[คำที่ ๒๒o] ตณฺหาทาส

 
Sudhipong.U
วันที่  12 พ.ย. 2558
หมายเลข  32340
อ่าน  387

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  “ตณฺหาทาส”

คำว่า ตณฺหาทาส เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ตัน - หา - ทา - สะ] มากจากคำว่า ตณฺหา (ความอยาก, ความต้องการ, ความติดข้อง) กับ คำว่า ทาส (คอยรับใช้,เป็นทาส) รวมกันเป็น ตณฺหาทาส แปลว่า คอยรับใช้ตัณหา หรือ เป็นทาสของตัณหา  แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นอกุศล คือ ตัณหาหรือโลภะ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ทำกิจติดข้องต้องการ มีการแสวงหาในสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความติดข้อง มี รูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น ดังนั้น ตัณหาหรือโลภะเกิดครอบงำจิตของผู้ใด  ผู้นั้นก็เป็นทาสของตัณหา คือ เป็นไปในอำนาจของตัณหา ยากที่จะพ้นไปได้ ตามข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ว่า

“บทว่า ตณฺหาทาโส คือ เป็นทาสแห่งตัณหา เพราะเป็นไปในอำนาจของตัณหา”.


ปกติในชีวิตประจำวันของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น อกุศลย่อมเกิดมากกว่ากุศล จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ว่ามีอกุศลเกิดมากกว่า อาจจะสำคัญผิดด้วยซ้ำไปว่ามีกุศลมาก, อกุศล เกิดขึ้น ตามการสะสมของจิตในอดีตที่ได้สะสมกิเลสมาอย่างมากมายนับชาติไม่ถ้วน โดยเฉพาะตัณหา หรือ โลภะ ซึ่งเมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้วได้แก่ โลภเจตสิก เป็นความติดข้องยินพอใจในสิ่งต่างๆ ติดข้องยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ซึ่งเป็นวัตถุกามในชีวิตประจำวัน รวมถึงความติดข้องยินดีพอใจในนามธรรมและรูปธรรมที่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนด้วย โลภะย่อมสะสมมากขึ้นทุกครั้งที่โลภมูลจิต (จิตที่มีโลภะเป็นมูล) เกิดขึ้น เมื่อมีเหตุมีปัจจัยโลภะก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ และถ้าสะสมมากขึ้น มีกำลังมากขึ้น ย่อมจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน ได้ ในขณะที่กระทำอกุศลกรรม นั้น ตนเองย่อมเดือดร้อนก่อนคนอื่น เพราะขณะนั้นได้สะสมอกุศล สะสมกิเลสอันเป็นเครื่องแผดเผาจิตใจให้เร่าร้อน สร้างเหตุที่ไม่ดี และเมื่ออกุศลกรรมที่ได้กระทำไปแล้วถึงคราวให้ผล ก็ทำให้ตนเองประสบกับความทุกข์ ความเดือดร้อน ได้รับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ อันเป็นผลของอกุศลกรรมที่ตนได้กระทำแล้วนั่นเอง ไม่มีใครทำให้เลย กล่าวได้ว่าเดือดร้อนทั้งในขณะที่กระทำและในขณะที่ให้ผล เนื่องจากว่า อกุศลกรรม ให้ผลเป็นทุกข์เท่านั้น จะให้ผลเป็นสุขไม่ได้เลย

และเป็นที่น่าพิจารณาว่า ถ้ามีโลภะ ถูกโลภะครอบงำแล้ว จะให้ทำอะไรๆ ก็ทำ ซึ่งเป็นอกุศลของตนเอง โลภะที่มีอยู่ในใจ เป็นเหมือนกับผู้คอยสั่งให้ทำสิ่งนั้น สิ่งนี้ ครอบงำให้แสวงหา ให้ทำสิ่งต่างๆ ผู้นั้นก็เป็นไปตามอำนาจองตัณหาหรือโลภะโดยตลอด สำหรับบุคคลผู้มีโลภะมากๆ ติดข้องมากๆ ย่อมไม่รู้จักคำว่าพอ ถึงแม้ภูเขาจะเป็นทองคำ ก็ยังไม่พอแก่กำลังของโลภะของผู้นั้น ไม่มีวันเต็มเลยสำหรับตัณหาหรือโลภะ ย่อมต้องการอยู่ตลอด ส่วนบุคคลผู้ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ถึงแม้ว่าตนเองจะยังมีโลภะอยู่ก็ตาม เมื่อฟังบ่อยๆ เนืองๆ ย่อมจะมีความรู้ความเข้าใจถึงโทษภัยของโลภะ สามารถค่อยๆ อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ สามารถรู้ลักษณะของโลภะว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน และปัญญานี้เองเป็นธรรมที่จะดับโลภะได้อย่างเด็ดขาด เพราะที่ใดมีปัญญา ที่นั่นจะไม่มีโลภะ หรือขณะที่เข้าใจถูกเห็นถูก โลภะจะอยู่ตรงนั้นไม่ได้

การที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้นั้น ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม พิจารณาไตร่ตรองพระธรรม ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ อดทนที่จะฟัง ที่จะศึกษาต่อไปด้วยความไม่ท้อถอย ถ้าในชีวิตประจำวันไม่สะสมกุศลประการต่างๆ ไม่มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เลย ก็จะเป็นโอกาสทำให้อกุศลธรรมเพิ่มมากยิ่งขึ้น จนยากที่จะขัดเกลาให้เบาบางลงได้ และที่สำคัญ จุดประสงค์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อละคลายความไม่รู้ เมื่อปัญญาเจริญขึ้น คมกล้าขึ้น ก็สามารถดับกิเลสทั้งหลายได้ตามลำดับขั้น หนทางนี้เป็นหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา เป็นไปเพื่อละกิเลสทั้งหลายอย่างแท้จริง และเป็นหนทางที่จะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการค่อยๆสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้เลยทีเดียว.

 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ