[คำที่ ๒๒๗] อพฺยาปาท

 
Sudhipong.U
วันที่  31 ธ.ค. 2558
หมายเลข  32347
อ่าน  1,140

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ อพฺยาปาท

คำว่า อพฺยาปาท เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า อับ - พะ - ยา - ปา - ทะ] มาจากคำว่า (ไม่) กับความว่า พฺยาปาท  (ความพยาบาท, ความประทุษร้าย, ความเบียดเบียน, ความยังผู้อื่นให้ถึงซึ่งความพินาศเดือดร้อน) รวมกันเป็น อพฺยาปาท (เขียนเป็นไทยได้ว่า อัพยาปาทะ บ้าง อพยาปาทะ บ้าง อพยาบาท บ้าง) แปลว่า ความไม่พยาบาท,ความไม่โกรธ,ความไม่ประทุษร้ายเบียดเบียน  เป็นกุศลธรรม เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี ที่เกิดขึ้นเป็นไป เป็นธรรมฝ่ายดีที่ระงับความโกรธ ความคิดประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น 

ตามข้อความจาก พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณีปกรณ์ ว่า

“อัพยาปาทะ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน? การไม่คิดประทุษร้าย กิริยาที่ไม่คิดประทุษร้าย ความไม่คิดประทุษร้าย ความไม่พยาบาท ความไม่คิดเบียดเบียน กุศลมูล คือ อโทสะ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า อัพยาปาทะ มีในสมัยนั้น”

ข้อความจากพระไตรปิฎก ที่ควรค่าแก่การพิจารณาเพิ่มเติม เพื่อความเข้าใจความจริงถึงความไม่พยาบาทเบียดเบียนผู้อื่น ดังนี้

“ผู้ใด มีใจยินดีในความไม่เบียดเบียน ตลอดวันและคืนทั้งหมด และเป็นผู้มีส่วนแห่งเมตตาในสรรพสัตว์ ผู้นั้นย่อมไม่มีเวรกับใคร”

(พระสุตตันตปิฎก  สังยุตตนิกาย  สคาถวรรค  มณิภัททสูตร)

“วัยย่อมเสื่อมไปทุกขณะที่ยังหลับตาและลืมตาอยู่, เมื่อความพลัดพรากจากกันมีอยู่อย่างไม่ต้องสงสัย ในอัตภาพที่เต็มไปด้วยอันตรายอย่างนี้ หมู่สัตว์ที่ยังเหลืออยู่ ควรมีเมตตาเอ็นดูกัน ส่วนผู้ที่ตายไปแล้ว ไม่ควรจะต้องเศร้าโศกถึง”

(พระสุตตันตปิฎก  ขุททกนิกาย  ชาดก   อนนุโสจิยชาดก)


ตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงชาติ (ความเกิดขึ้น) ของจิต ว่า มี ๔ ชาติ ได้แก่  จิตเกิดขึ้นเป็นกุศล ๑ จิตเกิดขึ้นเป็นอกุศล ๑ จิตเกิดขึ้นเป็นวิบากคือผลของกรรม ๑ และจิตเกิดขึ้นเป็นกิริยา คือ ไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่ผล เป็นแต่เพียงเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของตนแล้วก็ดับไปเท่านั้น ๑

จะเห็นได้ว่า ในชีวิตปกติประจำวันของผู้ที่ยังมีกิเลสนั้น ย่อมมีจิตเกิดขึ้นเป็นไปใน ๔ ชาติ ดังกล่าว ตามความเป็นไปของจิตขณะนั้นๆ ซึ่งถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมไปตามลำดับจะไม่มีทางที่เข้าใจถูกต้องตรงตามความเป็นจริงได้เลย โดยเฉพาะอกุศลจิต ซึ่งเกิดขึ้นบ่อย และเกิดมากกว่ากุศลจิต เพราะเหตุว่า เมื่อไม่กล่าวถึงขณะจิตที่เป็นกุศล ขณะจิตที่เป็นการได้รับผลของกรรม และขณะที่จิตเป็นกิริยาแล้ว  นอกนั้นเป็นอกุศลทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น ขณะจิตที่เป็นไปพร้อมกับความโกรธกัน ความไม่พอใจกัน      

ตามความเป็นจริงแล้ว ความโกรธ ความไม่พอใจ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ผู้ที่ยังไม่ใช่พระอนาคามี ยังต้องมีความโกรธ เพราะเหตุว่ายังมีเชื้อของความโกรธที่ยังไม่ได้ดับอย่างเด็ดขาด, บางบุคคล เป็นผู้มีอัธยาศัยดี มีความประพฤติดี เรียบร้อย เกือบจะดูเหมือนว่า ไม่เห็นว่าเขาโกรธเลย แต่ตามความเป็นจริงแล้ว เมื่อยังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ต้องโกรธแน่แม้ว่าจะไม่มาก เป็นเพียงความขุ่นใจ ไม่พอใจเมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ซึ่งมีมากในชีวิตประจำวัน เวลาเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ก็ยากที่จะไม่เกิดความขุ่นใจ ความไม่สบายใจ อย่างนี้ก็เป็นลักษณะของความโกรธเช่นเดียวกัน   

ขณะที่เกิดความโกรธนั้น เป็นอกุศล ไม่ใช่ผลของกรรม แต่เป็นการสะสมโทสะ (ความโกรธ) เมื่อสะสมบ่อยๆ เนืองๆ โดยที่ไม่มีการเห็นโทษเห็นภัย  ก็ทำให้กิเลสมีกำลังมากขึ้น จนถึงขั้นประทุษร้ายเบียดเบียน ทำอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดี และไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นโทษเป็นภัยกับตนเองโดยตรงแล้ว ยังก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นอีกด้วย ขณะที่ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ เกิดขึ้น ตนเองเท่านั้นที่เป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะกิเลสคือโทสะหรือความโกรธของตนเอง คนอื่นจะทำให้ไม่ได้เลย,     สภาพธรรมที่เป็น อัพยาปาทะ หรือ ความไม่โกรธ ไม่ปองร้ายประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น จึงเป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับความโกรธ ความเบียดเบียนประทุษร้ายผู้อื่น อย่างสิ้นเชิง ไม่นำมาซึ่งทุกข์โทษภัยใดๆ เลย ไม่ว่าจะกับตนเองหรือผู้อื่น เพราะไม่ว่าเป็นยุคใดสมัยใดก็ตาม สภาพธรรมฝ่ายดี ไม่มีทางที่จะทำให้เกิดโทษเลยแม้แต่น้อย  

เพราะฉะนั้น ควรอย่างยิ่งที่แต่ละคนจะได้คิดพิจารณาว่า ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าจะละจากโลกนี้ไปเมื่อใด ควรที่จะเห็นคุณค่าของความที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ซึ่งได้อย่างยากแสนยาก ด้วยการสะสมแต่สิ่งที่ดีงามในชีวิตประจำวัน มีความมีเมตตา ความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน หวังดี ต่อผู้อื่น ไม่ประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น เป็นต้น รวมถึงการอบรมเจริญปัญญา ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม ด้วย เพราะเมื่อปัญญาเจริญขึ้น กุศลธรรมประการต่างๆ ก็จะเจริญขึ้นตามระดับของปัญญา, ความโกรธ ความไม่พอใจกัน ความประทุษร้ายเบียดเบียนกัน รวมถึงอกุศลธรรมประการอื่นๆ ก็จะลดน้อยลงด้วย จนกว่าจะสามารถดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ได้อย่างเด็ดขาดในที่สุด ที่พึ่งอย่างอื่นไม่มี นอกจากปัญญา ซึ่งเป็นความเข้าใจถูก เห็นถูก เท่านั้น และปัญญาจะเจริญขึ้นได้ ต้องไม่ขาดการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยความจริงใจและเห็นประโยชน์จริงๆว่า ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อละความไม่รู้.

 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ