[คำที่ ๒๓๙] อภิธมฺม

 
Sudhipong.U
วันที่  24 มี.ค. 2559
หมายเลข  32359
อ่าน  471

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อภิธมฺม

คำว่า อภิธมฺม เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า อะ - บิ - ดำ - มะ] มาจากคำว่า อภิ (ยิ่ง,ละเอียด) กับ คำว่า ธมฺม (สิ่งที่มีจริง) รวมกันเป็น อภิธมฺม [เขียนเป็นไทยได้ว่า อภิธรรม] แปลว่า สิ่งที่มีจริงที่ละเอียดยิ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงที่ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตน ละเอียดยิ่งเพราะปฏิเสธความเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นตัวตนอย่างสิ้นเชิง ต้องอาศัยพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเท่านั้น จึงจะมีความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง เพราะอภิธรรม ไม่พ้นจากสิ่งที่มีจริง ครอบคลุมสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ตามข้อความจากพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ที่แสดงถึงเมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงอภิธรรมโปรดพระมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ว่า

“พระศาสดา ประทับนั่งในท่ามกลางเทวบริษัท ทรงปรารภพระมารดา เริ่มตั้งอภิธรรมปิฎกว่า "กุสลา ธมฺมา (ธรรมทั้งหลาย ที่เป็นกุศล ได้แก่ กุศลจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) อกุสลา ธมฺมา (ธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศล ได้แก่ อกุศลจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) อพฺยากตา ธมฺมา (ธรรมทั้งหลาย ที่ไม่ใช่ทั้งกุศลและไม่ใช่ทั้งอกุศล ได้แก่ วิบากจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย, กิริยาจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย, รูปทั้งหมด และ พระนิพพาน) " ดังนี้เป็นต้น”.


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง นั้น เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด เป็นไปเพื่อเข้าใจสภาพธรรม ที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ซึ่งเป็นอภิธรรม เป็นธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ปฏิเสธความเป็นตัวตนเป็นสัตว์บุคคลอย่างสิ้นเชิง พระธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานับคำไม่ถ้วน ประมวลเป็นพระสุตตันตปิฎก บ้าง พระวินัยปิฎก บ้าง พระอภิธรรมปิฎก บ้าง ทั้งหมด ก็ไม่พ้นไปจาก เพื่อให้เข้าใจถูกเห็นถูก ในสภาพธรรม ตามความเป็นจริง แม้จะทรงแสดงพระธรรม โดยนัยที่เป็นพระสูตร หรือ พระวินัย ก็ไม่พ้นไปจาก ความเป็นไปของธรรม ที่เป็นอภิธรรม จะประมวลว่า พระพุทธพจน์ทั้งหมดเพื่อให้เข้าใจความเป็นอภิธรรมของสภาพธรรม ก็ได้ ดังนั้น พระอภิธรรม ก็เป็นพระพุทธพจน์ด้วย เป็นพระธรรมคำสอน ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเพื่อให้เข้าใจความเป็นจริงของสภาพธรรม ในขณะนี้

ส่วนใหญ่เวลาได้ยินคำว่า อภิธรรม แล้วกลัวว่าจะเรียนไม่ได้ แต่แท้ที่จริงแล้ว อภิธรรม ก็คือ สิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าเป็นธรรม จึงหลงยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ ไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องใดก็ตาม ก็ไม่พ้นไปจากอภิธรรมเลย เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ความดี ความชั่ว เป็นต้น ล้วนเป็นธรรมที่มีจริง ที่เป็นอภิธรรม ทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่งๆ ที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เพราะฉะนั้น สำคัญที่การเริ่มต้น ด้วยการฟังด้วยการศึกษาพระธรรม เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปทีละเล็ก ทีละน้อย การศึกษาพระธรรมที่ถูกต้องนั้น ต้องไม่ใช่แบบวิชาการ แต่เป็นไปเพื่อขัดเกลา ละคลายกิเลส มีความเห็นผิด ความไม่รู้ เป็นต้น ซึ่งจะลืมจุดประสงค์นี้ไม่ได้ คือ อาศัยพระธรรมคำสอนที่เป็นพุทธพจน์ เพื่อจะได้ขัดเกลาละคลายกิเลส ของตนเอง อบรมเจริญปัญญาสะสมเป็นที่พึ่งต่อไป

พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงทั้งหมด เป็นเรื่องของการละตั้งแต่ต้น ละความไม่รู้ ละความหวังความต้องการ ถ้าคำสอนใดหรือหนทางไหน สอนเพื่อที่จะให้ได้ สอนให้ติดข้อง นั่นเท่ากับว่าเป็นการเพิ่มสมุทัย (เหตุแห่งทุกข์) คือความติดข้องต้องการ ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน รวมไปถึงสอนให้กระทำอะไร ด้วยความเห็นผิด ไม่รู้ หลงงมงาย นั่นก็ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่นเดียวกัน พระธรรมทั้งหมด ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก และ ขัดเกลาละคลายกิเลส เท่านั้น

เพราะฉะนั้นแล้ว กว่าจะได้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ตรงตามพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ก็ต้องเป็นการฟังด้วยการพิจารณาจริงๆ จึงจะสามารถรู้ในพระคุณที่ได้ทรงประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม ถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงพระธรรม โดยละเอียด โดยนัยประการต่างๆ ตลอด ๔๕ พรรษา ฟังแล้วก็ต้องฟังอีก แล้วก็ต้องมีการพิจารณาไตร่ตรองในสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟังซึ่งเป็นเรื่องยากมาก แต่ไม่เหลือวิสัย เพราะผู้ที่ได้รู้ความจริงตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีแล้ว นั่นก็คือ พระสาวกทั้งหลายในอดีต การอบรมเจริญปัญญา ต้องเป็นไปตามลำดับ จริงๆ ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ขาดการฟังพระธรรม เป็นปกติในชีวิตประจำวัน.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ