[คำที่ ๒๕๙] โสรจฺจ

 
Sudhipong.U
วันที่  11 ส.ค. 2559
หมายเลข  32379
อ่าน  775

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “โสรจฺจ

คำว่า โสรจฺจ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า โส - รัด - จะ] เขียนเป็นไทยได้ว่า โสรัจจะ แปลว่า ความสงบเสงี่ยม เป็นเรื่องของสภาพธรรมฝ่ายดีที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ สงบเสงี่ยมทางกาย ทางวาจา ทางใจ ด้วยสภาพจิตที่ดีงาม ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอย่างยิ่ง  ขณะที่กุศลจิตเกิดก็สงบเสงี่ยม และ ความสงบเสงี่ยมอย่างสูงสุด คือ ถึงความเป็นพระอรหันต์ดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น  ข้อความจาก สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร แสดงความหมายของโสรัจจะ ไว้ดังนี้ ว่า 

“คำว่า โสรจฺจํ ได้แก่ ความสงบเสงี่ยม ที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า "บรรดาธรรมเหล่านั้น โสรัจจะ คือ อะไร?  คือ ความไม่ล่วงล้นออกมาทางกาย ความไม่ล่วงล้นออกมาทางวาจา ความไม่ล่วงล้นออกมาทางกายและวาจา นี้เรียกว่า โสรัจจะ แม้ศีลสังวร (ความสำรวมด้วยศีล) ทั้งหมด ก็จัดว่าเป็น โสรัจจะ”

ข้อความจาก สารัตถปกาสินี อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อิสสัตถสูตร มีว่า

บทว่า โสรจฺจํ ได้แก่ พระอรหัต (ความเป็นพระอรหันต์)


ความสงบเสงี่ยม เป็นเรื่องของกุศลธรรม เป็นธรรมที่ดีงามที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ตามความเป็นจริงเป็นสิ่งที่น่าพิจารณาว่า ทุกคนมีการสะสมมาต่างกัน หลากหลายมากตามอัธยาศัยทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา เพราะฉะนั้น ก่อนฟังธรรม ก่อนจะเข้าใจธรรม สงบเสงี่ยมบ้างตามความเป็นไปของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ได้ล่วงทุจริตกรรมใดๆ คือ ไม่ได้ได้ฆ่าสัตว์ ไม่ได้ลักทรัพย์ ไม่ได้ประพฤติผิดในกาม ไม่ได้พูดเท็จหลอกลวงผู้อื่น เป็นต้น แต่ถ้าล่วงทุจริตกรรมเมื่อไหร่ ก็แสดงถึงความชัดเจนว่าขณะนั้นไม่สงบเสงี่ยมอย่างแน่นอน แต่ถ้าตราบใดไม่ได้ล่วงทุจริตกรรม ทั้งทางกาย ทางวาจา ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ขณะนั้นสงบเสงี่ยมตามควร แม้ยังมีโลภะ ยังมีโทสะ ยังมีโมหะ ยังมีกิเลสอยู่ครบ แต่ก็ไม่ได้ทำความเดือดร้อนใดๆ ให้กับบุคคลอื่น ขณะนั้นกาย วาจาก็สงบเสงี่ยมตามควร เพราะว่าอกุศลก็มีตั้งแต่ขั้นร้ายแรง คือ ประทุษร้ายบุคคลอื่นด้วยกาย ด้วยวาจา ตราบใดที่ยังไม่เป็นอย่างนั้น ก็สงบเสงี่ยมจากการล่วงทุจริตกรรม แต่ขณะนั้นบุคคลนั้นก็จะรู้เมื่อได้ศึกษาพระธรรมแล้ว ว่า ยังไม่พอ เพราะเหตุว่าเพียงแค่ไม่กระทำทุจริตกรรม แต่ใจคิดเบียดเบียนบุคคลอื่นบ้างหรือไม่ และขณะนั้นใจสงบหรือเปล่าที่แม้คิดไม่ดีกับบุคคลอื่น ขณะใดที่มีอกุศลแต่ไม่มีกำลังที่จะแสดงความไม่สงบเสงี่ยมทางกาย ทางวาจา ทั่วๆ ไปเราก็เห็นว่าคนนั้นเรียบร้อยสงบเสงี่ยม ตามอัธยาศัยที่สะสมมาต่างๆกัน แต่มากกว่านั้นก็คือขณะใดที่กุศลจิตเกิด กายและวาจาดีขึ้น จากการไม่มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่บุคคลอื่น ไม่ใส่ใจในสุขทุกข์ของคนอื่นเลย คิดถึงแต่ประโยชน์ของตน ขณะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่กุศล แต่เวลาที่กุศลเกิดเปลี่ยนแล้วจากความประพฤติเป็นไปที่ไม่ดีอย่างนั้น ทำให้มีการคิดถึงบุคคลอื่น ใส่ใจความสุขความทุกข์ของบุคคลอื่น มีอะไรที่จะช่วยได้ ที่จะเป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น ก็ช่วยเหลือ กายวาจาก็เปลี่ยนจากการที่ไม่เคยสนใจบุคคลอื่น ก็จะค่อยๆ ดีขึ้น ซึ่งเป็นคนละขณะกัน เพราะฉะนั้น อกุศลที่มีกำลังทำให้ล่วงทุจริตกรรม เห็นชัดว่าคนนั้นไม่สงบเสงี่ยมเลย ที่มีการประทุษร้ายผู้อื่น  จะด้วยกาย หรือ ด้วยวาจาก็ตาม ขณะนั้นก็เห็นความไม่สงบเสงี่ยม แต่เวลาที่สงบเสงี่ยมกว่านั้น คือ เป็นกุศลด้วย กายวาจาก็สงบเสงี่ยมขึ้น ซึ่งยังไม่พอ  เพราะถ้าตราบใดที่จิตยังเป็นอกุศล ขณะนั้นไม่สงบเสงี่ยมด้วยอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ 

ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่เรา หรือไม่ใช่ใครทั้งหมด เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น แล้วก็ดับไป โกรธเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย เป็นโกรธ เปลี่ยนโกรธให้เป็นเมตตาไม่ได้  แต่โกรธไม่ใช่เรา ไม่ใช่ใคร เป็นธรรมอย่างหนึ่งซึ่งมีจริง ความติดข้องต้องการมีจริง เป็นธรรมอย่างหนึ่งซึ่งมีจริง เปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ สภาพธรรมอื่นๆ ก็เป็นจริงๆ แต่ละหนึ่งซึ่งไม่ปะปนกัน ความจริงเป็นอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น ความเข้าใจถูกจนสามารถสงบเสงี่ยมจากความเห็นผิดก็เป็นอีกขั้นหนึ่ง จึงต้องเป็นเรื่องของจิตใจที่จะรู้ได้ว่า สงบเสงี่ยมแค่ไหนตามความเป็นจริง กว่าจะถึงความเป็นพระอริยบุคคลในระดับขั้นต่างๆ ก็ต้องสงบอย่างมาก จากปุถุชน (ผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส) เป็นกัลยาณปุถุชน (ปุถุชนที่ดีงาม มีการเจริญกุศล ฟังพระธรรมอบรมเจริญปัญญา สะสมความดีในชีวิตประจำวัน) และเป็นผู้เข้าใจสภาพธรรมตามลำดับ จนกระทั่งค่อยๆ ละคลายความยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ความสงบเสงี่ยมก็เพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องมีปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก ซึ่งสามารถเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ทำให้สงบเสงี่ยมจากอกุศลได้ จนกระทั่งดับเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) ไม่เกิดอีกเลย ทั้งหมดทั้งปวงนั้น จะขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้เลย เพราะการได้ฟังคำจริงในแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ซึ่งเป็นคำที่ควรค่าแก่การฟังเป็นอย่างยิ่ง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ