[คำที่ ๒๔๖] สํเวควตฺถุ

 
Sudhipong.U
วันที่  12 พ.ค. 2559
หมายเลข  32366
อ่าน  443

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ สํเวควตฺถุ

คำว่า สํเวควตฺถุ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า สัง - เว - คะ - วัด - ถุ] มาจากคำว่า สํเวค (ความสลดใจ,สังเวช,ปัญญาที่เกิดพร้อมกับความเกรงกลัวต่ออกุศลธรรม) กับคำว่า วตฺถุ (ที่ตั้ง) รวมกันเป็น สํเวควตฺถุ แปลว่า ที่ตั้งแห่งความสลดใจ, ที่ตั้งแห่งความสังเวช เขียนเป็นไทยได้ว่า สังเวควัตถุ ข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส แสดงถึงประเภทของสังเวควัตถุไว้ว่า

“สังเวควัตถุ ๘ ประการ คือ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ รวมเป็น ๔ ทุกข์ในอบายเป็นที่ ๕ ทุกข์มีวัฏฏะเป็นมูลในอดีตเป็นที่ ๖ ทุกข์มีวัฏฏะเป็นมูลในอนาคตเป็นที่ ๗ ทุกข์มีการแสวงหาอาหารเป็นมูลในปัจจุบันเป็นที่ ๘”.


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ซึ่งการที่จะมีความเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงได้นั้น ก็ต้องอาศัยแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส ที่ผู้เป็นสาวกจะต้องฟัง ต้องศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ ไม่ประมาทในแต่ละคำที่พระองค์ทรงแสดง เป็นการเข้าใจธรรมจากแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แม้แต่คำว่า สังเวควัตถุ ก็มีความละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง เป็นประโยชน์อย่างยิ่งถ้าได้มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม สะสมเป็นที่พึ่งต่อไปในภายหน้า ทำให้เป็นผู้มีชีวิตอยู่อย่างประเสริฐ

คำว่า สังเวช สังเวคะ หรือ ความสลดใจ นั้น ไม่ใช่ความหดหู่ใจ ไม่ใช่ความเศร้าโศกเสียใจ นี้จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่จะต้องฟังต้องศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบ เพราะเหตุว่า สังเวช หรือ สังเวคะ นั้น เป็นชื่อของปัญญา (ความเข้าใจถูกเห็นถูก) ที่เห็นโทษภัยของอกุศล เห็นโทษภัยของสังสารวัฏฏ์ตามความเป็นจริง ผู้ที่เกิดสลดสังเวช จะเป็นผู้ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ โดยมีที่ตั้งแห่งความสังเวช กล่าวคือ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย และ ความทุกข์ความเดือดร้อนในอบายภูมิ ความทุกข์ความเดือดร้อนในอดีตชาติที่ผ่านมาๆ และ ยังจะต้องมีความทุกข์ความเดือดร้อนต่อไปในอนาคตตราบใดที่ยังมีการเกิดอันเนื่องมาจากกิเลสที่ยังดับไม่ได้ หรือ แม้แต่ในการดำรงชีวิตในปัจจุบันการแสวงหาอาหารก็เต็มไปด้วยทุกข์ บางคนถึงกับทำอกุศลกรรมเพราะเหตุแห่งอาหาร ก็มี ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาเท่านั้นที่จะถึงความสลดใจเพราะขณะที่สลดใจ นั้น ปัญญาร่วมด้วย มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริง บุคคลผู้ที่มีปัญญา ย่อมเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงว่า ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น ย่อมไม่พ้นจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย และตราบใดที่ยังมีกิเลส ถ้าประมาทกำลังของกิเลส ทำอกุศลกรรมประการต่างๆ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดในอบายภูมิได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนมากมายแสนสาหัส จึงเป็นเครื่องเตือนใจที่ดีในชีวิตประจำวันให้เป็นผู้ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ และไม่ประมาทในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของความสลดสังเวช ซึ่งเป็นเรื่องของปัญญา เป็นเรื่องของกุศลธรรม เป็นการถอยกลับจากอกุศล ไม่ใช่การเศร้าโศกเสียใจแต่อย่างใด เพราะขณะที่เศร้าโศกเสียใจ เป็นอกุศล เป็นสภาพจิตใจที่เศร้าหมองไม่ผ่องใส ไม่ใช่ความสลดใจ

ชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เกิดมาเป็นมนุษย์ด้วยผลของกุศลกรรม แต่ถ้าอาศัยความประมาทเพียงนิดเดียว อาจจะเป็นเหตุให้ไปเกิดในอบายภูมิก็เป็นได้ และที่น่าพิจารณาคือแต่ละคนที่เกิดมาแล้ว นั้น ถ้ามีปัญญาเข้าใจถูกเห็นถูก ก็จะพิจารณาได้ว่า มีชาติ (ความเกิด) เกิดขึ้นขณะใด ย่อมนำมาซึ่งชรา (ความแก่) พยาธิ (ความเจ็บ) และ มรณะ (ความตาย) อย่างแน่นอน เป็นอย่างนี้วนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์อย่างไม่มีวันจบสิ้น ในบรรดาบุคคลที่เกิดมาในโลกนี้ ถ้าใครมีสติปัญญาก็จะเห็นได้จริงๆ ว่าไม่มีใครที่สามารถจะพ้นไปจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และ ความตาย ได้เลย เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วก็ย่อมจะเกิดความพยายาม มีความเพียรที่จะทำให้ถึงการพ้นจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตาย คือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสตามลำดับขั้น ด้วยการอบรมเจริญปัญญา ดำเนินตามหนทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ แม้ว่าเป็นสิ่งที่ยากที่จะถึง แต่ก็มีทางที่จะถึงได้ก็ด้วยการอบรมเจริญปัญญาไปตามลำดับนั่นเอง

เพราะฉะนั้น จึงควรอย่างยิ่งที่แต่ละคนจะเป็นผู้ไม่ประมาท ไม่ประมาทในชีวิตอันมีประมาณน้อย ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ และ ไม่ขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปตามลำดับในชีวิตประจำวัน เพราะกุศลธรรมทั้งหลาย และ ปัญญา เท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งที่แท้จริงสำหรับชีวิตของทุกคน.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ