[คำที่ ๒๔๘] โทสคฺคิ

 
Sudhipong.U
วันที่  26 พ.ค. 2559
หมายเลข  32368
อ่าน  519

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “โทสคฺคิ

คำว่า โทสคฺคิ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า โท - สัก - คิ มาจากคำว่า โทส (ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจ) กับคำว่า อคฺคิ (ไฟ,สภาพที่แผดเผาจิตใจ) รวมกันเป็น โทสคฺคิ แปลว่า ไฟคือโทสะ, สภาพที่แผดเผาจิตใจคือโทสะ เป็นคำที่กล่าวถึงสภาพธรรมที่มีจริง คือ โทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจความไม่พอใจ เมื่อเกิดขึ้น ก็ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ไม่สบายใจ และแผดเผาให้เร่าร้อน ตามเผาผลาญจิต อยู่ไม่เป็นสุข แผดเผาไม่ใช่เฉพาะชาตินี้เท่านั้น ตราบใดที่ยังไม่สามารถดับโทสะได้ ก็ยังเป็นผู้ถูกแผดเผาด้วยโทสะ ถ้าสะสมมีกำลังมากขึ้น ก็จะทำการประทุษร้าย เบียดเบียน ฆ่าผู้อื่นได้ เป็นธรรมฝ่ายที่ไม่ดีโดยส่วนเดียว ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ เลยแม้แต่น้อย ซึ่งจะเป็นผู้ประมาทกำลังของกิเลสไม่ได้เลย ข้อความจาก อัฏฐสาลินี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณีปกรณ์ ได้อธิบายความหมายของโทสะ ไว้ว่า

“ที่ชื่อว่า โทสะ โดยอรรถที่เป็นธรรมที่ประทุษร้าย หรือ เป็นเหตุให้ประทุษร้าย โทสะ นั้น มีความดุร้าย เป็นลักษณะ ราวกับอสรพิษที่ถูกตี มีความกระสับกระส่าย เป็นรสะ (กิจ) ราวกับถูกวางยาพิษ มีการประทุษร้ายเป็นอาการปรากฏ ราวกับข้าศึกศัตรูที่ได้โอกาส มีวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความอาฆาต เป็นเหตุใกล้ให้เกิด”


สิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรม ไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องใด ล้วนแล้วย่อมไม่พ้นไปจากธรรม แม้แต่ในเรื่องของโทสะหรือความโกรธ สามารถที่จะเกิดได้กับทุกบุคคลตราบใดที่ยังไม่ได้ดับโทสะได้อย่างเด็ดขาดถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย โทสะก็เกิดได้ เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ปกติในชีวิตประจำวัน แต่ละบุคคล ล้วนมีกุศลมากด้วยกันทั้งนั้น ทั้งความติดข้องยินดีพอใจ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจ ความริษยา เป็นต้น แต่ถ้าถึงกับที่จะต้องล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นนั้น ขณะนั้นแสดงให้เห็นถึงกำลังของกิเลสว่ามีมากอย่างยิ่ง

การที่บุคคลมีความประพฤติไม่ดี สร้างความเดือดร้อนให้เกิดแก่ผู้อื่น นั้น แท้ที่จริง ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย แต่เป็นเพราะกิเลสที่มีกำลังเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่เท่านั้น จึงเรียกว่าเป็นบุคคลผู้มีความประพฤติไม่ดี เมื่อพบเห็นหรือได้ทราบถึงความเป็นไปของบุคคลผู้ประพฤติไม่ดีเช่นนี้ จึงไม่ควรที่จะเพิ่มกิเลสให้กับตนเองด้วยการไปโกรธหรือผูกโกรธเขา เพราะขณะที่เราโกรธเขา ก็เป็นกุศลของเราเอง และที่สำคัญ ไม่ควรมองข้าม คือ เคยโกรธใคร เคยเกลียดใคร คนนั้นไม่ติดตามเราไปในภพหน้า แต่ความโกรธของเราติดตามไป เพราะเหตุว่า ขณะที่โกรธ มุ่งร้ายต่อผู้อื่นนั้น เป็นอกุศลของตนเองเท่านั้น ตนเองเท่านั้นที่ถูกอกุศลครอบงำ

ตามความเป็นจริงแล้ว บุคคล ผู้ควรโกรธ ไม่มี จะเห็นได้ว่า ไม่มีคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแม้แต่บทเดียวที่สอนให้โกรธ สอนให้โกรธตอบ หรือ สอนให้เป็นอกุศลแม้จะเล็กน้อย ไม่มีเลย มีแต่คำสอนที่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมประการต่างๆ ขัดเกลากิเลสซึ่งเป็นความไม่ดีทั้งหลาย จนกว่าจะสามารถดับได้จนหมดสิ้น

เป็นที่น่าพิจารณาจริงๆ ว่า โทสะ เป็นไฟที่แผดเผาจิตใจ เป็นข้าศึกภายในที่ประทุษร้ายทันทีที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นอย่างนี้มาตลอดระยะเวลาอันยาวนานในสังสารวัฏฏ์นั้น ความเป็นจริงแล้วเราไม่ได้ถูกใครประทุษร้ายเบียดเบียนเลย นอกจากโทสะซึ่งเป็นสภาพที่ประทุษร้าย ซึ่งเป็นกิเลสของเราเอง สำหรับโทสะที่ว่าเป็นข้าศึกภายในที่ประทุษร้ายทันทีที่เกิดขึ้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า ไม่มีอะไรที่สามารถที่จะกั้นข้าศึกนี้ได้เลย ถ้าจะพิจารณาแล้วข้าศึกภายนอกยังมีป้อมปราการเป็นเครื่องกั้น มีอาวุธต่างๆ เป็นเครื่องกั้น แต่ว่าโทสะซึ่งเป็นข้าศึกภายใน เกิดขึ้นเมื่อใดประทุษร้ายทันที หนีไม่ทัน เพราะเหตุว่าไม่มีเครื่องกั้นเลย

เมื่อเป็นเช่นนี้ สำหรับบุคคลผู้มีปัญญา ท่านย่อมเห็นโทษของโทสะ เข้าใจว่าโทสะเป็นอกุศลธรรมที่พึงละ ไม่ควรพอใจ ไม่ควรยินดีที่จะโกรธต่อไป เพราะเหตุว่าความโกรธแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เมื่อสะสมมากขึ้นก็อาจจะถึงขั้นผูกโกรธ พยาบาท เกลียดชัง แค้นเคือง ที่จะเป็นเหตุให้เกิดการประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่นทั้งทางกาย หรือทางวาจาในภายหน้า ได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีทั้งแก่ตนและผู้อื่นเลย

ดังนั้น พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเครื่องเตือนที่ดี แม้อกุศลพระองค์ก็ทรงแสดงเพื่อให้เห็นอกุศลตามความเป็นจริง พร้อมทั้งทรงแสดงโทษไว้ด้วย เตือนให้ไม่หลงผิดไปในทางที่ไม่ดี แต่ให้ตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย จึงควรอย่างยิ่งที่จะศึกษาและน้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วยความจริงใจ เพราะการได้เข้าใจพระธรรม ไม่มีความเสียหายเลยแม้แต่น้อย มีแต่ประโยชน์เท่านั้น นำมาซึ่งคุณความดีทั้งหลายทั้งปวง คล้อยตามปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้น.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ