[คำที่ ๒๔๔] อสุทฺธิ

 
Sudhipong.U
วันที่  28 เม.ย. 2559
หมายเลข  32364
อ่าน  359

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ อสุทฺธิ

คำว่า อสุทฺธิ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า อะ - สุด - ทิ ] มาจากคำว่า (ไม่) แปลง เป็น กับคำว่า สุทฺธิ (ความสะอาด,ความบริสุทธิ์) รวมกันเป็น อสุทฺธิ แปลว่า ความไม่สะอาด,ความไม่บริสุทธิ์ มีความหมายที่ละเอียดลึกซึ้งมาก แสดงถึงความเป็นจริงของอกุศลธรรม ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่สะอาด ไม่บริสุทธิ์ ซึ่งเมื่อได้เหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เป็นธรรมที่มีจริงๆ ไม่นำมาซึ่งประโยชน์แก่ใครๆ ทั้งสิ้น ตราบใดที่ยังไม่สามารถดับกิเลสใดๆ ได้ ก็เป็นผู้ยังมีความไม่สะอาด ความไม่บริสุทธิ์อยู่, ความไม่สะอาด ไม่ใช่อยู่ที่รูปลักษณ์ภายนอก แต่เป็นเรื่องของอกุศลธรรม เท่านั้น ไม่ว่ารูปลักษณ์ภายนอกจะดูสกปรกหรือสะอาด แต่ถ้าอกุศลธรรมเกิดเมื่อใด ก็ไม่สะอาดไม่บริสุทธิ์ เมื่อนั้น ดังข้อความจาก สารัตถปกาสินี อรรถกถาสังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค คัททูลสูตร ว่า

“ก็สัตว์ทั้งหลาย แม้อาบน้ำดีแล้ว ก็ชื่อว่าเศร้าหมอง เพราะจิตเศร้าหมองนั่นแล แต่ว่า แม้ร่างกายจะสกปรก ก็ชื่อว่าผ่องแผ้วได้ เพราะจิตผ่องแผ้ว”

ข้อความจากพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท มีว่า

“บาปอันผู้ใดทำแล้วด้วยตนเอง ผู้นั้น ย่อมเศร้าหมองด้วยตนเอง บาปอันผู้ใดไม่ทำด้วยตนเอง ผู้นั้น ย่อมบริสุทธิ์ด้วยตนเอง ความบริสุทธิ์ ความไม่บริสุทธิ์ เป็นของเฉพาะตน คนอื่นทำคนอื่นให้บริสุทธิ์ไม่ได้”


แต่ละบุคคลที่เกิดมานั้น ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม กล่าวคือ จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต) และ รูป (สภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้) ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลส ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กิเลสเกิดขึ้นเป็นไป และถ้ามีกำลังมากก็สามารถล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่าง ๆ มีการประทุษร้าย เบียดเบียนผู้อื่นด้วยกาย ด้วยวาจา เป็นต้น และเป็นที่น่าพิจารณาอีกว่า แต่ละบุคคลสะสมกุศลมามาก เพราะความเป็นปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส ซึ่งได้สะสมมาอย่างยาวนานในสังสารวัฏฏ์ เมื่อได้ศึกษาพระธรรมแล้ว ก็จะค่อยๆ เห็นว่า ส่วนใหญ่แล้วชีวิตประจำวันจะเป็นไปกับอกุศลธรรม มากทีเดียว ด้วยโลภะบ้าง โทสะ บ้าง เป็นต้น ตลอดเวลาที่จิตไม่ได้เป็นไปในการให้ทาน ไม่ได้เป็นไปในศีล (คือ เว้นในสิ่งที่ควรเว้นและประพฤติในสิ่งที่ควรประพฤติ) และไม่ได้เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา จากการฟังธรรมศึกษาพระธรรม จิตก็จะเป็นอกุศลโดยส่วนใหญ่ ความไม่สะอาด ความไม่บริสุทธิ์เกิดแล้วในขณะนั้น ทุกครั้งที่อกุศลจิตเกิดขึ้นจะไม่ปราศจากกิเลสเลย ตามความเป็นจริงของอกุศลจิตประเภทนั้นๆ จึงเป็นธรรมดาและไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ที่อกุศลจิตจะเกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง อาจจะติดข้องมากๆ ก็ได้ อาจจะโกรธมากๆ ก็ได้ มีความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจาตามอำนาจของกิเลส เพราะยังไม่ได้ดับกิเลส นั่นเอง นี้คือความเป็นจริงของสภาพธรรม ซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

สภาพธรรมที่จะดับความไม่บริสุทธิ์ได้ทุกประเภทจริงๆ คือ ความเข้าใจพระธรรม เนื่องจากว่า อกุศล จะละอกุศล ไม่ได้ ก็ต้องเป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้นจริงๆ อย่างเช่นบุคคลผู้ที่เป็นพระอริยสงฆ์สาวกในอดีต ก่อนที่ท่านจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม นั้น บางท่านมีความติดข้องเป็นอย่างมาก แต่พอได้เข้าเฝ้าฟังพระธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยบารมี คุณความดีทั้งหลายทั้งปวงที่ได้สะสมมาก็ทำให้ได้ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง บรรลุธรรมขั้นสูงสุดถึงความเป็นพระอรหันต์ ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น หรือ บางบุคคล ก็เป็นคนโกรธง่าย มักโกรธ แต่พอได้ฟังพระธรรมจากพระองค์ ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ดับความโกรธได้อย่างเด็ด ไม่มีความโกรธทุกระดับเกิดขึ้นอีกเลย และในที่สุดแล้วก็จะบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ ห่างไกลแสนไกลจากกิเลสโดยประการทั้งปวง นี้คือ ประโยชน์ที่เกิดจากการได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นรากฐานที่สำคัญที่จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อการขัดเกลาความไม่สะอาดของจิต จนกระทั่งสามารถดับได้ในที่สุด

เพราะฉะนั้นแล้ว จึงขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมไม่ได้เลยจริงๆ ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพื่อให้พระธรรมขัดเกลาความไม่สะอาดในจิตใจของตนเองให้เบาบาง แล้วผลแห่งการเจริญปัญญาจะทำให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนเองด้วยการเห็นโทษของอกุศลธรรมทั้งหลาย มีโลภะ (ความติดข้อง) โทสะ (ความโกรธขุ่นเคืองใจ) โมหะ (ความหลง ความไม่รู้) เป็นต้น ตามความเจริญขึ้นของปัญญา และสามารถละคลายและดับอกุศลธรรมซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่สะอาด ไม่บริสุทธิ์ได้อย่างเด็ดขาดในที่สุด.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ