[คำที่ ๒๒๙] ปญฺญารตน

 
Sudhipong.U
วันที่  14 ม.ค. 2559
หมายเลข  32349
อ่าน  520

ภาษาบาลี ๑ คำ  คติธรรมประจำสัปดาห์ ปญฺญารตน

คำว่า ปญฺญารตน เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ปัน - ยา - ระ  -  ตะ - นะ ] มาจากคำว่า ปญฺญา (ความเข้าใจถูกเห็นถูก) กับคำว่า รตน (สิ่งที่มีค่า,สิ่งที่ประเสริฐ) รวมกันเป็น ปญฺญารตน แปลว่า สิ่งที่มีค่าคือปัญญา,สิ่งที่ประเสริฐคือปัญญา แปลทับศัพท์เป็น ปัญญารัตนะ เป็นการแสดงถึงสภาพธรรมฝ่ายดีอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นความเข้าใจถูกเห็นถูก ที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต ทำให้จิตประเภทนั้น เป็นจิตที่ดีงาม มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ปัญญาเป็นรัตนะ ก็เพราะเป็นสภาพธรรมที่นำมาซึ่งความปลาบปลื้มยินดีอย่างยิ่ง เป็นสภาพธรรมที่หาได้โดยยาก เป็นสิ่งที่ประมาณค่ามิได้ และเป็นเครื่องใช้สอยอย่างงดงามของสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีทางที่สัตว์โลกผู้มีปัญญาจะตกไปสู่ที่ต่ำเลย มีแต่จะเกื้อกูลให้ความดีทั้งหลายเจริญขึ้น เป็นสิ่งที่ประเสริฐสำหรับสัตว์โลกทั้งหลาย ตามข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ชราสูตร ว่า 

“ปัญญา เป็นรัตนะ ของคนทั้งหลาย”


 พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง ซึ่งมีเป็นส่วนน้อยเท่านั้นที่จะได้ยินได้ฟังคำจริง ที่เป็นวาจาสัจจะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง อันเกิดจากพระปัญญาตรัสรู้ของพระองค์ ที่ใครๆ ก็ไม่สามารถคัดค้านหรือเปลี่ยนแปลงได้เลย เพราะความจริงเป็นอย่างนั้น แต่ละคำที่พระองค์ตรัส ไม่ว่าจะปรากฏในส่วนใดของพระธรรมคำสอน ก็เป็นไปเพื่อปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก โดยตลอด ความเข้าใจพระธรรมนี้เอง เป็นประโยชน์ เป็นสิ่งที่มีค่า ใครๆ ก็แย่งชิงไปไม่ได้ เก็บรักษาอย่างดีไว้ในจิต สะสมเป็นที่พึ่งต่อไปในภายหน้า  

ในฐานะที่เป็นสาวกแล้ว ปัญญาจะเกิดขึ้น เจริญขึ้นได้ ก็ต้องได้ฟังพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีทางที่สัตว์โลกจะได้ยินได้ฟังความจริง ไม่มีทางที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้เลย แต่เพราะมีการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และทรงแสดงพระธรรม จึงทำให้สัตว์โลกที่สะสมเหตุที่ดีมามีโอกาสได้ฟังคำจริงที่พระองค์ทรงแสดง มีการอบรมเจริญปัญญา ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ตามกำลังปัญญาของตนเอง

ความเป็นจริงของชีวิต คือ ทุกคนเกิดแล้วต้องตาย สิ่งที่คิดว่าได้มาแล้วทั้งหมดทุกวัน แม้แต่เมื่อวานนี้ เดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหน ความสุขเมื่อวานนี้อยู่ที่ไหน เรื่องสนุก อาหารอร่อย หรือลาภยศก็ตาม จะติดตามไปถึงโลกหน้าไม่ได้ เพราะฉะนั้นจริง ๆ แล้วในหนึ่งชาติที่เกิดมาเป็นมนุษย์ได้อะไร?   แต่ถ้าไม่ได้ฟังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไม่รู้คุณค่าเลยว่า สิ่งที่มีคุณค่าเหนือสิ่งอื่นใด ก็คือปัญญา (ความเข้าใจถูก เห็นถูก) ซึ่งบุคคลอื่นที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่สามารถแสดงให้บุคคลอื่นเกิดความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่มีจริง ๆ  ที่กำลังปรากฏ เป็นแต่ละขณะในชีวิตนี้ได้เลย ถ้าไม่เห็นคุณค่าของพระธรรม อยู่ไปๆในแต่ละวัน ก็มีแต่สะสมอกุศลเพิ่มขึ้น พอกพูนความไม่รู้ ความติดข้อง ความไม่พอใจ เพิ่มขึ้น หนาแน่นไปเรื่อย ๆ ทำให้เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ต่อไปอย่างไม่จบสิ้น ไม่พ้นจากทุกข์ 

เมื่อได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมก็จะมีความมั่นคงที่จะรู้ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต ไม่ใช่ลาภ ซึ่งเสื่อมได้ ไม่ใช่ยศซึ่งเสื่อมได้ ไม่ใช่สรรเสริญ ซึ่งเสื่อมได้ได้ ไม่ใช่สุข ซึ่งหมดไปได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประจำโลกที่ทุกคนก็ได้รู้ได้เห็นด้วยตัวเอง  เป็นไปตามเหตุปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น สิ่งที่ประเสริฐกว่านั้น ก็คือ การที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้เข้าใจพระธรรม และได้สมกับเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา คือ คำสอนของผู้ทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เป็นชาวพุทธเพียงชื่อเท่านั้น แต่ไม่ได้มีความเข้าใจความจริงอะไรเลย อย่างนี้ก็ไม่ตรงตามความเป็นจริง เพราะชาวพุทธ ต้องมีความเข้าใจพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ประการที่สำคัญพระธรรมไม่ใช่เรื่องฟังแค่วันเดียว สองวัน หรือ สามวัน แต่เป็นเรื่องที่จะต้องฟังไปตลอดชีวิต และชาตินี้ก็ยังไม่พอ  เนื่องจากสะสมอวิชชาและกิเลสทั้งหลายมาอย่างมากมายในสังสารวัฏฏ์ ก็ต้องสะสมปัญญาเป็นกาลเวลาที่ยาวนาน ถ้าเห็นประโยชน์ของพระธรรมแล้ว จะเห็นว่าขาดการฟังพระธรรมไม่ได้ เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าสิ่งอื่นจะเกิดขึ้นและหมดไป แต่ความรู้ความเข้าใจซึ่งเริ่มเกิดขึ้น และมีความสนใจที่จะรู้ต่อไป จะเจริญขึ้น เป็นการค่อยๆสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งจะต้องอดทน มีความเพียร มีความจริงใจ ที่จะฟัง ที่จะศึกษาพระธรรมต่อไปด้วยความไม่ย่อท้อ เพราะเห็นประโยชน์ว่า เป็นที่พึ่งได้ เป็นสิ่งที่มีค่า เป็นสิ่งที่ประเสริฐสำหรับชีวิตอย่างแท้จริง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ