[คำที่ ๒๒๕] ทุจริต
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ทุจริต”
คำว่า ทุจริต เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ทุ - จะ - ริ - ตะ] มาจากคำว่า ทุ (ชั่ว,ไม่ดี) กับ คำว่า จริต (ความประพฤติ) รวมกันเป็น ทุจริต [อ่านในภาษาไทยว่า ทุด - จะ - หริด] แปลว่า ความประพฤติชั่ว ความประพฤติไม่ดี แปลทับศัพท์เป็น ทุจริต ตามข้อความจากปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ตปนียสูตร ว่า
“ชื่อว่า ทุจริต เพราะประพฤติน่าเกลียด หรือ ประพฤติความชั่ว เพราะเน่าด้วยกิเลส”
โดยกว้างๆแล้ว ทุจริต มุ่งหมายถึงอกุศลทั้งหมด ขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้น เป็นทุจริต ขึ้นอยู่กับว่า ทุจริต นั้น มีกำลังถึงขั้นประทุษร้าย เบียดเบียนผู้อื่น หรือไม่ ถ้ามีกำลังก็เป็นทุจริตที่ถึงความเป็นอกุศลกรรมบถ กล่าวคือ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม เป็นกายทุจริต, พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เป็นวจีทุจริต, ความโลภ เพ่งเล็งอยากได้ของของคนอื่นมาเป็นของตน (อภิชฌา) ความเห็นผิด(มิจฉาทิฏฐิ) และความพยาบาทปองร้ายผู้อื่น (พยาบาท) ที่ล่วงออกมาเป็นความประพฤติที่ไม่ดีประการต่างๆ เป็นมโนทุจริต เช่น วางแผนที่จะขโมยของของผู้อื่น คิดแล้วคิดอีกเตรียมแล้วเตรียมอีกเพื่อทำชั่วดังกล่าว แล้วทำตามที่ได้เตรียมการไว้ ก็เป็นมโนทุจริต ที่เป็นอภิชฌา, มีความเห็นผิดแล้ว มีการกระทำไปตามความเห็นผิด นั้น เช่น เห็นว่า บุญ ไม่มี บาป ไม่มี ก็ทำแต่อกุศล ก็เป็น มโนทุจริต ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ และ ถ้าโกรธแล้ว เตรียมการ วางแผนแล้วทำการประทุษร้าย เบียดเบียนผู้อื่นด้วยกายหรือด้วยวาจา ก็เป็นมโนทุจริต ที่เป็นพยาบาท
ข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท แสดงถึงความจริงซึ่งเป็นความแตกต่างระหว่างทุจริต (ความประพฤติชั่ว) กับ สุจริต(ความประพฤติดีงาม) ไว้ดังนี้
“ขึ้นชื่อว่าทุจริต แม้เพียงเล็กน้อย บุคคลไม่ควรทำ ด้วยความสำคัญว่า 'ชนพวกอื่นย่อมไม่รู้กรรมนี้ของเรา' (ส่วน) สุจริตนั่นแหละ เมื่อคนอื่นแม้ไม่รู้ ก็ควรทำ, เพราะว่า ขึ้นชื่อว่าทุจริต แม้บุคคลปกปิดทำ ย่อมทำการเผาผลาญในภายหลัง, (ส่วน) สุจริต ย่อมยังความปราโมทย์ (ความอิ่มใจ) อย่างเดียวให้เกิดขึ้น”
อกุศลทั้งหลายทั้งปวง เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เพราะว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้ว นอกจากจะเบียดเบียนตนเองแล้ว บางครั้งยังเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนด้วย ยิ่งเมื่อกิเลสมีกำลังแรงกล้าถึงขั้นล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ แล้ว นั่นย่อมเป็นเครื่องวัดกำลังของกิเลสในขณะนั้นว่ามีกำลังมากทีเดียว ตราบใดที่ยังมีกิเลส ก็ย่อมมีการกระทำ มีคำพูด ที่เป็นไปในทางที่ไม่ดีบ้าง มากบ้าง น้อยบ้าง ตามการสะสมของแต่ละบุคคล ซึ่งก็คือ ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน
บุคคลผู้ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมซึ่งเป็นคำสอนในทางพระพุทธศาสนาอยู่บ่อยๆ เนืองๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็จะเห็นได้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโทษของกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต ไว้มาก และได้ทรงแสดงคุณของกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไว้มากมายเช่นเดียวกัน แต่ว่าก็ยังมีผู้กระทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตอยู่ ที่เป็นอย่างนี้เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ถึงแม้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงแสดงโทษของทุจริตไว้หลายประการอย่างไรก็ตาม แต่ถ้ากิเลสที่ได้สะสมมามีกำลังเมื่อใด ก็แสดงความเป็นอนัตตาเมื่อนั้น คือ กระทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตไปในขณะนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจะประมาทกำลังของกิเลสไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะกระทำความชั่ว ซึ่งเป็นทุจริตประการต่างๆ เพราะไม่คุ้ม กรรมชั่วที่ได้กระทำไปแล้วนั้น ให้ผลเป็นทุกข์อย่างแสนสาหัส มีทุกข์ในนรก เป็นต้น
บุคคลผู้ที่จะดับทุจริตกรรมที่จะทำให้เกิดในอบายภูมิ (นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน) ได้ ก็ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว แต่สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่เกิดการกระทำด้วยอกุศลจิตทางกาย ทางวาจา ทางใจ ซึ่งจะทำให้ตนเองติเตียนตนเองได้ ถ้าได้กระทำไปแล้วเกิดการระลึกได้ ก็จะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเลยที่ได้กระทำทุจริตลงไป หรือว่า นอกจากนั้นบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้รู้ ก็ยังติเตียนได้อีกด้วย เพราะเหตุว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะ ไม่ควรอย่างยิ่ง สิ่งที่จะเป็นเครื่องต้านทานกำลังของกิเลสได้นั้น ก็คือ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก
ดังนั้น จึงควรอย่างยิ่งที่จะเตือนตนเองบ่อยๆ ด้วยพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพื่อจะได้มีความประพฤติที่ดีงามทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ไม่ทำทุจริตกรรมประการต่างๆ ที่สำคัญ คือ เข้าใจความจริงว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ซึ่งไม่ใช่การน้อมประพฤติด้วยความเป็นตัวตน ด้วยความอยาก แต่ด้วยความเข้าใจถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เมื่อมีความเข้าใจถูก เห็นถูกไปตามลำดับ ก็จะเป็นเหตุทำให้ลดละสิ่งที่ไม่ดีที่เป็นทุจริตเหล่านั้นให้น้อยลงได้ตามระดับขั้นของปัญญา จนกว่าความไม่ดีจะไม่เกิดขึ้นอีกเลยด้วยปัญญาที่เจริญสมบูรณ์เป็นโลกุตตรปัญญาสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น ปัญญาจึงเป็นทรัพย์ที่ประเสริฐที่สุด ไม่มีทรัพย์ใดๆ เทียบได้เลย นำมาซึ่งประโยชน์สุขโดยส่วนเดียวเท่านั้น ซึ่งการที่จะมีปัญญาเจริญขึ้นไปตามลำดับได้นั้น ต้องไม่ขาดเหตุสำคัญ คือ การฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยความละเอียด รอบคอบ และด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ไม่ประมาทในแต่ละคำที่พระองค์ทรงแสดง.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ