[คำที่ ๒๕๑] สาธุ

 
Sudhipong.U
วันที่  16 มิ.ย. 2559
หมายเลข  32371
อ่าน  627

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ "สาธุ"

คำว่า สาธุ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า สา - ดุ] เขียนเป็นไทยตรงตัวได้ว่า สาธุ มีความหมายหลากหลายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมายถึง สิ่งที่ดี, ความดี, คนดี ดังข้อความจากชาตกัฏฐกถา อรรถกถา ขุททกนิกาย ชาดก อุมมาทันตีชาดก ว่า

“พระราชาผู้ชอบใจธรรม จึงจะดีงาม, นรชนผู้มีปัญญา เป็นคนดี, การไม่ประทุษร้ายต่อมิตร เป็นความดี, การไม่ทำบาป เป็นสุข”

ข้อความจาก ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน อานันทสูตร แสดงความต่างระหว่างคนดีกับคนชั่ว ไว้ดังนี้ คือ

“บทว่า สุกรํ สาธุนา สาธุ ความว่า ชื่อว่า คนดี เพราะยังประโยชน์ตนและประโยชน์ของสังคมให้สำเร็จ ได้แก่ ผู้ปฏิบัติชอบ, กรรมดี คือ กรรมงาม กรรมเจริญ อันนำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่ตนและสังคม อันคนดีนั้น คือ พระสาวกมีพระสารีบุตรเป็นต้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือ โลกิยสาธุชน (คนดีที่ยังไม่ถึงความเป็นพระอริยบุคคล) อื่น ทำได้โดยง่าย คือ สามารถเพื่อจะทำได้โดยง่าย. บทว่า สาธุ ปาเปน ทุกฺกรํ ความว่า ก็ กรรมดี มีลักษณะดังกล่าวแล้วนั้นนั่นแล อันคนชั่ว คือ ปาปบุคคล มีพระเทวทัต เป็นต้น ทำได้ยาก คือ ไม่สามารถจะทำได้ อธิบายว่า เขาไม่อาจจะทำกรรมดีนั้นได้. บทว่า ปาปํ ปาเปน สุกรํ ความว่า กรรมชั่ว คือ กรรมไม่ดี ได้แก่ กรรมที่นำความพินาศมาให้ทั้งแก่ตนและสังคม อันคนชั่ว คือ ปาปบุคคลตามที่กล่าวแล้ว ทำได้ง่าย คือ สามารถจะทำได้โดยง่าย. บทว่า ปาปมริเยหิ ทุกฺกรํ ความว่า ส่วนกรรมชั่วนั้นๆ อันพระอริยเจ้าทั้งหลาย คือ อันบัณฑิต มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น ทำได้ยาก คือ ไม่มีความยินดียิ่ง (ในความชั่ว) เป็นแดนเกิด.


ทุกคนที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นหนึ่งในสุคติภูมินั้น มีความเสมอกันโดยความที่มีนามธรรม และรูปธรรม กล่าวคือ มีจิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) และรูป (สภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้) เกิดขึ้นเป็นไป แต่ที่แตกต่างกัน คือ การสะสม และ การได้รับผลของกรรม แต่ละคนเป็นแต่ละหนึ่ง ไม่เหมือนกันเลย คนที่มีความประพฤติที่ไม่ดี เป็นคนชั่ว ขาดความละอาย ขาดความเกรงกลัวต่อบาป ขาดเมตตาความเป็นมิตรเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน เป็นต้น นั้น มีทุกยุคทุกสมัย ไม่ใช่เฉพาะในสมัยนี้เท่านั้น เมื่อกล่าวโดยสภาพธรรมแล้ว ก็เป็นแต่ธรรม คือ อกุศลธรรม เกิดขึ้นเป็นไปเท่านั้น ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน, คนที่เป็นคนดี มีความประพฤติที่ดีงาม คิดดี ทำดี และพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็มีทุกยุคทุกสมัยเช่นเดียวกัน เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ได้แก่ ธรรมฝ่ายดี คือ กุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน เราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงคนทั้งโลกให้มีความประพฤติที่ดีงามเหมือนกันทั้งหมดได้ เพราะย่อมขึ้นอยู่กับการสะสมของแต่ละบุคคล

สิ่งที่จะเป็นประโยชน์สำหรับแต่ละคน คือ ถึงแม้จะมีอกุศลมากมาย เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าได้เริ่มเห็นโทษของอกุศลขึ้นมาบ้าง จากการได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็ย่อมจะดีกว่าที่เป็นอกุศลแล้ว ไม่เห็นโทษ และ ไม่ยอมถอยกลับจากอกุศลเลย ที่จะเป็นผู้เห็นโทษของอกุศลและถอยกลับจากอกุศลได้ ต้องเป็นผู้ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ อกุศลที่สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ สะสมท่วมทับอย่างมากมาย จะค่อยๆ ละคลายให้เบาบางลงจนกระทั่งสามารถดับได้อย่างหมดสิ้นไม่มีเหลือเลย นั้น ก็ต้องด้วยปัญญา

เป็นที่น่าพิจารณาว่า บุคคลที่เป็นคนดี นั้น เป็นผู้ยังประโยชน์ของตน และยังประโยชน์ของสังคมส่วนรวมให้สำเร็จ เป็นผู้กระทำในสิ่งที่ดีงาม เป็นผู้มีจิตใจประกอบด้วยธรรมฝ่ายดี มีความละอาย มีความเกรงกลัวต่อบาป มีสติระลึกเป็นไปในความดีประการต่างๆ และที่สำคัญ มีปัญญาที่เข้าใจถูกเห็นถูกในธรรม ตามความเป็นจริง จึงทำความดีประการต่างๆ ทั้งในเรื่องของทาน การให้การสละแบ่งปันสิ่งที่มีประโยชน์เพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น การช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น การงดเว้นจากการกระทำในสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย และสะสมความดีที่ประเสริฐ คือ การฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เมื่อเป็นเช่นนี้ กรรมอันดี กรรมอันงาม กรรมอันเจริญ ซึ่งเป็นกรรมที่นำมาซึ่งประโยชน์สุขทั้งแก่ตนและแก่สังคมส่วนรวมนั้น คนดีทั้งหลาย ย่อมกระทำได้ง่าย คือ เป็นผู้สามารถที่จะกระทำได้ง่าย เพราะสะสมมาที่จะน้อมไปในทางที่ดีอยู่เสมอ ส่วนกรรมดีดังกล่าวนั้น คนชั่วย่อมทำได้ยาก คือ ไม่สามารถที่จะกระทำได้ เพราะไม่เห็นโทษของอกุศล ไม่เห็นคุณของกุศลและความชั่วทั้งหลาย ซึ่งเป็นกรรมไม่ดี นำมาซึ่งความพินาศเดือดร้อนทั้งแก่ตน และแก่สังคมส่วนรวม ย่อมเป็นสิ่งที่คนชั่วทำได้ง่ายมาก เคยชินต่อการที่จะเป็นคนชั่ว ส่วนผู้ที่เป็นคนดี ย่อมทำกรรมชั่วดังกล่าวได้ยาก เพราะคนดี ย่อมไม่ยินดีในการทำความชั่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลในแต่ละขั้น นั้น ท่านสามารถละกิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) ได้ตามลำดับ กิเลสใดๆ ที่ดับได้แล้ว จะไม่เกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ พระอริยบุคคลสูงสุด คือ พระอรหันต์ ห่างไกลแสนไกลจากกิเลสโดยประการทั้งปวง ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา จึงเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา อย่างแท้จริง เพื่อความเป็นผู้มีความประพฤติที่ดีงาม ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ให้รู้จักทำในสิ่งที่ควรทำ เว้นในสิ่งที่ควรเว้น ซึ่งจะเป็นเครื่องนำทางที่ดีในการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคล ทำให้เป็นคนคนดี เป็นเป็นสาธุชนที่แท้จริง และผลของการอบรมเจริญปัญญาสูงสุด คือ สามารถดับกิเลสได้อย่างหมดสิ้น ก็จะเห็นความน่าอัศจรรย์ของปัญญาได้ว่า สามารถดับกิเลสได้จนหมดสิ้นจากใจ เพราะฉะนั้นแล้ว ภาระหน้าที่ที่สำคัญที่สุดในชีวิต คือ สะสมความดีและฟังพระธรรมให้เข้าใจ สะสมเป็นที่พึ่งให้กับตนเองต่อไป เพราะการเดินทางในสังสารวัฏฏ์ยังอีกยาวไกลมาก ความดีและความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งได้อย่างแท้จริง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ