[คำที่ ๒๓๓] ปฏิปทา

 
Sudhipong.U
วันที่  11 ก.พ. 2559
หมายเลข  32353
อ่าน  451

ภาษาบาลี ๑ คำ  คติธรรมประจำสัปดาห์  “ปฏิปทา

คำว่า ปฏิปทา เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ปะ - ติ - ป - ทา] แปลว่า  ทางดำเนิน ซึ่งมีทั้งทางดำเนินที่ผิด  ที่เป็นมิจฉาปฏิปทา และ ทางดำเนินที่ถูก ที่เป็นสัมมาปฏิปทา ตามข้อความบางตอนจาก สารัตถปกาสินี อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ปฏิปทาสูตร ดังนี้

“บทว่า มิจฺฉาปฏิปทํ ความว่า นี้เป็นปฏิปทา ไม่นำสัตว์ออกจากทุกข์, สิ่งใดสิ่งหนึ่งอันบุคคลปรารถนาวิวัฏฏะ คือ พระนิพพาน ปฏิบัติ โดยที่สุดถวายทานเพียงข้าวยาคู (ข้าวต้ม) กระบวยหนึ่ง ก็ดี เพียงถวายใบไม้กำมือหนึ่ง ก็ดี  สิ่งทั้งหมดนั้น จัดเป็นสัมมาปฏิปทา โดยแท้ เพราะเป็นฝ่ายวิวัฏฏะ (สิ้นวัฏฏะ ดับทุกข์ ดับกิเลส สิ้นการเวียนว่ายตายเกิด)”


แต่ละบุคคล เกิดมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน เพราะยังมีกิเลส ยังไม่ได้ดับกิเลสอันเป็นเหตุให้มีการเกิด จึงเป็นสิ่งที่น่าพิจารณาว่า ชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคลเป็นมิจฉาปฏิปทาหรือสัมมาปฏิปทา ถ้าไม่ได้อาศัยพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่มีทางที่จะเข้าใจอย่างถูกต้องได้เลย 

ปฏิปทา หมายถึง ทางดำเนิน ทางดำเนิน จึงมี ๒ ทาง คือ ทางดำเนินที่ผิด กับ ทางดำเนินที่ถูก ถ้าเป็นทางดำเนินที่ผิด นั้น ย่อมเป็นทางที่ไม่ทำให้ถึงซึ่งการดับกิเลส  ไม่สามารถทำให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งเป็นเรื่องของอกุศลธรรมทั้งหมด เพราะอกุศลธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี ไม่มีประโยชน์ใดๆเลยแม้แต่น้อย ไม่ทำให้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น อกุศลธรรม จะเป็นทางที่ถูกต้องไม่ได้  นี้คือ ความเป็นจริง  และ กุศลประการใด ๆ ก็ตาม ที่สะสมอบรมเจริญเพื่อปรารถนาลาภ  ยศ สักการะ สรรเสริญ  ปรารถนาได้รูป เสียง กลิ่น รส  และสิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ที่น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจ หรือแม้แต่หวังการเกิดในภพภูมิที่ดี  ย่อมไม่ใช่ทางดำเนินที่จะนำไปสู่การดับกิเลสได้เลย มีแต่จะทำให้พอกพูนอกุศลเพิ่มขึ้น จึงเป็นมิจฉาปฏิปทาด้วย เพราะไม่ใช่หนทางที่จะนำไปสู่การดับกิเลสเลย  ยังเป็นเหตุให้เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์  ไม่พ้นจากทุกข์ ส่วนทางดำเนินที่ถูกต้องที่เป็นไปเพื่อการเจริญขึ้นของกุศลธรรมและปัญญาที่เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงนั้น ต้องเป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา และการเจริญกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน  เพื่อขัดเกลากิเลส แม้ว่าจะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม ก็ย่อมเป็นทางดำเนินที่จะทำให้ถึงซึ่งการดับกิเลสในภายหน้าได้

เพราะฉะนั้น ในสังสารวัฏฏ์ที่ผ่านมา จิตเกิดแล้วก็ดับทีละขณะเคลื่อนไป ไม่มีอยู่นิ่งเลย ที่จิตจะเกิดแล้วไม่ดับ ไม่มี ถ้าเป็นอกุศล หรือแม้แต่เจริญกุศล แต่เต็มไปด้วยความหวังความต้องการ ขณะนั้น เป็นมิจฉาปฏิปทา นำไปสู่กองทุกข์ กล่าวคือ นำไปสู่การเกิด การตาย อย่างไม่จบสิ้น แต่ถ้าเป็นการอบรมเจริญปัญญา เจริญกุศลเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ย่อมเป็นสัมมาปฏิปทา เป็นการประพฤติปฏิบัติที่จะนำไปสู่การดับทุกข์ทั้งหมดได้

สำหรับการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสตามลำดับขั้นนั้น เป็นเรื่องที่ยาวไกลมาก ก็ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญา ละคลายอกุศลธรรม คือ อวิชชา และความติดข้องที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ซึ่งการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคลเป็นตัวตน นั้น ไม่ง่ายเลย เพราะเหตุว่าจะต้องเป็นในแต่ละขณะที่รู้ความจริงว่า สิ่งที่มีจริง ๆ เป็นธรรม เป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ใคร ๆ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆได้เลย นี้จึงจะเป็นหนทางที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล และที่น่าพิจารณาคือ ยังมีอกุศลอื่นอีกมากมายซึ่งดูเหมือนว่าจะละไม่ยากเท่ากับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน บางคนสละวัตถุง่าย มีฉันทะสะสมมาที่จะเป็นผู้มีอัธยาศัยในการให้  ก็พร้อมที่จะให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น หรือบางคน ก็อาจจะมีจิตใจดี มีเมตตากรุณา ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น แต่แม้กระนั้นการที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ต้องยากกว่า เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องของปัญญา เป็นสิ่งที่ละเอียดและลึกซึ้งมาก ถ้าไม่ใช่ปัญญาที่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมจริง ๆ ขณะนั้นก็ไม่สามารถละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้เลย 

ขณะใดที่เป็นการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ย่อมเป็นหนทางที่จะเป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลส และดับกิเลสได้ในที่สุด เมื่อรู้ว่าตนเองมีกิเลสจากความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็อบรมเจริญปัญญา เพื่อจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมและเจริญกุศลต่างๆ สะสมเป็นอุปนิสัยที่ดี  เพื่อที่จะละอกุศลทั้งหลาย นั่นคือผู้ดำเนินตามหนทางที่จะทำให้ดับกิเลส เป็นสัมมาปฏิปทา เพราะฉะนั้นแล้ว ในชีวิตประจำวัน จะขาดรากฐานที่สำคัญไม่ได้เลย นั่นก็คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ค่อย ๆสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริง ซึ่งยากที่จะได้ฟัง และยากที่จะเข้าใจ แต่ไม่เหลือวิสัยที่จะเข้าใจได้ เมื่อมีการฟังบ่อยๆ เนืองๆ ความเข้าใจก็จะค่อยๆเจริญขึ้นไปตามลำดับ.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
nui_sudto55
วันที่ 9 เม.ย. 2567

สาธุครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ