั้น ควรที่จะเห็นโทษของอกุศลที่เป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมแล้วจะเป็นเหตุให้ได้รับผลที่ไม่ดีข้างหน้า โดยไม่เพียงแค่กลัวผลของอกุศลกรรมเท่านั้น ต้องกลัวที่เหตุคืออกุศลกรรม ด้วย ดังนั้น เมื่อจะสะสมกรรมที่จะทำให้เกิดผลในภายหน้า ก็พึงกระทำเฉพาะกรรมอันงาม คือ กุศลกรรม เท่านั้น ส่วน สิ่งที่ไม่ดีคืออกุศลทั้งหลายซึ่งไม่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและแก่บุคคลอื่น ไม่ควรที่จะสะสมให้มีมากขึ้น เพราะเหตุว่า อกุศลกรรม เป็นที่พึ่งไม่ได้ แต่สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งได้ ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้านั้น ก็คือ กุศล ความดีทั้งหลาย เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือปัญญาซึ่งเป็นความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง นั่นเอง ความดีทั้งหลายจะเจริญขึ้น บั่นทอนกำลังของอกุศลลง ก็ต้องมาจากความเข้าใจพระธรรม ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรมไม่ได้เลยทีเดียว.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ