[คำที่ ๒๕๖] กณฺหธมฺม

 
Sudhipong.U
วันที่  21 ก.ค. 2559
หมายเลข  32376
อ่าน  285

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ กณฺหธมฺม

คำว่า กณฺหธมฺม เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า กัน - หะ - ดำ - มะ] มาจากคำว่า กณฺห (ดำ) กับคำว่า ธมฺม (สิ่งที่มีจริง,ธรรม) รวมกันเป็น กณฺหธมฺม แปลว่า ธรรมฝ่ายดำ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่เป็นฝ่ายอกุศล เพราะเมื่อใดก็ตามที่อกุศล เกิดขึ้น จิตจะผ่องใสไม่ได้ มีแต่ความเศร้าหมอง มัวหมอง ไม่ผ่องใส กุศลเกิดไม่ได้ในขณะนั้น ตามข้อความจาก มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ว่า

“อกุศลธรรมทั้งหมด เป็นธรรมฝ่ายดำทั้งนั้น ด้วยว่า จิตย่อมผ่องใสไม่ได้ เพราะอกุศลธรรมเหล่านั้นเกิดขึ้น”


ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส กิเลสยังดับไม่ได้ กิเลสยังไม่หมดไปทั้งโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ก็ยังเป็นผู้ที่ยังมากไปด้วยขณะที่ไม่ประเสริฐ คือ ขณะที่อกุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดำ และทุกขณะที่อกุศลเกิดขึ้นนั้น ขณะนั้น มีความไม่ละอาย มีความไม่เกรงกลัวต่อบาป มีความไม่รู้เป็นต้น เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่แล้วในขณะนั้น และยิ่งเป็นอกุศลที่มีกำลังถึงขั้นที่ล่วงเป็นทุจริตกรรม มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น เป็นต้น ก็เป็นโทษที่จะทำให้เกิดผลที่ไม่ดีในภายหน้าอีกด้วย

เป็นความจริงที่ว่าแม้จะได้ฟังพระธรรมมาบ้างและมีความเข้าใจด้วยว่า ทุกอย่างเป็นธรรม โลภะ โทสะ โมหะ เป็นอกุศลธรรม ทั้งหมดก็เป็นธรรม และสามารถบอกได้ว่า อกุศลธรรม เป็นธรรมฝ่ายไม่ดี เป็นธรรมฝ่ายดำ ควรละ แต่ก็ยังละไม่ได้ นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ถ้ายังไม่เข้าใจว่าธรรมเป็นอนัตตาจริงๆ ก็ไม่มีทางที่จะละโลภะ โทสะ โมหะ และ อกุศลธรรมใดๆ ได้เลย ทั้งหมดทั้งปวงนั้น ต้องเป็นความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ ความเข้าใจถูก เห็นถูก คือ ปัญญา สามารถทำให้อกุศลธรรมที่เคยมี ค่อยๆ ลดน้อยลงไปได้ และสามารถดับได้ในที่สุด ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีต ก่อนที่ท่านจะได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ นั้น กิเลสอกุศลธรรมที่ท่านได้สะสมมา ก็เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย หลากหลายตามการสะสมของแต่ละบุคคล แต่เพราะความสมบูรณ์พร้อมของปัญญา อันเกิดจากการอบรม ก็สามารถดับกิเลสได้ตามลำดับ และกิเลสที่ดับได้แล้ว ก็ไม่เกิดอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ นี้คือ ผลสูงสุดของการอบรมเจริญปัญญา

ในชีวิตประจำวัน ประโยชน์ของการมีชีวิต ซึ่งไม่สามารถที่จะทราบได้ว่าจะละจากโลกนี้ไปเมื่อใด คือ เพื่ออบรมเจริญปัญญา จากที่ไม่เคยเข้าใจความจริง จากที่เต็มไปด้วยความมืด คือ อวิชชา และอกุศลธรรมทั้งหลาย ก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง ยิ่งขึ้น เมื่อมีปัญญาเจริญขึ้น ก็จะทำให้เป็นผู้มีชีวิตที่ดำเนินไปด้วยปัญญาตามที่ตนมี จากที่เคยมากไปด้วยอกุศลประการต่างๆ มากมาย มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ก็เป็นผู้มีกุศลที่เพิ่มขึ้น ปัญญา ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เข้าใจถูก เห็นถูก นี้เอง จึงเป็นเครื่องนำทางชีวิตที่ดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะปัญญานำไปในกิจทั้งปวง ที่เป็นกุศลธรรม

เพราะเหตุว่าบุคคลผู้มีปัญญา ย่อมรู้ว่า อะไรควร อะไรไม่ควร แล้วน้อมประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องยิ่งขึ้น ละทิ้งในสิ่งที่ผิด ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ จึงเป็นเครื่องนำทางชีวิตที่ดี ว่า สิ่งนี้ท่านควรทำ สิ่งนี้ท่านไม่ควรทำ สิ่งนี้ควรอบรมให้เจริญมากขึ้น เป็นต้น เพราะปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้นนั่นเอง ซึ่งมีแต่คุณประโยชน์โดยส่วนเดียว ดังนั้น สิ่งที่ประเสริฐสำหรับทุกชีวิต และเป็นที่พึ่งได้โดยตลอด ก็คือ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก แล้วปัญญาจะมาจากไหน ปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นเองลอยหรือตามใจชอบ แต่ต้องอาศัยเหตุ คือ การฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ขาดการฟัง ไม่ขาดการพิจารณาไตร่ตรองพระธรรม ไม่ประมาทในพระธรรมแต่ละคำที่ได้ยินได้ฟัง เพราะพระธรรม เป็นสิ่งที่ล้ำค่า เป็นสิ่งที่ประเสริฐ ทำให้ผู้ศึกษาได้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ตามความเป็นจริง เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายธรรมฝ่ายดำ คือ อกุศลธรรมทั้งหลาย จนกว่าจะสามารถดับได้หมดสิ้นในที่สุด ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการอบรมเจริญปัญญาอย่างแท้จริง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ