[คำที่ ๒๔๓] อโมฆะ

 
Sudhipong.U
วันที่  21 เม.ย. 2559
หมายเลข  32363
อ่าน  503

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อโมฆ”

คำว่า อโมฆ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า อะ - โม - คะ] มาจากคำว่า (ไม่) แปลง น เป็น อ กับคำว่า โมฆ (ว่างเปล่า) รวมกันเป็น อโมฆะ แปลว่า ไม่ว่างเปล่า เป็นคำที่มีความหมายที่ลึกซึ้งมาก เช่น พระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่างเปล่าจากประโยชน์, คำถามที่ทูลถามต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นคำถามที่ไม่ว่างเปล่าจากประโยชน์, การบวช ถ้ามุ่งที่จะอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลส ก็เป็นการบวชที่ไม่ว่างเปล่าจากประโยชน์ เป็นต้น ในที่นี้จะขอกล่าวถึงในความหมายที่แสดงถึง ความเป็นจริงของชีวิตของผู้ที่เห็นประโยชน์ของความดีและการอบรมเจริญปัญญา สะสมในสิ่งที่ประเสริฐคือความดีทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งจะทำให้ชีวิตของผู้นั้นเป็นชีวิตที่ไม่เป็นโมฆะ เป็นชีวิตที่ไม่ว่างเปล่าจากประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ตามข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ว่า

"ทรัพย์เหล่านี้คือ ทรัพย์คือศรัทธา ๑, ทรัพย์คือศีล ๑, ทรัพย์คือหิริ (ความละอายต่ออกุศล) ๑, ทรัพย์คือโอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่ออกุศล) ๑, ทรัพย์คือสุตะ (การฟังพระธรรม) ๑, ทรัพย์คือจาคะ (การสละกิเลส) ๑, ปัญญา เป็นทรัพย์ที่ ๗ ย่อมมีแก่ผู้ใด จะเป็นหญิงก็ตาม เป็นชายก็ตาม บัณฑิตทั้งหลาย เรียกบุคคลนั้นว่า เป็นคนไม่ขัดสน ชีวิตของบุคคลนั้นไม่ว่างเปล่า (คือ ไม่เป็นโมฆะ) "


ทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ในโลกนี้ ถ้าจะพิจารณาจริงๆ แล้ว จะเห็นได้ว่า รูปร่างหน้าตา ชีวิตความเป็นอยู่ จนกระทั่งการได้ลาภ การเสื่อมลาภ การได้ยศ การเสื่อมยศ สุข ทุกข์ สรรเสริญ นินทา ล้วนแล้วแต่เป็นผลซึ่งเกิดจากเหตุ คือ กรรมในอดีตที่แตกต่างกัน เพราะเหตุว่าเหตุในอดีตที่ต่างกัน ทำให้ผลในปัจจุบันต่างกัน และไม่ใช่เพียงการได้รับผลของกรรมในปัจจุบันเท่านั้นที่แตกต่างกัน แม้เหตุคือกรรม (การกระทำ) ในปัจจุบัน ก็หลากหลายแตกต่างกัน ดีบ้าง ชั่วบ้าง มากน้อยตามการสะสมของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นความวิจิตรของจิต เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เพราะการกระทำทุกอย่างที่ต่างกันนี้เอง จึงเป็นเหตุทำให้เกิดผลข้างหน้าแตกต่างกันออกไปด้วย ตามสมควรแก่กรรม ความประพฤติเป็นไปของแต่ละคนในชีวิตประจำวัน ส่องถึงการสะสมได้อย่างแท้จริงว่า สะสมอะไรมาบ้าง ดี หรือ ไม่ดี อย่างไร

ความไม่ดีเกิดขึ้นเป็นไป ก็เรียกว่า เป็นคนพาล เป็นคนไม่ดี เป็นผู้ถูกอวิชชา (ความหลง ความไม่รู้) หุ้มห่อไว้ และ คนพาลได้ยินแต่อสัทธรรม ซึ่งไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงไม่รู้ ไม่เห็นสิ่งที่ควรเว้นหรือสิ่งที่ควรกระทำ จึงถือเอาผิดจากความจริง เพราะขาดปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก จึงไม่รู้ไม่เห็นตามความเป็นจริง การกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ ย่อมไม่ดีตามไปด้วย เป็นผู้ตายไปจากคุณความดี ทำทางให้ตนเองตกไปในภพภูมิที่เต็มไปด้วยความทุกข์ความเดือดร้อน คือ อบายภูมิ มี นรก เป็นต้น เป็นผู้ที่มีชีวิตที่ว่างเปล่าจากประโยชน์อย่างแท้จริง

ในทางตรงกันข้าม ความดี เกิดขึ้นกับบุคคลใด ก็เรียกบุคคลนั้น ว่า เป็นคนดี และคนดีที่ประเสริฐ คือ คนดีที่มีปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก บุคคลผู้มีปัญญา นั้น เป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงตรัสรู้ความจริง จึงได้รับการแนะนำในสิ่งที่ควรกระทำ และสิ่งที่ควรเว้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าเพราะได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงมีปัญญารู้ตามความเป็นจริงว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน จักทำกรรมใดไว้ดีหรือชั่วก็ตาม จะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น เพราะกระทำเหตุที่ดีย่อมได้รับผลที่ดี เพราะกระทำเหตุไม่ดี ย่อมได้รับผลที่ไม่ดี เหตุย่อมสมควรแก่ผล ตลอดจนถึงเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา เมื่อมีความเข้าใจถูกเห็นถูกอย่างนี้ จึงไม่ทำในสิ่งที่ไม่ดี ไม่เพิ่มโทษให้กับตนเอง มีแต่จะเพิ่มพูนสิ่งที่ดีให้มีมากขึ้นในชีวิตประจำวัน ขัดเกลากิเลสของตนเอง เป็นผู้มีความประพฤติที่ดีงามทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่น พร้อมทั้งมีความมั่นคงที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาต่อไป สะสมทรัพย์ที่ประเสริฐที่จะสะสมสืบต่อติดตามไปในภพหน้า จนกว่าความดีทั้งหลายจะถึงความสมบูรณ์พร้อม ชีวิตของผู้ที่มีปัญญา นั้น กล่าวได้ว่า เป็นชีวิตที่ไม่ว่างเปล่าจากประโยชน์ เป็นชีวิตที่ไม่เป็นโมฆะ เป็นชีวิตประเสริฐ เพราะในชาตินี้ได้สะสมความดีและอบรมเจริญปัญญา สะสมเป็นที่พึ่งต่อไปในภายหน้า นั่นเอง สิ่งสำคัญที่สุดที่ขาดไม่ได้เลย คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ