[คำที่ ๒๕๗] อาปตฺติ

 
Sudhipong.U
วันที่  28 ก.ค. 2559
หมายเลข  32377
อ่าน  452

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ "อาปตฺติ"

คำว่า อาปตฺติ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า อา - ปัด - ติ] เขียนเป็นไทยได้ว่า อาบัติ หมายถึง การล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ มีโทษสำหรับผู้นั้น โดยศัพท์หมายถึง การต้อง ซึ่งก็คือ การล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติที่เป็นสิกขาบท (บทที่จะต้องศึกษา) ข้อต่างๆ นั่นเอง ตามข้อความจาก สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัยปิฎก ว่า

ชื่อว่า อาบัติ เพราะเป็นวีติกกมะ (การก้าวล่วง) ที่จะพึงต้อง [โดยความหมายคือ การก้าวล่วงพระวินัยบัญญัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ซึ่งจะมีโทษเกิดขึ้น] __________________________

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ไม่ได้จำกัดอยู่ที่เพศใดเพศหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ขึ้นอยู่กับการสะสมมาของแต่ละบุคคลว่าจะอบรมเจริญปัญญาในเพศใด คฤหัสถ์หรือบรรพชิต เพราะถ้าบวชเป็นภิกษุซึ่งเป็นเพศบรรพชิตแล้ว จะมีความประพฤติแตกต่างจากคฤหัสถ์อย่างสิ้นเชิง เพราะภิกษุ คือ ผู้ที่เห็นโทษเห็นภัยของกิเลส สละอาคารบ้านเรือน ทรัพย์สมบัติ วงศาคณาญาติ เพื่อศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสในเพศที่สูงยิ่ง ที่จะต้องมีชีวิตที่เหมาะควรแก่เพศของตน จะมาทำอะไรหรือมีอะไรต่างๆ เหมือนอย่างคฤหัสถ์ ไม่ได้เลย ยกตัวอย่างบุคคลในสมัยพุทธกาล เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วเห็นประโยชน์ของการขัดเกลากิเลสเพราะท่านสะสมมาที่จะเห็นโทษของกิเลส เป็นผู้ที่จริงใจที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิตซึ่งสูงกว่าเพศคฤหัสถ์ เห็นโทษของกิเลสว่าเป็นสิ่งที่ละยาก และสะสมอัธยาศัยใหญ่ที่จะสละ ละทุกอย่างที่เคยติดข้อง เพื่อเข้าใกล้ความสงบจากกิเลส นี้คือ จุดประสงค์ของการบวชเป็นภิกษุ ไม่ใช่เพื่อจุดประสงค์อื่นใดทั้งสิ้น และที่สำคัญ ภิกษุทุกรูปทุกยุคทุกสมัย ต้องเคารพในพระวินัยบัญญัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ซึ่งจะต้องศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจ น้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกต้อง ละเว้นในสิ่งที่ผิดที่ขัดต่อความประพฤติเป็นไปของภิกษุอันเป็นเพศที่สูงยิ่ง แต่ถ้าเป็นผู้ไม่ละอาย ไม่มีความจริงใจในการขัดเกลากิเลส มีการล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ก็เป็นผู้ต้องอาบัติ มีโทษตามพระวินัย

อาบัติมีโทษ ๒ สถาน คือ อาบัติมีโทษอย่างหนัก (ครุกาบัติ) เมื่อต้องเข้าแล้วขาดจากความเป็นภิกษุทันที ที่เรียกว่าปาราชิก ได้แก่เสพเมถุน (มีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะทางทวารหนัก ทางทวารเบา และทางปาก หรือแม้กระทั่งกับสัตว์ดิรัจฉาน ก็เป็นอาบัติปาราชิก) ลักขโมยของของผู้อื่นอันมีราคาได้ ๕ มาสกขึ้นไป (ราคา ๕ มาสก พิจารณาด้วยการเทียบน้ำหนักทองคำกับข้าวเปลือก ๒๐ เมล็ด คือเอาข้าวเปลือก ๒๐ เมล็ดมาชั่ง ได้น้ำหนักเท่าไหร่ น้ำหนักทองคำเท่านั้นตีเป็นเงินออกมา) ฆ่ามนุษย์ และ อวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน

อาบัติมีโทษหนักอีกอย่างหนึ่ง คือ คือ สังฆาทิเสส เมื่อต้องเข้าแล้ว ต้องประพฤติวัตรตามพระวินัยที่เรียกว่า วุฏฐานวิธี ต้องอาศัยคณะสงฆ์ จึงจะพ้นจากอาบัตินี้ได้ ตัวอย่างอาบัติสังฆาทิเสส เช่น ภิกษุมีจิตกำหนัด (ความใคร่) จับต้องกายหญิงต้องอาบัติสังฆาทิเสส ภิกษุพูดเกี้ยวหญิง (พาดพิงการเสพเมถุน) ต้องอาบัติสังฆาทิเสส เป็นต้น

ส่วนอาบัติที่มีโทษเบา (ลหุกาบัติ) ต้องแสดงความผิดของตนต่อหน้าภิกษุด้วยกัน ที่เรียกว่า แสดงอาบัติ อันเป็นการแสดงถึงความจริงใจในการสำรวมระวังต่อไป จึงจะพ้นจากอาบัตินั้นได้ ตัวอย่างอาบัติเบาที่พอจะแก้ไขได้ด้วยการแสดงอาบัติ เช่น ภิกษุบริโภคอาหารในเวลาวิกาล (หลังเที่ยง) ฉันอาหารโดยที่ไม่ได้รับประเคน เป็นต้น แต่ก็มีส่วนละเอียดที่จะได้พิจารณาตามพระวินัย คือ การแสดงอาบัติในบางสิกขาบท ต้องสละวัตถุสิ่งของนั้นก่อนจึงจะแสดงอาบัติได้ เช่น กรณีภิกษุรับเงินและทอง ก็ต้องสละเงินทองนั้นก่อน จึงจะแสดงอาบัติและพ้นจากอาบัติได้

นอกจากนั้นแล้ว อาบัติ ยังจำแนกเป็นอาบัติที่แก้ไขไม่ได้ (อเตกิจฉา) กับ อาบัติที่แก้ไขได้ (สเตกิจฉา) โดยที่อาบัติปาราชิก เป็นอาบัติที่แก้ไขไม่ได้ เพราะขาดจากความเป็นภิกษุ ในชาตินั้นไม่สามารถกลับมาบวชเป็นภิกษุได้อีก ส่วนอาบัตินอกจากปาราชิกแล้ว เป็นอาบัติที่แก้ไขได้ ยังไม่หมดความเป็นภิกษุ

พระวินัยบัญญัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เป็นสิกขาบทต่างๆ นั้น มีมาก การต้องอาบัติแต่ละข้อก็มีโทษทั้งนั้น มีทั้งหนักและเบา ซึ่งไม่ว่าจะหนักหรือเบา ก็เป็นโทษด้วยกันทั้งนั้น เพราะเหตุว่า พระวินัยบัญญัติ นั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุโดยประการทั้งปวง ทำให้มีการงดเว้นในสิ่งที่เป็นโทษไม่เหมาะไม่ควร และ น้อมประพฤติในสิ่งที่พระองค์ทรงอนุญาต เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง เป็นสำคัญ เพราะเพศบรรพชิตเป็นเพศที่จะต้องขัดเกลากิเลสเป็นอย่างยิ่ง ถ้าย่อหย่อน ไม่สำรวมตามสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ มีการต้องอาบัติประการต่างๆ ย่อมทำให้ตกไปจากคุณความดี ตกไปจากการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม และ ตกจากสุคติภูมิไปสู่อบายภูมิ ด้วย ถ้าต้องอาบัติแล้ว ไม่ได้กระทำคืนกล่าวคือ ไม่ได้แก้ไขให้ถูกต้องตามพระวินัย หากมรณภาพลงในขณะที่ยังปฏิญาณตนว่าเป็นพระภิกษุอยู่ ก็เป็นผู้มีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้า คือ ชาติถัดจากชาตินี้ไป ต้องเกิดในอบายภูมิเท่านั้น ภิกษุก็เกิดในอบายภูมิได้ แต่ถ้าได้มีการศึกษาพระธรรมวินัยด้วยความละเอียดรอบคอบแล้ว ก็จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกุลให้รักษาพระวินัยได้ดียิ่งขึ้น ไม่มีโทษเลยกับการได้เข้าใจพระธรรมวินัย เพราะทำให้ได้รู้ว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก แล้วละเว้นในสิ่งที่ผิด กระทำในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งจะต่างจากผู้ที่ไม่ได้ศึกษา ไม่มีความเข้าใจอย่างสิ้นเชิง

ความเป็นบรรพชิต ถ้ารักษาเป็นอย่างดี ไม่ล่วงละเมิดสิกขาบท พร้อมทั้งมีความจริงใจที่จะฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเอง คุณประโยชน์ก็จะเกิดมีกับผู้นั้น เป็นผู้ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงจากการบวชเป็นภิกษุ ตามอัธยาศัยที่สะสมมาที่สละเพศคฤหัสถ์มุ่งสู่เพศที่สูงยิ่งคือบรรพชิต แต่ถ้ารักษาไม่ดี ย่อหย่อนในพระธรรมวินัย ต้องอาบัติในข้อต่างๆ เป็นผู้ประมาท ไม่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ ไม่เห็นคุณของความเป็นบรรพชิตจริงๆ คือ ความเป็นผู้เว้นทั่ว เว้นจากบาปธรรม เว้นจากเครื่องติดข้องอย่างที่คฤหัสถ์มี โทษก็ย่อมเกิดแก่ผู้นั้น สามารถทำให้เกิดในอบายภูมิได้ ซึ่งน่ากลัวเป็นอย่างมาก

และที่สำคัญคฤหัสถ์ที่เข้าใจพระธรรมวินัย ก็จะเกื้อกูลไม่ให้ภิกษุท่านต้องอาบัติ เพราะคฤหัสถ์สามารถทำในสิ่งที่เหมาะควรดูแลพระภิกษุได้ แต่ไม่ใช่การทำให้ภิกษุต้องอาบัติ เช่น ให้เงินทองแก่ภิกษุ เป็นต้น เพราะฉะนั้นแล้ว การมีโอกาสได้ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง เป็นประโยชน์ตนและสามารถทำประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ด้วย เป็นการรักษาพระพุทธศาสนาด้วยความเข้าใจถูกของแต่ละบุคคล.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ