[คำที่ ๒๖๓] ปหาน
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ปหาน”
คำว่า ปหาน เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านตามภาษาบาลีว่า ปะ - หา - นะ หมายถึง การละกิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต ละอกุศลธรรมทั้งหลาย ด้วยปัญญา (ความเข้าใจถูกเห็นถูก) เพราะการละกิเลส เป็นไปได้ด้วยปัญญาที่อบรมเจริญแล้ว เหมือนอย่างผู้ที่เป็นพระอริยสาวกทั้งหลายในอดีต ซึ่งเป็นผู้ที่ขัดเกลาละคลายกิเลส จนสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น ก็ด้วยปัญญา อันมีรากฐานที่สำคัญมาจากการได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ดังข้อความจาก ปปัญจสูทนี อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ มหาสุญญตสูตร ว่า
“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พระอริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว จากพระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมละอกุศล เจริญกุศล ละธรรมที่มีโทษ เจริญธรรมที่ไม่มีโทษ บริหารตนให้บริสุทธิ์ ดังนี้”
ข้อความจาก ชาตกัฏฐกถา อรรถกถาขุททกนิกาย ชาดก กุมภการชาดก แสดงความจริงเพื่อความเป็นผู้เห็นโทษของกิเลส ไม่ควรประมาทกำลังของกิเลส ไว้ ดังนี้
“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ควรเป็นไปในอำนาจของกิเลสที่เป็นไปแล้วในภายใน ด้วยว่า กิเลสเมื่อเจริญขึ้น (คือมีมากขึ้น,เพิ่มขึ้น) ย่อมให้ถึงความพินาศอย่างมาก เหมือนปัจจามิตร (ศัตรู) ”
กิเลส เครื่องเศร้าหมองของจิต เป็นอกุศลธรรม ไม่ได้อยู่ในตำรา แต่เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงจึงเป็นเครื่องเตือนที่ดีอย่างยิ่ง เตือนให้เป็นผู้ไม่ประมาทมัวเมาในชีวิต ซึ่งจะทำให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษาได้พิจารณาขัดเกลากิเลสของตนเองได้อย่างละเอียด เพราะเหตุว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นกิเลสและโทษของกิเลสตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากที่จะเห็นได้ พร้อมทั้งทรงแสดงให้เห็นถึงคุณของปัญญาซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เข้าใจถูกเห็นถูก ตามความเป็นจริง, ปัญญา เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เป็นโสภณธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่สำคัญมากในพระธรรมวินัยนี้ เพราะเหตุว่า บุคคลผู้มีปัญญาเท่านั้นที่จะสามารถดับกิเลสทั้งปวงได้เป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) ไม่เกิดอีกเลย สามารถข้ามพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวงได้
เป็นที่น่าพิจารณาว่า ตราบใดที่ยังไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสถึงความเป็นพระอรหันต์ได้นั้น จะขาดการอบรมเจริญปัญญาและสะสมคุณความดีประการต่างๆ ไม่ได้เลย เพราะดีแค่ไหนก็ยังไม่พอจนกว่าจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ พระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีตที่ท่านได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสตามลำดับขั้น ก็เพราะเป็นผู้ที่ได้สะสมความดีและอบรมเจริญปัญญามาแล้วทั้งนั้น
ในอดีตชาติที่ผ่านๆ มา นั้น แต่ละคนก็มีอกุศลมากด้วยกันทั้งนั้น แต่ส่วนที่ดีก็มีเหมือนกัน ที่เห็นได้ชัดคือ ในชาตินี้ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ซึ่งการได้เกิดมาเป็นมนุษย์นั้น เป็นผลของกุศลกรรม นั่นหมายความว่า ต้องเคยได้สะสมกุศลมาแล้วจึงทำให้ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นการยากมากกับการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เมื่อเกิดมาแล้ว ความประพฤติเป็นไปของแต่ละคนก็แตกต่างกันออกไปทั้งทางกาย ทางวาจาและทางใจ ไม่เหมือนกันเลย แต่ถ้ามีโอกาสได้ฟังพระธรรมได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็จะทำให้เห็นคุณของกุศล เห็นโทษของกิเลส ด้วยความเข้าใจถูกเห็นถูก ทำให้เป็นผู้มีความอดทนมีความเพียรที่จะเจริญกุศลสะสมความดีและอบรมเจริญปัญญาต่อไป เพราะกุศลธรรมเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งได้อย่างแท้จริง อกุศลเป็นที่พึ่งไม่ได้เลย มีแต่นำมาซึ่งทุกข์โทษภัยโดยส่วนเดียว
แม้ว่าจะมากไปด้วยอกุศล ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะสะสมมาอย่างมากและยาวนานในสังสารวัฏฏ์ เมื่อได้เหตุปัจจัยอกุศลก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น แต่สำหรับผู้เห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เห็นประโยชน์ของการอบรมเจริญปัญญา ก็ยังมีโอกาสที่จะฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม สะสมปัญญา ปัญญายังสามารถเกิดแทรกในท่ามกลางของอกุศลซึ่งมีเป็นอย่างมากได้ ซึ่งขณะที่ปัญญาเกิด อกุศลก็เกิดไม่ได้ แสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า แม้จะมีอกุศลมาก แต่พอมีเหตุปัจจัยให้ปัญญา เกิด ปัญญาก็เกิดทำกิจหน้าที่ของปัญญาแทนที่จะเป็นอกุศล ได้ และหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้นที่จะเป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสจนถึงการดับได้หมดสิ้น เพราะฉะนั้นแล้ว โอกาสของชีวิตที่ยังเหลืออยู่นี้ ก็ควรที่จะเป็นไปเพื่อการสะสมกุศลและอบรมเจริญปัญญา ในท่ามกลางอกุศลทั้งหลาย เนื่องจากชีวิตที่เกิดมา นั้น คุณค่าทั้งหมด อยู่ที่ความเข้าใจพระธรรม ซึ่งจะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้ความดีทั้งหลายเจริญขึ้นในชีวิตประจำวัน เพราะถ้ากุศลไม่เกิดแล้ว ก็จะเป็นโอกาสเกิดขึ้นของอกุศลธรรม และที่ไม่ควรลืมคือ ปัญญา จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปทีละเล็กทีละน้อย ถ้าไม่ขาดการฟังพระธรรมในชีวิตประจำวัน เพราะเคยได้ฟังมาแล้ว เห็นประโยชน์ของพระธรรมมาแล้ว ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้ได้ฟัง ได้ศึกษา ได้สะสมปัญญาต่อไปจนกว่าปัญญาจะถึงความเจริญสมบูรณ์จนสามารถละกิเลสได้ในที่สุด.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ