[คำที่ ๒๓๑] กุกกุจฺจ
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “กุกฺกุจฺจ”
คำว่า กุกฺกุจฺจ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า กุก - กุด - จะ] เขียนเป็นไทยได้ว่า กุกกุจจะ หมายถึงความเดือดร้อนใจ ความรำคาญใจ เมื่อได้ทำอกุศลกรรมไปแล้ว กับ เมื่อไม่ได้ทำกุศลที่ควรจะได้กระทำ ตามข้อความจาก อัฏฐสาลินี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี ว่า
“กุกกุจจะ นั้น มีความเดือดร้อนใจในภายหลังเป็นลักษณะ มีความเศร้าโศกเนือง ๆ ถึงบาปที่ทำแล้ว และบุญที่ยังไม่ได้กระทำเป็นกิจ (หน้าที่) มีความวิปฏิสาร คือ ความเดือดร้อน เป็นปัจจุปัฏฐาน (อาการปรากฏ) มีการทำบาปแล้ว และ มิได้ทำบุญไว้ เป็นปทัฏฐาน (เหตุใกล้ให้เกิด)”
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดง ล้วนเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง เกื้อกูลให้ผู้ฟังผู้ศึกษาได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกในความเป็นจริงว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม จะไม่สามารถรู้ได้ว่า เป็นธรรม แม้สภาพธรรมที่เป็นกุกกุจจะ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลเจตสิก ประการหนึ่ง ที่จะต้องเกิดร่วมกับอกุศลจิต เท่านั้น ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นก็จะเกิดร่วมกับกับอกุศลจิตประเภทที่มีโทสะเกิดร่วมด้วย จะเกิดร่วมกับจิตชาติอื่น กล่าวคือ ชาติกุศล ชาติวิบาก และ ชาติกิริยาไม่ได้เลย ต้องเกิดร่วมกับจิตชาติอกุศล เท่านั้น เพราะอกุศลเจตสิก ก็จะต้องเกิดร่วมกับอกุศลจิต ตามสมควรแก่อกุศลจิตประเภทนั้น ๆ ขณะที่เดือดร้อนรำคาญใจที่ได้กระทำอกุศลกรรม และ ไม่ได้ทำกุศลกรรม นี้คือ ความเป็นจริงของกุกกุจจะ แม้จะไม่ใส่ชื่อ ความเป็นจริงของธรรม ก็ไม่เปลี่ยน ขณะนั้น ไม่สบายใจประกอบพร้อมกับโทสะ และอกุศลเจตสิกประการอื่น ๆ จะเห็นได้เลยว่า คนที่มีกุกกุจจะ จะรู้สึกไม่สบายใจเลย คิดถึงกุศลที่ควรจะกระทำ แต่ไม่ได้กระทำ และคิดถึงอกุศลที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้นอกุศลทั้งหมดเป็นสิ่งที่เดือดร้อน ในขณะที่เกิดก็เดือดร้อน เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่สงบเลย เต็มไปด้วยความเศร้าหมองหรือความขุ่นหมองในจิตใจ แม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นสภาพลักษณะของธรรมชนิดหนึ่งซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นไม่ได้, ที่จะเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญใจ ก็ต้องไม่กระทำอกุศลกรรม และ ต้องไม่ละเลยโอกาสที่จะเจริญกุศลในชีวิตประจำวัน เพราะขณะที่กุศลเกิดขึ้น นั้น อกุศลใด ๆ เกิดไม่ได้เลยในขณะนั้น
จะเห็นได้จริง ๆ ว่าการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ นับว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้เจริญกุศลทุกประการ เนื่องจากว่าภูมิมนุษย์เป็นภูมิที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญกุศลได้ทุกประการ ทั้งในเรื่องของทาน การให้ การสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น, ในเรื่องของศีล การรักษากาย วาจา ให้เป็นปกติเรียบร้อยดีงาม เว้นในสิ่งที่ควรเว้น และกระทำในสิ่งที่ควรกระทำ รวมถึงอ่อนน้อมถ่อมตน และการขวนขวายกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นต้น ด้วย นอกจากนั้นแล้วในเรื่องของภาวนา ซึ่งเป็นการอบรมเจริญปัญญา ก็มีด้วยเช่นเดียวกัน ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมจากสัตบุรุษผู้ที่เข้าใจพระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพื่อความเข้าใจในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น บุคคลผู้ที่น้อมประพฤติปฏิบัติตามได้อย่างนี้ ชีวิตย่อมจะมีค่า ไม่สูญเปล่า และไม่เสียชาติเกิดเลยที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วได้กระทำในสิ่งที่ควรทำซึ่งเป็นประโยชน์และจะเป็นที่พึ่งให้แก่ตนได้อย่างแท้จริง
แต่ละคนเป็นแต่ละหนึ่ง ไม่เหมือนกันเลย ซึ่งเมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว หามีสัตว์ บุคคล ตัวตนไม่ มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป ซึ่งจะเห็นได้ว่าบางบุคคล แม้ว่าจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว แต่ไม่ได้ประโยชน์จากความเป็นมนุษย์ที่ตนควรได้ เป็นผู้ประมาท มัวเมา ประกอบแต่อกุศลกรรมสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น (ขณะนั้นตนเองก็เดือดร้อนเพราะอกุศลแผดเผา) ในขณะที่กระทำอกุศลกรรมแต่ละครั้งนั้น เท่ากับว่ากำลังทำทางที่จะทำให้ตนเองมีความตกต่ำในภพข้างหน้า กล่าวคือ อบายภูมิ เพราะเหตุว่าที่ไปของบุคคลที่กระทำอกุศลกรรม มีเพียงอบายภูมิ ซึ่งเป็นภูมิที่มีแต่ความทุกข์ความเดือดร้อน เท่านั้น
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น ไม่มีล้าสมัย เหมาะทุกกาลสมัย เพราะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาแล้วน้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตาม ด้วยการละเว้นในสิ่งที่จะนำมาซึ่งความเดือดร้อนประการต่าง ๆ แล้วประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ความเดือดร้อนใจเพราะเหตุประการต่าง ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น พร้อมทั้งเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมทั้งหลาย รวมถึงปัญญา ก็ย่อมเจริญขึ้นด้วย ปัญญา เป็นสภาพธรรมที่เข้าใจถูก เห็นถูก อันจะนำมาซึ่งความสุขอย่างแท้จริง คือ สามารถที่จะดับกิเลส ดับความเดือดร้อนใจทั้งหลายทั้งปวงได้ในที่สุด ซึ่งการที่จะมีปัญญาได้นั้น ก็ต้องอาศัยเหตุที่สำคัญ คือ ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ