[คำที่ ๒๓๒] วิส-พิษ

 
Sudhipong.U
วันที่  4 ก.พ. 2559
หมายเลข  32352
อ่าน  601

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ วิส

คำว่า วิส เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า วิ - สะ] แปลว่า พิษ มีความหมายกว้างขวางมาก ทั้งที่เป็นพิษทั่ว ๆ ไป เช่น ยาพิษ อาหารที่เป็นพิษ สัตว์มีพิษ ผลไม้ที่มีพิษ เป็นต้น แต่ความมุ่งหมายที่ละเอียดลึกซึ้ง นั้น มุ่งหมายถึงพิษที่มีอยู่ในใจของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ คือ พิษที่เป็นกิเลส ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นอกุศล ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใด ๆ เลย มีแต่นำมาซึ่งทุกข์โทษภัยเท่านั้น และถ้าเป็นกิเลสที่มีกำลังถึงขั้นเป็นการกระทำอกุศลกรรมประการต่าง ๆ เช่น ฆ่าสัตว์ เบียดเบียนประทุษร้ายผู้อื่น ลักทรัพย์ของผู้อื่น เป็นต้นแล้ว ก็เป็นเหตุให้เกิดผลที่เป็นทุกข์ มีผลที่เป็นทุกข์ตามมา และการที่ค่อย ๆ กำจัดพิษคือกิเลสได้ ก็ต้องอาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เหมือนอย่างพระอริยสาวกทั้งหลายในอดีตที่ท่านสามารถดับหรือกำจัดพิษคือกิเลสได้ เพราะได้อาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตามข้อความจาก ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เตลุกานิเถรคาถา ว่า   

“บทว่า คนฺถํ ความว่า พระพุทธเจ้า คือ พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงลอยบาปได้ ทรงบรรเทาโทษอันเป็นพิษคือกิเลส อันเป็นตัวร้อยรัดในสันดานของเรา มีอภิชฌากายคันถะ (เครื่องร้อยรัดคือความติดข้องต้องการ) เป็นต้น ด้วยอานุภาพแห่งเทศนาของพระองค์ คือ ทรงทำโทษอันเป็นพิษคือกิเลสให้สูญหายไป จริงอยู่ เมื่อละกิเลสเครื่องร้อยรัดได้เด็ดขาดแล้ว กิเลสที่ชื่อว่ายังไม่ได้ละ ย่อมไม่มี”


ชีวิตประจำวันของปุถุชน ผู้ที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส  ย่อมเป็นที่แน่นอนว่าอกุศลจิต ย่อมเกิดขึ้นมากกว่ากุศลจิต ถ้ามีใครบอกว่าวันหนึ่ง ๆ  กุศลจิตของเขาเกิดมากกว่าอกุศลจิต นั่นไม่ตรงตามความเป็นจริง เพราะจิตที่เป็นอกุศล มีหลายระดับตามกำลังของกิเลส ตั้งแต่ชนิดที่บางเบาไหลไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ จนกระทั่งมีกำลังกล้าถึงกับล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่าง ๆ  เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน และเพราะยังมีกิเลสที่ละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในจิต ซึ่งยังดับไม่ได้ จึงเป็นปัจจัยให้กิเลสในระดับต่าง ๆ เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เมื่อกิเลสเกิดขึ้นประกอบกับจิตขณะใด ก็ทำให้เป็นอกุศลจิต เพราะเหตุว่า กิเลส ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตนั้นจะเกิดร่วมกับจิตชาติกุศล วิบาก และกิริยา ไม่ได้ ต้องเกิดร่วมกับจิตชาติอกุศล เท่านั้น นี้คือความเป็นจริงของธรรม ที่ใคร ๆ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้     

ตามความเป็นจริงแล้ว กิเลส เป็นอกุศลธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน เกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสมมาของแต่ละบุคคล ขึ้นชื่อว่าอกุศลธรรมแล้ว เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจทั้งหมด ไม่ว่าจะเกิดกับใครก็ตาม และเป็นสภาพธรรมที่นำมาซึ่งทุกข์ นำมาซึ่งโทษโดยส่วนเดียวเท่านั้น  

เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาจริง ๆ ว่า  ขณะที่จิตเป็นอกุศล ด้วยอำนาจของโลภะ (ความติดข้อง) บ้าง โทสะ (ความโกรธขุ่นเคืองใจ) บ้าง  โมหะ (ความหลง ความไม่รู้) บ้าง พิษได้เกิดขึ้นทำร้ายจิตใจของตนเองแล้ว ทำร้ายยิ่งกว่าพิษภายนอกเสียอีก เพราะพิษคือกิเลส จะนำมาซึ่งโทษโดยส่วนเดียว ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆเลยแม้แต่น้อย

การที่จะรู้จักกิเลสที่เกิดปรากฏกับตนเองตามความเป็นจริง ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ที่จะนำไปสู่การขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น นั้น ก็ต้องอาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจในความเป็นจริงของธรรมยิ่งขึ้น เข้าใจถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัย บุคคลผู้มีกิเลส แล้วรู้ว่าตัวเองมีกิเลส ย่อมเป็นบุคคลผู้ประเสริฐ เพราะจากการรู้อย่างนี้ ย่อมเป็นเหตุทำให้บุคคลนั้น มีความเพียร มีความอดทน มีศรัทธาที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงต่อไป เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองให้เบาบาง จนกระทั่งสามารถดับได้อย่างเด็ดขาดในที่สุด ไม่มีกิเลสเกิดอีกเลย ซึ่งต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานเป็นอย่างยิ่งในการอบรมเจริญปัญญา เหมือนอย่างพระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีต ซึ่งได้รับประโยชน์จากพระธรรม ดับพิษคือกิเลสได้ ก็ล้วนแล้วแต่ได้อาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทั้งนั้น 

เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วเท่านั้น จึงจะสามารถกำจัดพิษคือกิเลสทั้งหลายได้ ซึ่งจะเป็นเหตุทำให้เป็นผู้ไม่ถูกกิเลสครอบงำหรือทำร้ายจิตใจได้อีกต่อไป และการอาศัยพระธรรม นั้น ก็อาศัยด้วยการฟัง การศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบ และด้วยความเคารพ ไม่ประมาทในแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ค่อย ๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งก็จะเป็นการสะสมในสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในชีวิต คือ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ