[คำที่ ๒๖o] สงฺคห

 
Sudhipong.U
วันที่  18 ส.ค. 2559
หมายเลข  32380
อ่าน  728

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  “สงฺคห

คำว่า สงฺคห เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า สัง - คะ - หะ] เขียนเป็นไทยได้ว่า สงเคราะห์ หมายถึง การช่วยเหลือเกื้อกูล การสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน เป็นธรรมฝ่ายดีที่เกิดขึ้นเป็นไปได้ในชีวิตประจำวัน ตามการสะสมของแต่ละบุคคลว่าจะเห็นประโยชน์ของกุศลธรรมมากน้อยแค่ไหน เพราะถ้ากุศล ความดีไม่เกิด ก็เป็นโอกาสที่อกุศลคือความชั่วจะเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์เลยสำหรับอกุศล

ข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต สังคหวัตถุสูตร แสดงธรรมที่เป็นเครื่องสงเคราะห์ซึ่งกันและกันไว้ ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สังคหวัตถุ (ธรรมที่เป็นเครื่องสงเคราะห์) ๔ ประการนี้ สังคหวัตถุ ๔ ประการ คืออะไร? คือ ทาน (การให้) ๑ เปยยวัชชะ [หรือ ปิยวาจา] (เจรจาไพเราะ) ๑  อัตถจริยา (บำเพ็ญประโยชน์ต่อกัน) ๑ สมานัตตตา (ความเป็นผู้มีตนเสมอ) ๑ นี้แล ภิกษุทั้งหลาย    สังคหวัตถุ ๔ ประการ


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงทั้งหมด  ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย แต่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน แม้แต่ในเรื่องการสงเคราะห์ช่วยเหลือเกื้อกูล ก็ไม่ได้จำกัดที่จะสงเคราะห์แต่เฉพาะญาติ แต่ก็ไม่ให้ละเลยการสงเคราะห์ญาติ  ซึ่งจะเห็นได้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเกื้อกูลแก่สัตว์โลก ไม่ใช่แต่เฉพาะพระญาติ หรือแม้แต่พระสงฆ์สาวกก็เหมือนกัน ไม่ได้สงเคราะห์แต่เฉพาะบุคคลผู้เป็นญาติเท่านั้น แต่ว่าขณะใดที่สามารถจะสงเคราะห์ญาติได้ โดยฐานะของความเป็นญาติ ท่านก็ไม่ละเลยโอกาสเหมือนกัน อย่างท่านพระสารีบุตร ท่านกลับไปปรินิพพานที่บ้านเกิดของท่าน เพื่อแสดงธรรมเกื้อกูลแก่มารดาของท่านจากที่เคยยึดถือผิดมีความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง จนสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระโสดาบันเป็นผู้มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา ได้ แต่สังสารวัฏฏ์ยาวนานมาก มารดาในอดีตชาติก่อนๆ ของท่านพระสารีบุตร เกิดเป็นเปรตที่หิวกระหาย ท่านพระสารีบุตรก็ได้ให้ทานคือถวายข้าว น้ำ และผ้า แก่ภิกษุรูปหนึ่ง แล้วอุทิศความดีไปให้มารดาในอดีตของท่านด้วย การสงเคราะห์ญาตินี้ สงเคราะห์ทั้งในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ รวมไปถึงในขณะที่ผู้นั้นล่วงลับไปแล้ว ด้วยการทำดีแล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้ ถ้าสามารถกระทำได้ อย่างนี้ก็เป็นความดีทั้งหมดและไม่ใช่เพียงญาติ เท่านั้น แต่ควรทำดีเกื้อกูลแก่ผู้อื่นด้วยเท่าที่จะเป็นไปได้

เป็นที่น่าพิจารณาว่า ในชีวิตประจำวัน เราไม่ได้อยู่ในโลกนี้เพียงคนเดียว มีบุคคลอยู่ร่วมด้วยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ พี่น้อง ญาติสนิทมิตรสหาย เป็นต้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีธรรมเครื่องสงเคราะห์ เพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่นอย่างแท้จริง ขณะที่มีการสงเคราะห์นั้น ก็เป็นกุศลธรรม เป็นความดี  ซึ่งจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะมีกุศลทางหนึ่งทางใด เล็กน้อยสักเท่าไรจะเป็นทางกายหรือทางวาจา ก็ควรที่จะมีความเพียรที่จะทำกุศลนั้น กล่าวคือ 

๑. ทาน มีการให้ มีการแบ่งปันวัตถุสิ่งของ ตามสมควร การให้ ย่อมเป็นสิ่งที่ผู้รับปลาบปลื้มใจและจิตใจผู้ให้ก็อ่อนโยน พอที่จะเสียสละวัตถุของตนเพื่อประโยชน์สุของคนอื่นได้ เพราะฉะนั้นจิตในขณะนั้นก็มีความสบายเพราะว่าไม่มีความตระหนี่ ได้ประโยชน์ทั้งจิตใจของตนเองเพราะอ่อนโยนและยังเบิกบาน ที่เห็นผู้รับมีความสุข ได้ใช้สิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับเขา และโลกก็ย่อมจะร่มเย็นต่อไปได้โดย ทาน คือ การให้ แต่การให้ที่สูงสุดนั้น ได้แก่การให้ธรรม กล่าวคำจริง ให้ความเข้าใจถูก (ปัญญา) แก่ผู้อื่น ซึ่งจะนำมาซึ่งคุณความดีประการต่างๆ อีกมากมาย คล้อยตามความเข้าใจที่ค่อยๆ เจริญขึ้น จากการที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

๒. ปิยวาจา มีการเจรจาไพเราะ พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ มีจิตประกอบด้วยเมตตา หวังดีต่อผู้อื่นด้วยความจริงใจ การพูดธรรมแก่ผู้ที่ประสงค์จะฟัง เป็นการเจรจาไพเราะ อันสูงสุด

๓. อัตถจริยา มีการบำเพ็ญประโยชน์ต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นด้วยกาย วาจา เท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกื้อกูลให้ผู้อื่นเห็นโทษของอกุศลแล้วตั้งอยู่ในกุศล กล่าวคือ เกื้อกูลผู้ที่ไม่มีศรัทธา ให้ตั้งมั่นอยู่ในศรัทธา เกื้อกูลผู้ไม่มีศีล ให้ตั้งมั่นอยู่ในศีล เกื้อกูลผู้ตระหนี่ ให้ตั้งมั่นอยู่ในการให้ เกื้อกูลผู้ไม่มีปัญญา ให้ตั้งมั่นอยู่ในปัญญา การกระทำดังกล่าวนี้ เป็นการบำเพ็ญประโยชน์ต่อกันที่ประเสริฐยิ่ง

๔. สมานัตตตา ความเป็นผู้มีตนเสมอ มีความวางตนสม่ำเสมอ ไม่ถือตัว ความเป็นผู้มีตนเสมอกับคนอื่น นี้ จะไม่ทำให้มีช่องว่างเลย และทำให้เรามีความสบายใจด้วย ไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน เมื่อเห็นใครทำดี ก็ชื่นชมและน้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วย ไม่ใช่ประพฤติตามคนที่ไม่ดี ถ้าเราเป็นผู้ที่เข้าใจทุกคนเหมือนกับที่เราเข้าใจตัวเราเอง ว่า เราต้องการมีความสุข และไม่ชอบมีความทุกข์ คนอื่นต้องเหมือนกันหมดเลย ไม่มีใครต้องการความทุกข์ ก็จะเป็นเหตุให้ทำในสิ่งที่ดีต่อกันและกัน ไม่เบียดเบียนกัน

บุคคลผู้ที่เห็นโทษภัยของกุศล ก็ย่อมจะเป็นผู้เจริญกุศลทุกอย่างทุกประการ เท่าที่ตนมีโอกาส ไม่ว่าจะเป็นโอกาสของกุศลประเภทใดก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การอบรมเจริญปัญญา ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเป็นเครื่องชำระล้างจิตใจให้สะอาดได้ในที่สุด เพราะใครๆ ก็ไม่สามารถชำระล้างจิตใจให้สะอาดจากอกุศลทั้งหลาย มีความไม่รู้ ความติดข้อง ความเห็นผิด เป็นต้นได้เลย ถ้าไม่ได้อาศัยพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ