[คำที่ ๒๑๘] อกรณีย
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อกรณีย”
คำว่า อกรณีย เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า อะ - กะ - ระ - นี - ยะ] มาจากคำว่า อ (ไม่) กับคำว่า กรณีย (ควรทำ) รวมกันเป็น อกรณีย แปลว่า ไม่ควรทำ แสดงถึงความจริงว่า อะไรที่เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ก็ต้องเป็น อกุศลกรรม เท่านั้นที่ไม่ควรทำ เพราะเหตุว่า เป็นกรรมชั่ว เป็นเหตุที่ไม่ดี เมื่อทำเหตุที่ไม่ดีแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ผลที่ดีเกิดขึ้น เมื่อเป็นเหตุที่ไม่ดีแล้ว ก็ต้องให้ผลเป็นผลที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจเท่านั้น เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้าตามข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ดังนี้คือ
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสพระคาถานี้ว่า “ถ้าบุรุษพึงทำบาป ไซร้, ก็ไม่ควรทำบาปนั้นบ่อยๆ, ไม่ควรทำความพอใจในบาปนั้น, เพราะว่า ความสั่งสมบาป เป็นเหตุให้เกิดทุกข์” เนื้อความ แห่งพระคาถานั้น มีว่า ถ้าบุคคลพึงทำกรรมอันลามกคราวเดียว ควรพิจารณาในขณะนั้นแหละ สำเหนียก (ศึกษา) ว่า "กรรมนี้ไม่สมควร เป็นกรรมหยาบ" ดังนี้แล้ว ก็ไม่ควรทำบาปกรรมนั้นบ่อยๆ, พึงบรรเทาเสีย ไม่ควรทำแม้ซึ่งความพอใจหรือความชอบใจในบาปกรรมนั้นซึ่งจะพึงเกิดขึ้นเลย.
ถามว่า “เพราะเหตุไร ?”
แก้ว่า “เพราะว่า ความสั่งสม คือ ความพอกพูนซึ่งบาป เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ คือ ย่อมนำแต่ทุกข์มาให้ ทั้งในโลกนี้ ทั้งในโลกหน้า”.
ชีวิตในวันหนึ่งๆ ส่วนหนึ่งเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ทำให้มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสต่างๆ โดยที่ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า เป็นผลของกรรมใด จะให้ผลในขณะใด เพราะเหตุว่าอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้แล้ว และกุศลกรรมที่ทำไว้แล้ว เป็นปัจจัยให้มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย และอกุศลกรรมที่ได้ทำไว้แล้ว เวลาที่มีเหตุมีปัจจัยถึงกาลที่ควรจะให้ผลเกิดขึ้น ผลนั้นก็เกิดขึ้น โดยที่ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งได้ ตลอดจนกระทั่งถึงกาลที่จะปรินิพพานของพระอรหันต์ เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าบุคคลที่ได้สะสมบุญกุศลจนสามารถที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านก็ยังไม่สามารถจะพ้นจากผลของอดีตอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว และชีวิตอีกส่วนหนึ่ง คือ การสะสมเหตุ ที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ตามการสะสมของแต่ละบุคคล
เพราะฉะนั้น ถ้าคิดถึงชีวิตของแต่ละคน ซึ่งอาจจะมีความทุกข์ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ก็ให้ทราบว่า ต้องมีเหตุที่ได้กระทำแล้ว และตราบใดที่มีชีวิตอยู่ในสังสารวัฏฏ์ อกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็จะทำให้อกุศลวิบากจิตเกิด เห็นสิ่งที่ไม่ดีทางตา ได้ยินเสียงที่ไม่ดีทางหู ได้กลิ่นที่ไม่ดีทางจมูก ลิ้มรสที่ไม่ดีทางลิ้น กระทบสัมผัสสิ่งที่ไม่สบายทางกาย โดยที่ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งได้
ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ก็เก็บสะสมอยู่ที่จิตทุกๆ ขณะ ใครจะลักเอาไปไม่ได้เลย ลมไม่กระทบสัมผัส แดดก็ไม่แผดเผา ไม่มีที่ไหนที่จะปลอดภัยที่จะเก็บสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้เท่ากับที่เก็บของกรรม น่ากลัวอย่างมากถ้าเป็นอกุศลกรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปด้วยอำนาจของกิเลส อกุศลกรรมทั้งหมดที่ได้กระทำแล้ว ไม่มีทางที่จะหายสูญไปได้ และกุศลกรรมก็เช่นเดียวกัน เก็บไว้อย่างปลอดภัยที่สุดในจิตทุกๆ ขณะ แต่ละขณะๆ โดยไม่ปะปนกันอย่างเด็ดขาด เป็นคนละส่วนกัน
ดังนั้น ไม่ว่าจะทำกรรมอะไรมา กุศลกรรม หรือ อกุศลกรรม ก็จะสะสมอยู่ในจิต เมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อมก็จะส่งผลทันที ไม่ว่าจะหนีไปซ่อนที่ใดก็ตาม ในถ้ำ ใต้น้ำ หรือ บนอากาศก็หนีไม่พ้นการได้รับผลของกรรมที่ได้กระทำมาแล้วได้, กรรม จึงยุติธรรมที่สุดในการให้ผล ซึ่งใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ผู้ที่ประพฤติทุจริต กระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ ย่อมได้รับผลที่ไม่ดี ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่ประพฤติสุจริต กระทำกุศลกรรม สะสมความดีประการต่างๆ เมื่อความดีให้ผล ย่อมทำให้ได้รับสิ่งที่ดี น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ และที่สำคัญ กุศลธรรม ไม่ทำให้เดือดร้อนในภายหลังเลยแม้แต่น้อย ซึ่งจะตรงกันข้ามกับอกุศลอย่างสิ้นเชิง ทำอกุศลกรรมไปแล้ว ไม่มีใครที่มีความสุขเลย เป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ความไม่สบายใจอีกมากมาย ทีเดียว และถึงคราวที่อกุศลกรรมให้ผล ก็ให้ผลเป็นผลที่ไม่ดีเท่านั้นเพราะฉะนั้นแล้ว ควรที่จะได้พิจารณาว่า ไม่ควรทำอกุศลกรรมใดๆเลยทั้งสิ้น เพราะขณะใดก็ตามที่ทำอกุศลกรรม ขณะนั้น กำลังทำทางให้ตนเองไปสู่ที่ต่ำ คือ อบายภูมิ แต่สิ่งที่ควรทำ ควรสะสม นั้น ต้องเป็นความดีทุกประการเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นปกติในชีวิตประจำวัน.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ