[คำที่ ๒๖๕] ถทฺธ
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ถทฺธ”
คำว่า ถทฺธ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ถัด - ทะ] แปลว่า บุคคลผู้ดื้อรั้น แสดงถึงความเป็นไปของอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เป็นความประพฤติที่ไม่ดี ไม่เหมาะไม่ควร เป็นความกระด้างแห่งจิตประดุจตอไม้ ไม่อ่อนโยน ไม่คล้อยไปในทางที่เป็นกุศล ซึ่งเมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว อกุศลทั้งหมด มีความโกรธ ความสำคัญตน ความเป็นผู้ว่ายาก ความมัวเมา เป็นต้น เป็นความดื้อรั้น
ข้อความจาก ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ กุหนาสูตร แสดงความเป็นจริงของความเป็นผู้ดื้อรั้น หรือ ความเป็นผู้มีใจกระด้าง ไว้ว่า
บทว่า ถทฺธา ความว่า เป็นผู้มีใจกระด้าง เพราะความโกรธ และ มานะ คือ เป็นผู้ไม่ทำความยำเกรงอย่างยิ่งในครูทั้งหลายผู้ควรทำความเคารพ ไม่อ่อนน้อม เที่ยวไปมาเหมือนกลืนขี้เหล็กเข้าไปแล้วยืนแข็งทื่ออยู่ ฉะนั้น เพราะความโกรธที่ตรัสไว้แล้วอย่างนี้ว่า คนมักโกรธเป็นผู้มากด้วยความแค้นใจ ถูกว่าแม้นิดเดียวก็ขัดใจ โกรธ พยาบาท แผ่อำนาจไป ดังนี้ด้วย เพราะความเป็นผู้ว่ายาก ที่ตรัสไว้แล้วอย่างนี้ว่า คนว่ายาก เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่ทำให้ว่ายาก ไม่อดทน ไม่รับเอาอนุสาสนี (คำพร่ำสอน) ด้วยความเคารพ ดังนี้ ด้วย เพราะความเมาแยกออกเป็นความเมาในชาติ เป็นต้น ที่ตรัสไว้แล้วอย่างนี้ว่า ความเมาในชาติ ความเมาในโคตร ความเมาในเพศ ความเมาในความไม่มีโรค ความเมาในความเป็นหนุ่มสาว (และ) ความเมาในชีวิต ดังนี้ ด้วย.
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา นั้น เป็นไปเพื่ออุปการะเกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา และมีความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับอย่างแท้จริง แม้แต่ในเรื่องของอกุศลธรรม นั้น พระองค์ก็ทรงแสดงไว้เป็นอันมากทีเดียว เพื่อให้พุทธบริษัทได้เห็นโทษเห็นภัยของอกุศล ซึ่งมีจริง เป็นสิ่งที่มีโทษไม่นำประโยชน์ใดๆ มาให้เลยแม้แต่น้อย ถ้าไม่ทรงแสดงไว้ ก็ไม่สามารถที่จะระลึกถึงอกุศลของตนเองเพื่อการขัดเกลาได้เลย หรืออาจจะเข้าใจผิดว่าอกุศลเป็นกุศลก็ได้ และ ถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงแสดงไว้มากอย่างนี้ แต่ผู้ที่มีอกุศลก็ไม่สามารถที่จะดับหรือละอกุศลนั้นได้ ถ้าปัญญาไม่เจริญขึ้น
แม้แต่ความเป็นผู้ดื้อรั้น ก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จะไม่มีทางเข้าใจถูกได้เลยว่า เป็นเรื่องของอกุศลธรรมทั้งหลายอย่างแท้จริง อกุศลธรรมทั้งหมดดื้อรั้น เพราะฉะนั้น คนที่ดื้อรั้นก็จะมีมากทีเดียว ไม่ต้องไปดูอื่นไกลเลย พระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำให้เข้าใจความจริง ทำให้ผู้ประพฤติตามเป็นคนดี แต่ก็ไม่ฟัง นี่ก็ดื้อรั้นแล้ว เป็นเบื้องต้นความดื้อรั้นจริงๆ เพราะถ้าไม่มีความเข้าใจธรรม ไม่มีปัญญา ก็จะทำให้สะสมพอกพูนอกุศลมากขึ้นทำให้เป็นคนดื้อรั้นต่อๆ ไปอีก ทำให้มีการท่องเที่ยววนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ต่อไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น และแม้ว่าจะศึกษาพระธรรมแล้ว ความดื้อรั้นก็ยังไม่หมด เป็นไปกับอกุศลประการต่างๆ มากมาย ก็ยังเป็นคนดื้อรั้นที่จะต้องขัดเกลาด้วยพระธรรมต่อไป ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมไม่ได้ บางบุคคลแม้จะได้เริ่มฟังพระธรรมแล้ว แต่ก็มีตัวตนที่จะไปปฏิบัติตามสถานที่ต่างๆ ไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความอยากความต้องการ ไม่ต้องฟังพระธรรม นี่ก็ดื้อรั้นในอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งเป็นความหลากหลายของอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป กล่าวโดยประมวลแล้ว คือ ดื้อรั้นโดยตลอดในขณะที่เป็นอกุศล ซึ่งจะต้องมีปัญญาเท่านั้นที่จะเห็นอกุศลตามความเป็นจริง จึงจะสามารถละอกุศลได้
พระธรรมทั้งหมด เพื่อที่จะให้รู้สภาพของอกุศลตามความเป็นจริง เพื่อที่จะให้ระลึกได้ว่า ในขณะนั้นเป็นผู้ที่มีความดื้อรั้นหรือไม่ ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ถ้าสติไม่เกิดก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ในขณะนั้นว่าเป็นความประพฤติที่สมควรหรือไม่สมควร เพราะถ้าโลภะ (ความติดข้อง) เกิดหรือถ้าโทสะ (ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ) เกิด หรือ มานะ (ความสำคัญตน) เกิดแล้วจะให้กายวาจาเป็นกุศล เป็นความประพฤติที่ดีงาม ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากว่าอกุศล เป็นสภาพธรรมที่ทำให้ประพฤติในสิ่งที่ไม่สมควรต่างๆ มากมาย ทำให้เป็นบุคคลผู้ดื้อรั้น ซึ่งผู้ที่มีความประพฤติที่ไม่สมควรประการต่างๆ นั้น ก็เพราะว่า ไม่ได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่คล้อยตามพระธรรม ไม่ได้น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมนั่นเอง แต่ถ้าเป็นผู้ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ความประพฤติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นตามระดับขั้นของปัญญา ขัดเกลาความดื้อรั้นความแข็งกระด้างของจิตทั้งหมด จนกระทั่งเมื่อปัญญาถึงความเจริญสมบูรณ์พร้อมแล้ว ก็จะสามารถละอกุศลธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีได้ในที่สุด เพราะอกุศลทั้งหลาย จะหมดไปได้นั้น ก็ด้วยการอบรมเจริญปัญญา แต่การละอกุศลธรรมทั้งหลาย นั้น เป็นเรื่องที่ไกลมาก ก็จะต้องอาศัยการสะสมปัญญาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานทีเดียว ซึ่งเริ่มต้นได้ในขณะนี้ โดยที่ไม่ขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ