[คำที่ ๒๕๓] สปฺปุริส

 
Sudhipong.U
วันที่  30 มิ.ย. 2559
หมายเลข  32373
อ่าน  514

ภาษาบาลี ๑ คำ  คติธรรมประจำสัปดาห์  สปฺปุริส

คำว่า สปฺปุริส เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า สับ - ปุ - ริ - สะ] แปลว่า บุคคลผู้สงบ สัปบุรุษ หรือ สัตบุรุษ ไม่ว่าจะอยู่ในเพศใดก็ตาม ซึ่งคำว่า สงบ มีความหมายที่ลึกซึ้งมาก ไม่ได้มุ่งหมายถึงสถานที่ แต่หมายถึงผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจนสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น  สงบจากกิเลสที่ดับได้แล้ว แต่ก็ยังมีความหมายที่แสดงถึงความสงบในชีวิตประจำวัน ด้วย ซึ่งหมายถึงสภาพธรรมที่ดีงาม ได้แก่ ขณะที่กุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป โดยที่ในขณะนั้นก็สงบจากกุศล เป็นคนดีในขณะที่กุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป บุคคลผู้เป็นสัปบุรุษหรือสัตบุรุษสูงสุด คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า     

ข้อความจากธัมมปทัฏฐกถา อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท แสดงถึงความเป็นผู้มีความสงบ ไว้ว่า

ชื่อว่า ผู้มีกายสงบแล้ว เพราะความไม่มีกายทุจริตทั้งหลาย มีปาณาติบาต เป็นต้น, ชื่อว่า ผู้มีวาจาสงบแล้ว เพราะความไม่มีวจีทุจริตทั้งหลาย มีมุสาวาท เป็นต้น, ชื่อว่า ผู้มีใจสงบแล้ว เพราะความไม่มี มโนทุจริตทั้งหลาย มีอภิชฌา (ความเพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่น) เป็นต้น


สัปบุรุษ หมายถึง บุคคลผู้สงบ กล่าวคือ สงบจากกิเลส สามารถดับกิเลสได้จึงสงบจากกิเลส เป็นผู้ห่างไกลจากกิเลสที่ดับได้แล้ว จะเห็นได้ว่า  พระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงทั้งหมด นำไปสู่การที่จะดับกิเลสให้ถึงความเป็นผู้สงบ เพราะกิเลสทั้งหลาย ไม่สงบ  อย่างเช่น โลภะ ความติดข้องต้องการ เป็นสภาพธรรมที่ไม่สงบ แต่ว่าบางคนชอบนั่งคนเดียว ชอบอยู่คนเดียว ขณะนั้นไม่สงบเพราะขณะนั้นเป็นโลภะ นี้คือความจริง ที่จะต้องอาศัยพระธรรมเท่านั้นจึงจะรู้ได้จริง ๆ ว่าไม่ใช่เราคิดเอาเองว่าเราอยู่คนเดียว วันนี้ไม่มีใครมารบกวนเลย หรือว่าออกไปป่า นั่งอยู่ใต้ต้นไม้ก็จะคิดว่าสงบ ซึ่งความจริงไม่ใช่ความสงบเลยแม้แต่น้อย เพราะว่าถ้าสงบต้องสงบจากอกุศล ไม่ใช่ว่าการอยู่คนเดียว  ขณะที่ไม่สงบ นั้น ย่อมมีในขณะที่กุศลเกิดขึ้น โทสะ เกิดขึ้น ก็ไม่สงบ ทำให้จิตใจเดือดร้อนเร่าร้อน ความตระหนี่ ความริษยา  เกิดขึ้น ไม่สงบ กล่าวโดยประมวลแล้ว คือ อกุศลเกิดเมื่อใด ไม่สงบเมื่อนั้น

ชีวิตของแต่ละบุคคล ซึ่งเต็มไปด้วยกิเลสทั้งหลายทั้งปวง มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ย่อมไม่สงบเพราะมีกุศลธรรมเกิดขึ้นครอบงำกลุ้มรุมไม่ปล่อยให้เป็นกุศล เพราะตามความเป็นจริงแล้วขณะใดที่กุศลไม่เกิด ก็เป็นโอกาสที่อกุศลจะเกิดขึ้นเป็นไป ขณะใดที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นย่อมไม่สงบ ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆเลยแม้แต่น้อย แต่ในทางตรงกันข้าม ขณะใดที่กุศลธรรมเกิดขึ้น ขณะนั้นสงบจากกุศล เช่น ขณะที่ฟังพระธรรมเข้าใจ จิตเป็นกุศลมีปัญญาเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นก็สงบจากความไม่รู้ เพราะปัญญาเกิดขึ้นแทนกุศล ขณะที่มีความเป็นมิตรเป็นเพื่อนหวังดี ปรารถนาดีต่อผู้อื่น ขณะนั้น สงบ จากความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจ เป็นต้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความเป็นไปของจิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) และ เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) ว่า เมื่อจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ สำหรับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้รับแนะนำในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมมีความติดข้องยินดีพอใจรักชอบในอารมณ์ที่ดีน่าใคร่น่าพอใจ และย่อมมีความโกรธ ความเกลียดหรือความไม่พอใจในอารมณ์ที่ไม่ดี ที่ไม่น่าปรารถนา เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น แต่สำหรับอริยสาวกผู้ได้สดับ ได้รับแนะนำในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้อบรมเจริญปัญญาจนดับกิเลสได้เป็นลำดับขั้น สูงสุดถึงความเป็นพระอรหันต์ ท่านย่อมไม่รักและไม่มีความขุ่นเคืองใจในอารมณ์ที่มากระทบ ไม่มีกิเลสใด ๆ เกิดขึ้นเลย เป็นผู้มีใจที่สงบอย่างแท้จริง เป็นสัปบุรุษหรือสัตบุรุษ ซึ่งเป็นผู้ที่สงบจากกิเลสอย่างสิ้นเชิง 

ดังนั้น การมีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่จะค่อยๆ ละความติดข้องยินดีพอใจ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ รวมถึงอกุศลธรรมประการอื่นๆ ได้ตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ อวิชชา ความไม่รู้ที่สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ เป็นไปเพื่อสงบจากอกุศล ซึ่งจะเห็นว่าความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่จะทำให้ค่อยๆ เปลี่ยนจากการที่เป็นผู้มากไปด้วยอกุศล ให้เป็นผู้มีอกุศลลดน้อยลง แล้วก็เพิ่มพูนทางฝ่ายกุศลให้ยิ่งขึ้น  ค่อยๆ สงบจากอกุศลไปตามลำดับ จนกว่าจะสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น พระธรรมแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงนั้น มีค่ามหาศาล เป็นแสงสว่างที่ทำให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ฟังได้ศึกษา ไม่มีโทษใดๆเลยแม้แต่น้อย มีแต่คุณประโยชน์เท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงควรอย่างยิ่งที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ต่อไป เห็นประโยชน์สูงสุดของปัญญา เพราะปัญญาเท่านั้นที่จะนำพาชีวิตไปสู่ความดีทั้งปวง และเป็นสภาพธรรมที่จะดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวง ทำให้ถึงความเป็นผู้สงบจากกิเลสได้ในที่สุด.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ