[คำที่ ๒๑๙] โสก

 
Sudhipong.U
วันที่  5 พ.ย. 2558
หมายเลข  32339
อ่าน  503

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  “โสก”

คำว่า โสก เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า โส - กะ] หมายถึง ความโศกเศร้า (หรือเรียกสั้นๆ ว่า ความโศก) ความเสียใจ  มีความเป็นไปหลากหลายมาก เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ โทมนัสเวทนา (ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ใจ)  ข้อความจาก พระอธิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ และ อรรถกถา ได้อธิบายถึงความเป็นจริงของความโศกเศร้า ไว้ดังนี้ 

โสกะ เป็นไฉน

ความโศกเศร้า กิริยาโศกเศร้า สภาพโศกเศร้า ความแห้งผากภายใน ความแห้งกรอบภายใน ความเกรียมใจ ความโทมนัส ลูกศรคือความโศกของผู้ที่ถูกกระทบด้วยความเสื่อมญาติ ความเสื่อมโภคทรัพย์ ความเสื่อมเกี่ยวด้วยโรค ความเสื่อมศีล หรือความเสื่อมทิฏฐิ ของผู้ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง ของผู้ที่ถูกกระทบด้วยเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง นี้เรียกว่า โสกะ.

ก็ ความโศก นี้ ว่าโดยใจความ ก็ได้แก่ โทมนัสเวทนาอย่างเดียวเท่านั้น แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น ความโศกนั้น มีการเผาไหม้ภายในเป็นลักษณะ มีการเผารนใจเป็นกิจ (หน้าที่) มีความเศร้าโศกเนืองๆ เป็นอาการปรากฏ.


ทุกคนเกิดมาแล้วที่จะไม่มีความทุกข์ ที่จะไม่มีความโศกเศร้าเสียใจ นั้น เป็นไปไม่ได้เลย เพียงแต่ว่าความทุกข์จะเกิดขึ้นกับใครในวันไหน ในลักษณะอย่างไร มากหรือน้อย และเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับทุกคนซึ่งมีความติดข้องผูกพันกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด เมื่อมีเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องพลัดพรากจากสิ่งที่ผูกพันยึดมั่นก็จะต้องโศกเศร้าเสียใจเป็นธรรมดาในเมื่อยังมีเหตุที่จะให้โศกเศร้าอยู่ ขณะใดที่ปัญญาไม่เกิด ขณะนั้นความโศกเศร้าก็ย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยนั้นๆ แต่ถ้าปัญญาพร้อมสติเกิดขึ้นในขณะใด ชั่วขณะที่ปัญญาและสติเกิด ขณะนั้นย่อมรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะที่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ย่อมไม่โศกเศร้า เนื่องจากขณะนั้นปัญญาเกิดพร้อมกับสภาพธรรมฝ่ายดีอื่นๆ เป็นกุศลธรรม ต่างกับขณะที่โศกเศร้าซึ่งเป็นอกุศลธรรมอย่างสิ้นเชิง กุศลธรรมกับอกุศลธรรม เกิดพร้อมกันไม่ได้

การรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า แม้ความรู้สึกโศกเศร้า เสียใจ  โทมนัส นั้นก็เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ  เพราะเหตุว่าในขณะนั้น ก็เห็น ขณะเห็นไม่ใช่ขณะที่โศกเศร้า ขณะที่ได้ยิน ก็ไม่ใช่ขณะที่โศกเศร้า เพราะฉะนั้น เมื่อศึกษาพระธรรมฟังพระธรรมสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพธรรมแต่ละขณะ แต่ละประเภท ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน แต่เพราะปัญญายังน้อย ก็ยังไม่สามารถรู้ตามความเป็นจริงตรงตามลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และ ทำให้มีความรู้สึกเหมือนกับว่า ความโศกเศร้านั้นไม่ได้ดับไปเลย แต่ความจริงความโศกเศร้าซึ่งเป็นโทมนัสเวทนา นั้น เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะแล้วก็ดับไป แล้วก็มีสภาพธรรมอื่นเกิดปรากฏ แสดงถึงความเกิดดับสืบต่อเป็นไปอย่างรวดเร็วของสภาพธรรม

สำคัญที่ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกอย่างแท้จริง ถ้าปัญญาไม่เกิด ไม่มีปัญญา ก็ไม่มีอะไรที่จะผ่อนคลายความทุกข์ความโศกเศร้านั้นๆได้ เพราะปัญญาเป็นสภาพธรรมฝ่ายดีที่อุปการะเกื้อกูลที่จะทำให้พิจารณาเห็นโทษของโลภะว่า ถ้ามีโลภะ ความติดข้องต้องการมากๆ ความทุกข์ที่จะตามมาก็ต้องมาก เพราะฉะนั้นทางเดียวที่ความทุกข์จะลดน้อยลง ก็คือมีความติดข้องมีความผูกพันลดน้อยลงด้วย และความทุกข์ที่กล่าวถึงนั้นก็เป็นทุกข์ทางใจ ซึ่งเป็นความโศกเศร้า เป็นโทมนัสเวทนา เป็นทุกข์ประเภทหนึ่ง ซึ่งปัญญาสามารถระงับได้ เพราะเหตุว่าเมื่อดับเหตุที่จะทำให้มีความโศกเศร้าเกิดขึ้นได้แล้ว  ความโศกเศร้าก็เกิดขึ้นไม่ได้ แต่ก็ยังมีทุกข์อย่างอื่นอีกมาก กล่าวคือ ถ้าเป็นทุกข์กายซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนสภาพของทุกข์กายนั้นให้เป็นสุขทางกายได้ ธรรมเป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น และสำหรับทุกข์กายในภูมิมนุษย์ที่ว่ามากสำหรับบุคคลผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วยหรือเป็นโรคภัยอย่างร้ายแรง แต่ถ้าจะเปรียบเทียบทุกข์กายนั้นกับความเดือดร้อนในนรกหรือในการเกิดเป็นเปรตแล้ว ก็ย่อมจะเทียบกันไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าทุกข์ในอบายภูมินั้นมีมากกว่าทุกข์กายในสุคติภูมิอย่างเทียบกันไม่ได้ แต่เมื่อว่าโดยความเป็นจริงของสภาพธรรมแล้ว  ความโศกเศร้าที่เป็นทุกข์ใจ  ก็เป็นธรรม  เป็นโทมนัสที่เกิดร่วมกับโทสมูลจิต ทุกข์ทางกาย ก็เป็นธรรม คือ เป็นทุกขเวทนาที่เกิดพร้อมกับกายวิญญาณในขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกายอันเป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้ทำไว้แล้ว

ทั้งหมดเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย สภาพธรรมแม้จะมีจริงอยู่ทุกขณะ แต่ถ้าไม่ได้ฟังไม่ได้ศึกษาพระธรรม ไม่มีทางที่จะเข้าใจถูกตามความเป็นจริงได้เลย ยังคงมีความไม่รู้อีกต่อไปในสังสารวัฏฏ์, สภาพธรรมที่มีจริงนั้น ย่อมสามารถเป็นที่ตั้งให้สติและปัญญาเกิดขึ้นระลึกรู้ตามความเป็นจริงได้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เป็นไปเพื่อละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เพราะฉะนั้น สำคัญอยู่ที่เหตุ  คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่ประมาทในแต่ละคำที่เป็นวาจาสัจจะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ว่าจะเป็นคำใดก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูลให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริงทั้งหมด.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ประสาน
วันที่ 10 ม.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ