[คำที่ ๒๖๔] อวิหึสา

 
Sudhipong.U
วันที่  15 ก.ย. 2559
หมายเลข  32384
อ่าน  320

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ อวิหึสา

คำว่า อวิหึสา เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า อะ - วิ - หิง - สา] มาจากคำว่า (ไม่) แปลง เป็น กับคำว่า วิหึสา (ความเบียดเบียน) จึงรวมกันเป็น อวิหึสา เขียนเป็นไทยได้ว่า อวิหิงสา แปลว่า ความไม่เบียดเบียน แสดงถึงความเป็นจริงของขณะที่เป็นกุศลธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป มีความเป็นมิตร เป็นเพื่อน หวังดีต่อผู้อื่น แม้ว่าผู้นั้นจะถูกบุคคลอื่นประทุษร้ายเบียดเบียนอย่างไรก็ตาม เป็นการรักษาทั้งตนเอง และรักษาผู้อื่นด้วย ด้วยการไม่ประทุษร้ายตอบ แสดงให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ของพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ที่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม ขัดเกลาอกุศลธรรม โดยตลอด ไม่มีคำสอนแม้แต่บทเดียวที่ส่งเสริมให้เป็นอกุศล แม้เพียงเล็กน้อย

ข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค มณิภัททสูตร แสดงความเป็นจริงของความไม่เบียดเบียน ไว้ว่า

“ผู้ใด มีใจยินดีในความไม่เบียดเบียน ตลอดวันและคืนทั้งหมด และเป็นผู้มีส่วนแห่งเมตตาในสรรพสัตว์ ผู้นั้นย่อมไม่มีเวรกับใคร


ความประพฤติเป็นไปที่ไม่ดีทั้งหมด มาจากสภาพจิตที่ไม่ดี ที่เป็นอกุศล เป็นความจริงที่ว่าเมื่ออกุศลจิตเกิดขึ้นแล้ว ทำความดีไม่ได้ การทำสิ่งที่ดี ที่เหมาะควร ก็เกิดขึ้นเป็นไปไม่ได้ นี้คือความเป็นจริง แม้แต่การประทุษร้ายเบียดเบียนกัน ไม่ว่าจะด้วยกาย ด้วยการประทุษร้าย โดยประการต่างๆ หรือ แม้แต่การเบียดเบียนกันด้วยวาจา ด้วยคำพูด อย่างเช่น คำพูดที่พูดไปแล้วทำให้ผู้ฟังไม่สบายใจ รวมไปถึงคำพูดที่เป็นการเหน็บแนม เสียดสี เป็นต้น ก็ไม่ควรโดยประการทั้งปวง เกิดจากจิตที่เป็นอกุศล เป็นธรรม ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน

ในชีวิตประจำวันขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นสงบจากอกุศล ถ้าเรามีความเป็นมิตร มีความเป็นเพื่อนกับคนอื่นบ่อยๆ ใจเราก็จะเบาสบายด้วยกุศลธรรม เราจะไม่มีศัตรูเลย เพราะใจเราไม่เป็นศัตรูกับใคร แม้ว่าคนอื่นจะมีความประพฤติที่ผิด มีการประทุษร้ายอย่างไรก็ตาม คนที่ไม่ชอบเรา ประทุษร้ายเรา จะด้วยกายหรือด้วยวาจา เขาย่อมเดือดร้อน วุ่นวาย เป็นอกุศลของเขา แต่เรามีความเป็นมิตร หวังดี ช่วยเหลือเขาเท่าที่จะเป็นไปได้ พร้อมที่จะเป็นผ้าเช็ดธุลีซึ่งเช็ดได้ทุกอย่าง รองรับได้ทุกอย่าง ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ เราก็จะไม่เดือดร้อนเลย แต่คนที่ไม่ชอบเรา ที่เป็นศัตรูกับเรานั้น เดือดร้อนตลอด เดือดร้อนเพราะถูกอกุศลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ โทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ กลุ้มรุมจิตใจ

แต่ละคน มีอัธยาศัยสะสมมาต่างกัน กาย วาจา ใจ ต่างกันตามการสะสม ใครเขาจะเป็นอย่างไร เราก็บังคับเขาไม่ได้ ถ้าเขามีกิริยา ไม่ดี วาจาก็ไม่ดี นั่นก็เป็นเรื่องของเขา แต่เรื่องของเรา คือ เราไม่เดือดร้อน ไม่ว่าใครจะมีพฤติกรรมอย่างไรก็ตาม เพราะฉะนั้น ก็จะทำให้เราเห็นถึงคุณของสติ (ความระลึกเป็นไปในกุศล) ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดี ได้ว่า เพราะสติและธรรมฝ่ายดีอื่นๆ มี ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น เกิดขึ้นเท่านั้น ที่จะทำให้จิตสงบจากอกุศลได้ และควรที่จะได้พิจารณาว่า เมตตา ความเป็นมิตรเป็นเพื่อน ไม่ใช่เรื่องท่อง แต่เป็นสิ่งที่ควรอบรมเจริญให้มีขึ้นในตน ด้วยความเป็นมิตร เป็นเพื่อนกับผู้อื่น มีความหวังดีปรารถนาต่อผู้อื่น บางคนท่องเมตตาเก่งมาก คล่องแคล่วว่องไว แต่ท่องอยู่ในห้อง ไม่มีใครเลย พอออกมานอกห้อง เมตตาที่ท่องมาหายไปหมด ความโกรธก็เกิดขึ้น ไม่พอใจมากมาย เพราะว่าเป็นเรื่องของการท่อง แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพจิตว่า เมตตาคือความเป็นมิตร คามเป็นเพื่อน ความหวังดีต่อคนอื่น และการเป็นเพื่อนกับคนอื่น นั้น ดีกว่าการเป็นศัตรู เพราะใจเราไม่ต้องไปคิดเรื่องที่จะทำให้คนอื่นเดือดร้อน ดังนั้น บุคคลผู้ที่มีเมตตา ย่อมจะเป็นมิตรกับทุกคน ไม่ได้มีการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน แม้เพียงจิตที่คิดจะเบียดเบียนก็ไม่มี จึงไม่มีเวรกับใครๆ ไม่เป็นศัตรูกับใครๆ เลย และสภาพธรรมฝ่ายดีที่ประเสริฐ คือ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก นำไปในกิจทั้งปวงที่เป็นกุศล แม้ความเป็นผู้มีเมตตา จะเจริญขึ้น ก็เพราะมีปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปไม่ได้ที่ปัญญาจะทำให้โกรธ เป็นไปไม่ได้ที่ปัญญาจะทำในสิ่งที่ผิด เป็นไปไม่ได้ที่ปัญญาจะทำให้มีการเบียดเบียนผู้อื่น และ เครื่องอุปการะเกื้อกูลให้ปัญญาเจริญขึ้น ก็ต้องมาจากเหตุที่สำคัญ คือ การได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่ประมาทในแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทุกคำที่พระองค์ทรงแสดง เป็นไปเพื่อปัญญาโดยตลอด ซึ่งเป็นคำที่ควรค่าแก่การฟังเป็นอย่างยิ่ง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ