[คำที่ ๒๒๔] ขนฺติปารมี
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ขนฺติปารมี”
คำว่า ขนฺติปารมี เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ขัน - ติ - ปา - ระ - มี] มาจากคำว่า ขนฺติ (ความอดทน) กับคำว่า ปารมี (ความดีที่จะทำให้ถึงฝั่งของการดับกิเลส) รวมกันเป็น ขนฺติปารมี แปลว่า บารมีคือความอดทน หรือแปลทับศัพท์เป็น ขันติบารมี เป็นความดีที่เกิดขึ้นเป็นไปที่อดทนต่อทุกสถานการณ์ ที่จะไม่เป็นอกุศล อดทนต่ออารมณ์ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา ที่จะไม่หวั่นไหวไปกับอกุศล มี โลภะ ความติดข้องต้องการ และ โทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ เป็นต้น ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่กุศลธรรม อันมีอโทสะ เป็นประธาน ซึ่งไม่พ้นไปจากกุศลจิตพร้อมกับเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ขณะใดที่กุศลจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นอดทน เพราะอกุศลทั้งหมด ไม่อดทน และสภาพธรรมที่จะอุปการะเกื้อกูลให้ความอดทนเจริญขึ้น คือ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกในธรรมตามความเป็นจริง ปัญญานำพาชีวิตไปสู่ความดีทั้งปวง จนถึงการดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น ข้อความจาก ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก อธิบายถึงความเป็นจริงของขันติบารมีไว้ว่า
“ขันติบารมี มีความอดทนเป็นลักษณะ มีความอดทนต่ออารมณ์ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา เป็นรสะ (กิจหน้าที่) มีความอดกลั้น หรือ มีความไม่โกรธ เป็นผล และมีการเห็นตามความเป็นจริง เป็นเหตุใกล้ให้เกิด”
ธรรม เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ได้พ้นไปจากชีวิตประจำวันเลย ทุกขณะเป็นธรรม มีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอด ซึ่งถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมไม่ได้ศึกษาพระธรรม ไม่มีทางจะมีความเข้าใจถูกเห็นถูกได้เลย ก็ยังเต็มไปด้วยความมืดบอดด้วยอำนาจของอวิชชาความไม่รู้และกิเลสทั้งหลายต่อไป แม้แต่ความอดทน กับ ไม่อดทน ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ขณะใดก็ตามที่กุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ขณะนั้นอดทน ไม่ได้เป็นไปกับอกุศลใดๆ เลย แต่ถ้าอกุศลเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่อดทน เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ถ้าจะพิจารณาในชีวิตประจำวันแล้วเป็นเรื่องปกติธรรมดาของบุคคลผู้ไม่มีความอดทน ย่อมไม่เป็นที่รักของผู้อื่น ไม่มีใครอยากจะเข้าไปใกล้ ไม่มีใครอยากจะคบหาสมาคมด้วย เมื่อไม่มีความอดทน เวลามีใครทำอะไรให้ไม่พอใจ ก็อาจจะกระทำในสิ่งที่ไม่ดีตอบ ประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น ย่อมเป็นการก่อเวรเพิ่มมากยิ่งขึ้น เป็นการทำอกุศลกรรม ซึ่งมีแต่จะนำมาซึ่งทุกข์โทษภัยให้แก่ตัวเองโดยส่วนเดียว เวลาที่ไม่อดทน เป็นผู้ที่ลืมตัวด้วยความโกรธ เป็นอย่างนี้บ่อยๆ ย่อมไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอน เพราะจะทำให้เวลาใกล้จะสิ้นชีวิต ถ้าเกิดความโกรธ เกิดความไม่พอใจ ขณะนั้นย่อมไม่อดทน เมื่อไม่อดทน ก็ย่อมจะไหลไปตามอำนาจของอกุศล จึงเป็นผู้หลงกระทำกาละ (หลงตาย) คือ ตายไปอย่างไม่มีที่พึ่ง ไม่สามารถยึดเอาความดีเป็นที่พึ่งไว้ได้ เป็นผู้มีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ซึ่งเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานเป็นอย่างยิ่ง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงโทษของความไม่อดทนไว้ เพื่อเป็นเครื่องเตือนพุทธบริษัท ให้เป็นผู้เห็นโทษของความไม่อดทน เห็นโทษของอกุศลกุศลทั้งหลาย เพื่อเป็นเครื่องเพิ่มพูนความ อดทนที่จะเป็นกุศลยิ่งขึ้นในชีวิตประจำวัน เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองยิ่งๆ ขึ้นไป อดทนที่จะไม่ว่าร้ายผู้อื่น อดทนที่จะไม่ทำร้ายผู้อื่น อดทนที่จะไม่กระทำทุจริตกรรมประการต่างๆ อดทนในการที่จะฟังพระธรรม สะสมปัญญาไปตามลำดับ เพราะพระธรรมเป็นเรื่องยาก ละเอียด ลึกซึ้ง ต้องมีความอดทนในการฟัง ในการศึกษาต่อไป เป็นต้น ทั้งหมดนี้ คือความอดทนในชีวิตประจำวัน และเป็นธรรมที่จะอุปการะให้ถึงซึ่งฝั่งของการดับกิเลสด้วย ที่เรียกว่า ขันติบารมี ที่เป็นไปพร้อมกับปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก เมื่อมีปัญญามากขึ้น เจริญขึ้น ก็เป็นผู้อดทนยิ่งขึ้น
เป็นเรื่องที่ยากอย่างยิ่งกับการที่จะมีความอดทน ซึ่งเป็นเรื่องของความเจริญขึ้นของกุศลธรรม เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องของความอดทน นั้น ต้องอดทนต่อทุกอย่างและทุกสถานการณ์ด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่าพระอริยสาวกทั้งหลาย ก่อนที่ท่านจะมีความอดทนอดกลั้นได้ ท่านก็เป็นผู้ที่ มีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ มีอกุศลมากมายเหมือนกับคนทั่วๆ ไป แต่ว่าท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่มีปัญญา และเห็นคุณของความอดทน เห็นคุณของกุศลธรรมทั้งหลาย จึงมีความอดทนที่จะอบรมเจริญกุศลทุกประการ และไม่ขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม จนในที่สุด บารมีทั้งหลาย (ธรรมที่ทำให้ถึงฝั่งของการดับกิเลส) ก็ถึงที่สุด ด้วยการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสตามลำดับขั้น เพราะฉะนั้น เรื่องของบารมี ทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นเรื่องที่จบ เมื่อสมบรูณ์ แต่ว่าก่อนที่จะถึงความสมบรูณ์ ก็จะต้องสะสมอบรมไป มีความอดทนไปแต่ละชาติๆ และต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา เพื่อที่จะขัดเกลากิเลส เพราะเหตุว่ากิเลสมีมาก เนื่องจากสะสมมาอย่างยาวนานในสังสารวัฏฏ์อันประมาณมิได้ ก็จะต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานอย่างมากทีเดียว กว่าที่จะขัดเกลากิเลสนั้นๆ ได้ โดยที่ไม่ขาดการฟังพระธรรมเป็นปกติในชิตประจำวัน เพราะเหตุว่าพระธรรมที่ได้ฟังทั้งหมด เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา เพื่อขัดเกลากิเลสทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นไปเพื่อลาภ ยศ สักการะ สรรเสริญเลยแม้แต่น้อย
ดังนั้น จึงควรอย่างยิ่ง ที่จะได้เห็นคุณประโยชน์ของความอดทนในชีวิตประจำวัน อดทนในการเจริญกุศลทุกประการ อดทนที่จะไม่เป็นอกุศล อดทนในการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น แม้ว่าจะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานสักเพียงใดก็อดทน ไม่ย่อท้อ ไม่ท้อถอยโดยประการทั้งปวง เพราะการที่จะประจักษ์แจ้งความจริงของสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริงได้นั้น จะต้องไม่ขาดความอดทน.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ