[คำที่ ๒o๙] จินฺต

 
Sudhipong.U
วันที่  27 ส.ค. 2558
หมายเลข  32329
อ่าน  658

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “จินฺต

คำว่า จินฺต เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า จิน - ตะ] แปลว่า คิด เป็นคำที่ส่องให้เข้าใจถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ เพราะทุกคนมี คิด แต่ไม่รู้ว่า คิด เป็นธรรม ขึ้นอยู่กับว่า จะคิดดี หรือ คิดไม่ดี  ถ้าคิดดี เช่น คิดช่วยเหลือผู้อื่น คิดที่จะเจริญกุศลประการต่างๆ คิดที่จะเว้นจากอกุศล เป็นต้น ก็เป็นกุศลธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ แต่ถ้าคิดไม่ดี เช่น คิดประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น คิดที่จะชวนผู้อื่นให้ร่วมกันทำในสิ่งที่ไม่ดี เป็นต้น ก็เป็นอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ แสดงถึงความต่างระหว่างผู้คิดไม่ดี กับ คิดดี ไว้ดังนี้ คือ

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อสัตบุรุษเป็นผู้มีความคิดอย่างอสัตบุรุษ เป็นอย่างไร คือ อสัตบุรุษ ในโลกนี้ ย่อมคิดเบียดเบียนตนเองบ้าง คิดเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง คิดเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่ายบ้าง ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล อสัตบุรุษ ชื่อว่า เป็นผู้มีความคิดอย่างอสัตบุรุษ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเป็นผู้มีความคิดอย่างสัตบุรุษ เป็นอย่างไร คือ สัตบุรุษในโลกนี้ ย่อมไม่คิดเบียดเบียนตนเอง ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น ไม่คิดเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล สัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้มีความคิดอย่างสัตบุรุษ”


ทุกชีวิต เป็นการเกิดขึ้นของสภาพธรรม คือ จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) และรูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร) ซึ่งไม่มีใครจะสามารถยับยั้งได้เลย ในชีวิตประจำวันก็จะเห็นได้ว่ากิเลสหรือ อกุศลธรรม เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของอกุศลธรรมนั้นๆ อยู่ตลอดเวลาที่กุศลจิตไม่เกิดขึ้น นี้คือความจริง คงไม่ต้องกล่าวถึงอดีตชาติที่ผ่านๆ มาว่าจะมากสักแค่ไหน แม้แต่วันนี้วันเดียว กุศลจิตก็เกิดมากเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิตประเภทที่มีโลภะ ความติดข้องต้องการเกิดร่วมด้วย กุศลจิตประเภทที่มีโทสะ ความขุ่นใจ ความโกรธ ความไม่พอใจ เกิดร่วมด้วย เป็นต้น ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ตามการสะสมมาของแต่ละบุคคล แสดงให้เห็นเลยว่า ปุถุชนมักจะตกไปจากกุศลจริงๆ ขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด ขณะนั้นกิเลสระดับขั้นต่าง ๆ เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ สะสมสิ่งที่ไม่ดีไว้ในจิตแล้ว แม้คิด ก็คิดไม่ดี เพราะเป็นอกุศล ขณะที่อกุศลเกิด จะคิดดีไม่ได้เลย ขณะที่จิตเป็นกุศลเท่านั้น ซึ่งคั่นกิเลสในชีวิตประจำวันชั่วครั้งชั่วขณะ กล่าวคือ ขณะที่เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในความสงบของจิต และเป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งเกิดน้อยมากในชีวิตประจำวัน

ตามความเป็นจริงแล้ว บุคคลที่ได้สะสมความคิดดี ความเห็นถูก ความเข้าใจสภาพธรรมอย่างถูกต้อง บุคคลนั้นจะคิดไม่ดี ไม่เป็น คิดใส่ร้ายคนอื่นไม่เป็น คิดประทุษร้ายเบียดเบียนคนอื่น ไม่เป็น คิดเหน็บแนมเยาะเย้ยคนอื่นไม่เป็น แต่จะคิดในทางที่ดีที่ถูกที่ควร คิดที่จะมีเมตตา เห็นใจคนอื่นซึ่งเป็นผู้ที่มีกิเลสด้วยกัน คิดเกื้อกูลกันและกัน และเห็นใครทำดี ก็ชื่นชมสรรเสริญ เป็นต้น แต่ถ้าไม่ได้สะสมเหตุที่ดีมา ไม่เห็นประโยชน์ของกุศลธรรม ก็จะคิดในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ คิดในทางที่เป็นอกุศล ซึ่งขณะนั้นก็เบียดเบียนทำร้ายตนเองด้วยอกุศลธรรม นั่นเอง ไม่ใช่คนอื่นที่ทำร้าย แต่เป็นอกุศลธรรมที่เกิดกับตนเองเท่านั้นที่ทำร้ายตนเอง

เป็นที่น่าพิจารณาว่า ทุกคนย่อมคิด ไม่มีใครที่ไม่คิด แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม จนกว่าจะได้มีโอกาสได้ฟังคำจริงซึ่งเป็นวาจาสัจจะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ในฐานะที่ยังเป็นผู้มีกิเลส ขณะที่คิด ย่อมเป็นกุศลบ้าง เป็นกุศล บ้าง ขึ้นอยู่กับการสะสมมาของแต่ละบุคคลจริงๆ ว่าจะเป็นจิตประเภทไหน เพราะเหตุว่าเวลาที่จิตเกิดนั้น ไม่ได้เกิดเพียงจิตเท่านั้น ยังมีเจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) เกิดร่วมด้วย ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เป็นจิตที่ดี ก็มี ปรุงแต่งให้เป็นจิตที่ไม่ดี ก็มี

ดังนั้น การมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน ย่อมเป็นสิ่งที่ดี และมีค่าต่อชีวิตเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อความรู้ความเข้าใจค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กุศลธรรมประการต่างๆ เจริญขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน  คิด ก็คิดดี เมื่อคิดดีแล้ว การกระทำทางกาย และทางวาจา ก็ย่อมจะดีด้วยเหมือนกัน คล้อยตามความคิดที่ดี เพราะฉะนั้น ความเข้าใจพระธรรม จึงเกื้อกูลให้กุศลธรรมทั้งหลายเจริญขึ้นในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง และต้องไม่ลืมความเป็นจริงที่ว่า เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ไม่มีเราแทรกอยู่ในสภาพธรรมเหล่านั้นเลย


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ