[คำที่ ๒๒๑] มุฏฺฐสฺสติ

 
Sudhipong.U
วันที่  19 พ.ย. 2558
หมายเลข  32341
อ่าน  767

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “มุฏฺฐสฺสติ”

คำว่า มุฏฺฐสฺสติ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า มุด - ถัด - สะ - ติ]  มาจากคำว่า มุฏฺฐ (หลงลืม) กับคำว่า สติ (ความระลึกเป็นไปในกุศล) และ ซ้อน สฺ จึงรวมกันเป็น มุฏฺฐสฺสติ แปลว่า หลงลืมสติ มุ่งหมายถึงขณะที่เป็นอกุศล เพราะขณะที่อกุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไปนั้น ไม่มีสติเกิดร่วมด้วย ปราศจากสติ จึงเรียกว่าหลงลืมสติ กล่าวคือ สติไม่ได้เกิดขึ้นระลึกเป็นไปในกุศลธรรมประการต่างๆ นั่นเอง ตามข้อความจาก สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ว่า บทว่า มุฏฺฐสฺสติ คือ ผู้มีสติหายไป

และใน อัฏฐสาลินี อรรกถาพระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณีปกรณ์ มีข้อความว่า
ความเป็นผู้หลงลืมสติ คือ การอยู่ปราศจากสติ ชื่อว่า ความเป็นบุคคลผู้หลงลืมสติ. 


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงให้เข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะตรัสคำใด ล้วนเป็นคำจริง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ในความเป็นธรรม ไม่ใช่เรา แม้แต่คำว่า สติ ก็กล่าวถึงสิ่งที่มีจริง ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่มีทางจะเข้าใจถูกได้เลยว่า สติ ตามความเป็นจริงแล้วเป็นอย่างไร, สติ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภท เป็นสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศลธรรม สติจะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิตเลย กุศลกับอกุศล เป็นธรรมคนละประเภทกัน ไม่เกิดร่วมกันอย่างเด็ดขาด ที่มีการทำความดีประการต่างๆ มีการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา มีการให้ทานสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น มีการงดเว้นจากการกระทำที่จะเป็นโทษแก่ผู้อื่น มีการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ทั้งทางกาย ทางวาจา เป็นต้น ก็เพราะสติเกิดขึ้นระลึกเป็นไปในกุศลประการนั้นๆ แต่ถ้าเป็นอกุศลแล้ว ขณะนั้นสติไม่เกิด ปราศจากสติ กล่าวตามความเป็นไปของสภาพธรรม ว่า หลงลืมสติ เนื่องจากว่าสติไม่เกิดขึ้นเป็นไปในกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน    

อกุศลทุกประเภทน่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ มิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) เป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของสภาพธรรม เห็นผิดจากพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นความจริงที่ว่า ตราบใดที่ยังมีความเห็นผิดอยู่ อกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อย ย่อมเกิดขึ้นเพราะความเห็นผิดเป็นปัจจัย กาย วาจา ใจ เป็นไปตามความเห็นผิด เมื่อมีความเห็นผิดแล้ว การชักชวนหรือคำพูดที่ผิดก็ย่อมเกิดขึ้น ทำให้บุคคลอื่นประพฤติปฏิบัติตามในสิ่งที่ผิดไปด้วย แต่ถ้าเป็นสภาพธรรมที่เป็นความเห็นถูกตรงตามความเป็นจริง คือ ปัญญา แล้วจะไม่เป็นอย่างนั้นเลย เพราะปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกนั้น เป็นธรรมที่ดีงาม เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ กุศลธรรมมิใช่น้อยย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นปัจจัย เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันอย่างยิ่ง ถ้าแต่ละคนมีความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็จะเป็นผู้ที่เห็นว่าตนเองมีกิเลสมากเหลือเกิน เพราะเหตุว่า วันหนึ่งๆ หลงลืมสติมาก อกุศลจิตเกิดมาก เพราะมีกิเลสมาก จึงหลงลืมสติมาก เนื่องจากอกุศลจิตเกิดมาก เพราะฉะนั้น ทุกคนก็สามารถพิสูจน์ธรรมได้ เห็นธรรมที่เกิดขึ้นกับตนเองจริงๆ ว่า  เมื่อหลงลืมสติมากอย่างนี้ ก็เป็นเพราะมีกิเลสมากนั่นเอง แต่ถ้ามีปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกเกิดขึ้น ก็จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และเจริญกุศลทุกประการในชีวิตประจำวัน  

ควรอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้ใคร่ต่อการที่จะละกิเลส ดับกิเลส เนื่องจากว่าสะสมกิเลสมามากเหลือเกินแล้ว ถ้ายังคงสะสมกิเลสต่อไป เมื่อใดจึงจะดับให้หมดสิ้นไปได้ และการที่จะค่อยๆ ขัดเกลากิเลสได้นั้น ก็ต้องอาศัยพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะการศึกษาพระธรรมจุดประสงค์ก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อขัดเกลากิเลสทั้งหลายที่สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ และการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมทั้งหมดโดยตลอด โดยละเอียด โดยประการทั้งปวง นั้น ก็เพื่อที่จะให้รู้ว่า แม้กุศลธรรมก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะฉะนั้นกุศลธรรมทั้งหลายที่จะค่อยๆ อบรมให้เจริญขึ้น ก็คือ สภาพธรรมฝ่ายดีแต่ละชนิด ซึ่งต่างก็อาศัยกันเกิดขึ้นและค่อยๆอบรมเจริญขึ้นๆ จนกระทั่งในที่สุดก็สามารถที่จะดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการอบรมเจริญปัญญษ ซึ่งจะต้องไม่ลืมจุดประสงค์ของการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมจริงๆ ว่า เพื่อกุศลทุกประการเจริญขึ้นจนถึงขั้นที่จะสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น.

 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ