[คำที่ ๒๔o] อนวชฺช

 
Sudhipong.U
วันที่  31 มี.ค. 2559
หมายเลข  32360
อ่าน  580

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อนวชฺช

คำว่า อนวชฺช เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า อะ - นะ - วัด - ชะ] มาจากคำว่า (ไม่มี) แปลง เป็น อน กับคำว่า วชฺช (สิ่งที่มีโทษ, สิ่งที่ควรเว้น) รวมกันเป็น อนวชฺช แปลว่า สิ่งที่ไม่มีโทษ เป็นคำที่มีความหมายที่ลึกซึ้งมาก เพราะกล่าวถึงสภาพธรรมที่เป็นความดีทั้งหมด คือ กุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีโทษ ไม่นำมาซึ่งผลที่ไม่ดีเลยแม้แต่น้อย ไม่เป็นโทษทั้งกับตนเองและผู้อื่น และ ที่สำคัญ ความดีอย่างสูงสุด คือ กุศลธรรมที่เป็นขั้นโลกุตตระ ก็สามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น จนถึงความเป็นพระอรหันต์ ห่างไกลแสนไกลจากกิเลสโดยประการทั้งปวง

ข้อความจาก อรรถสาลินี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่ดีงาม ที่เป็นกุศล ว่า เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีโทษ ซึ่งตรงกันข้ามและแตกต่างจากสภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรมอย่างสิ้นเชิง ดังนี้ คือ

“กุศล มีความไม่มีโทษและมีวิบากเป็นสุขเป็นลักษณะ อกุศล มีโทษและมีทุกข์เป็นวิบาก เป็นลักษณะ”


ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ถูกคือถูก ผิดคือผิด ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะสภาพธรรมนั้น เกิดขึ้นเป็นจริงอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น จะเปลี่ยนสภาพธรรมอย่างหนึ่งให้เป็นอีกอย่างหนึ่งไม่ได้ เปลี่ยนเห็นให้เป็นได้ยิน ไม่ได้ เปลี่ยนความดีให้เป็นความชั่วไม่ได้ เปลี่ยนความชั่วให้เป็นความดีไม่ได้ เป็นต้น นี้คือ ความเป็นจริง พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เกื้อกูลให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมที่มีจริงตามความเป็นจริง ว่า เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน หาความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนในสภาพธรรมแต่ละหนึ่งๆ ไม่ได้เลย ชีวิตของแต่ละบุคคลที่ดำเนินไปในแต่ละวันๆ นั้น เป็นไปตามการสะสมอย่างแท้จริง ซึ่งมีทั้งดี และไม่ดี ที่กล่าวว่า ดี ก็เพราะธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เช่น ศรัทธา (ความผ่องใสแห่งจิต) หิริ (ความละอายต่อบาป) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อบาป) อโลภะ (ความไม่ติดข้อง) อโทสะ (ความไม่โกรธ) เป็นต้น ส่วนที่กล่าวว่า ไม่ดี ก็เพราะอกุศลธรรม มีโลภะ โทสะ โมหะ มานะ (ความสำคัญตน) มิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) เป็นต้น เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ นั่นเอง ซึ่งทั้งหมดก็เป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเลย สำหรับสิ่งที่ไม่ดี ที่เป็นอกุศลกรรม ที่เกิดแล้วเป็นไปแล้ว เป็นการกระทำที่เป็นโทษ ตรงกันข้ามกับกรรมที่เป็นกุศลอย่างสิ้นเชิง เมื่อได้กระทำอกุศลกรรมไปแล้ว ใครก็ไม่สามารถย้อนกลับไปตัดหรือลบล้าง ไม่ให้เป็นความไม่ดีได้ เพราะเป็นธรรมฝ่ายไม่ดีเกิดขึ้นเป็นไปแล้ว ความไม่ดี ก็ต้องเป็นความไม่ดี แต่สำหรับผู้ที่เห็นโทษของความไม่ดีแล้ว ก็สามารถขัดเกลา เริ่มต้นใหม่ สะสมในสิ่งที่ดีต่อไปได้ เป็นที่น่าพิจารณาว่า จะขัดเกลาละคลายสิ่งที่ไม่ดีได้อย่างไร? หนทางเดียวจริงๆ ที่จะค่อยๆ ขัดเกลาสิ่งที่ไม่ดีให้ลดน้อยลงได้ ก็ต้องด้วยคุณความดีเท่านั้น เพราะเหตุว่าอกุศลเป็นสิ่งที่จะประมาทไม่ได้เลยทีเดียว ยกตัวอย่าง ท่านพระเทวทัต เป็นถึงเจ้าชาย และได้ออกบวชในพระพุทธศาสนา ท่านก็ไม่เคยคิดว่าจะมีกิเลสมากจนถึงกับคิดที่จะปลงพระชนม์พระสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเกิดขึ้นเป็นไปได้อย่างไร ก็เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ตามการสะสมอย่างแท้จริง แสดงให้เห็นว่า กิเลส เป็นสิ่งที่ประมาทไม่ได้ แม้จะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม เพราะเหตุว่าจากเล็กๆ น้อยๆ นี้แหละ ที่สะสมไป ในที่สุดก็เป็นกิเลสที่มากได้ เพราะฉะนั้นแล้วเครื่องเกื้อกูลที่ดีที่สุดในชีวิต ก็คือ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ชีวิตของผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ได้อบรมเจริญปัญญา ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ดับกิเลสอะไรๆ เลย อกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดา แต่ก็มีปัญญาที่ค่อยๆ รู้ขึ้น เข้าใจขึ้นในความเป็นจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ว่าเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปแล้วก็ดับไป พร้อมทั้งเห็นโทษของอกุศลที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง แล้วมีความละอายมีความเกรงกลัวที่จะถอยกลับจากอกุศล ขัดเกลาให้เบาบางลง เพราะกิเลสของใครใครก็ขัดเกลาให้ไม่ได้ นอกจากอาศัยความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นจริงๆ เพราะถ้าไม่เริ่มขัดเขลาแล้ว นับวันก็ยิ่งจะพอกพูนสิ่งที่ไม่ดีมากขึ้น เป็นผู้ที่ห่างไกลแสนไกลจากความเป็นผู้ไม่มีโทษ เพราะบุคคลผู้ไม่มีโทษ กล่าวคือ ไม่มีอกุศลธรรมโดยประการทั้งปวง ก็คือ พระอรหันต์เท่านั้นพระอรหันต์ ไม่มีอกุศลธรรมใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย กาย วาจา ใจ ไม่เป็นไปกับด้วยโทษใดๆ ทั้งสิ้นเพราะดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้หมดสิ้นแล้วนั่นเอง ดังนั้น จะขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมไม่ได้เลย เพราะความเข้าใจพระธรรมจะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้น้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม เว้นจากสิ่งที่เป็นโทษได้ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก จะนำพาไปในทางที่ผิด.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ