[คำที่ ๒๖๖] ธมฺมเตช

 
Sudhipong.U
วันที่  29 ก.ย. 2559
หมายเลข  32386
อ่าน  690

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ ธมฺมเตช

คำว่า ธมฺมเตช เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ดำ - มะ - เต - ชะ]มาจากคำว่า ธมฺม (คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งทำให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง) กับคำว่า เตช (เดช, ธรรมที่เผาผลาญธรรมที่ตรงกันข้าม) รวมกันเป็น ธมฺมเตช เขียนเป็นไทยได้ว่า ธรรมเดช หมายถึง เดชคือพระธรรม ซึ่งเป็นพระพุทธพจน์ เป็นคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งสามารถเผาผลาญความไม่รู้ ความเห็นผิด เผาผลาญอกุศลธรรมทั้งหลาย เผาผลาญลัทธิความเชื่อต่างๆ เป็นต้น ธรรมเดช เป็นเดชที่สำคัญ ที่ทำให้คุณความดีทั้งหลายเจริญขึ้น จนถึงสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น ข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค แสดงความเป็นจริงของเดช และ ธรรมเดช ไว้ว่า

“คำว่า เตโช (เดช) ความว่า เดชมี ๕ คือ จรณเดช คุณเดช ปัญญาเดช ปุญญเดช ธรรมเดช, บุคคลผู้มีจิตอันกล้าแข็ง ย่อมยังเดชคือความเป็นผู้ทุศีลให้สิ้นไป ด้วยเดชคือศีลเครื่องดำเนินไป (จรณเดช) , ย่อมยังเดชมิใช่คุณให้สิ้นไป ด้วยเดชคือคุณ (คุณเดช) , ย่อมยังเดชคือความเป็นผู้ไม่มีปัญญาให้สิ้นไป ด้วยเดชคือปัญญา (ปัญญาเดช) , ย่อมยังเดชมิใช่บุญ ให้สิ้นไป ด้วยเดชคือบุญ (ปุญญเดช) , ย่อมยังเดชมิใช่ธรรมให้สิ้นไป ด้วยเดชอันเป็นธรรม (ธรรมเดช) ”.

-บทว่า ธมฺมเตโช (ธรรมเดช) คือ พุทธวจนเดช อันเป็นหลักแห่งเดช ๔.


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด แม้แต่ในเรื่อง เดช ก็เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง เดช เป็นธรรมที่เผาผลาญธรรมที่ตรงกันข้าม โดยที่ จรณเดช คือ ศีล ซึ่งเป็นความประพฤติที่ดีงาม เป็นเดชที่เผาผลาญความเป็นผู้ทุศีลความประพฤติที่ไม่ดีทั้งหลาย, คุณเดช (เดชคือคุณ ซึ่งเป็นความสงบแห่งจิต) เป็นเดชที่เผาผลาญความฟุ้งซ่านความไม่สงบแห่งจิต, ปัญญาเดช (เดชคือปัญญา) เป็นเดชที่เผาผลาญอวิชชา (ความไม่รู้) ปุญญเดช (อริยมรรค) เป็นเดชที่เผาผลาญกิเลสอกุศลธรรมทั้งหลาย และที่สำคัญ ธรรมเดช ได้แก่ พระพุทธพจน์ พระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเดชที่เผาผลาญความเห็นที่ผิด เผาผลาญลัทธิความเชื่อถือต่างๆ ธรรมเดช เป็นเดชที่สำคัญ เป็นหลักแห่งเดช ๔ ข้างต้น เกื้อกูลให้เดช ๔ อย่างข้างต้นเจริญยิ่งขึ้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้ว เท่านั้น ที่จะเป็นเครื่องป้องกันความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ป้องกันไม่ให้ตกไปในฝ่ายผิด พระธรรมย่อมจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษาอย่างแท้จริง ทำให้มีความมั่นคงในความเป็นจริง มั่นคงในความถูกต้อง ไม่หวั่นไหวไม่คล้อยตามในสิ่งที่ผิดที่ไม่ตรงตามพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะคำสอนของพระองค์ เกิดจากพระปัญญาตรัสรู้ซึ่งกว่าจะได้ทรงตรัสรู้นั้น พระองค์ต้องอาศัยการสะสมพระบารมี (คุณความดีที่ทำให้ถึงฝั่งของการดับกิเลส) มาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานถึงสี่อสงไขยแสนกัปป์ สิ่งที่พระองค์ทรงตรัสรู้และทรงแสดง ย่อมไม่พ้นจากสิ่งที่มีจริง คำที่พระองค์ตรัส เป็นคำจริง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด

บุคคลผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ซึ่งเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นวาจาสัจจะ แสดงให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง แล้ว มีความเข้าใจไปตามลำดับ ก็จะเห็นพระคุณของพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ว่า ถ้าพระองค์ไม่ทรงแสดงสภาพธรรมโดยนัยต่างๆ อย่างละเอียดแล้ว สัตว์โลกทั้งหลายย่อมไม่สามารถพ้นไปจากความเห็นผิด และไม่สามารถพ้นไปจากความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้เลย แม้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว แต่พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เป็นศาสดาแทนพระองค์ พระธรรมยังดำรงอยู่ ซึ่งถ้าผู้ใดไม่ศึกษาพระธรรม ไม่ฟังพระธรรม แต่คิดเอาเองว่าเข้าใจธรรมแล้ว ก็ย่อมจะเป็นผู้ที่ประมาทอย่างแท้จริง เพราะย่อมมีความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อน ไม่สามารถที่จะมีความเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริงได้เลย แต่ว่าถ้าศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมอยู่เสมอ บ่อยๆ เนืองๆ ด้วยความละเอียดรอบคอบไม่ประมาทในแต่ละคำที่พระองค์ทรงแสดง ก็ย่อมมีความเข้าใจในสภาพธรรมที่ปรากฏเพิ่มขึ้น มั่นคงในความเป็นจริงยิ่งขึ้น และพระธรรมที่ได้ยินได้ฟังนี้ ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงจิตใจของผู้ที่ได้ฟังได้ได้ศึกษา จากที่มากไปด้วยความไม่รู้ และอกุศลธรรมทั้งหลาย ก็จะค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นกุศลยิ่งขึ้น และถ้าได้ศึกษาพระธรรมต่อไป ไม่ขาดการฟังพระธรรม ปัญญาก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้กุศลประการอื่นๆ จะเจริญขึ้นในชีวิตประจำวัน เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง

โดยปกติของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ยังไม่ได้ดับกิเลสใดๆ เลย อันเนื่องมาจากได้สะสมกิเลสมาอย่างยาวนานในสังสารวัฏฏ์ เมื่อได้เหตุได้ปัจจัยกิเลสก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น แต่เพราะได้อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ สภาพธรรมฝ่ายดี คือ กุศลธรรม ก็จะเจริญขึ้นคล้อยตามความเข้าใจที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ทำให้เป็นผู้มีความละอาย มีความเกรงกลัวต่ออกุศลมากขึ้น เห็นโทษภัยของอกุศลมากขึ้น ก็จะปรุงแต่งให้มีการกระทำที่เป็นไปในทางที่ถูกที่ควรมากยิ่งขึ้น สิ่งใดที่เคยกระทำไม่ดี เคยผิดพลาดก็จะแก้ไขให้ถูกต้อง ด้วยการเจริญกุศล กระทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ต่อไป ขณะนั้นกุศลจิต ซึ่งเป็นจิตที่ดีงาม อันประกอบด้วยศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งจะแตกต่างจากสภาพจิตที่เป็นอกุศล อย่างสิ้นเชิง

แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งเป็นธรรมเดชจริงๆ ที่จะเป็นที่พึ่งในชีวิตอย่างแท้จริง เป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้แต่ละบุคคลดำเนินไปในทางที่เป็นกุศลยิ่งขึ้น ทำให้ออกห่างจากอกุศลไปเรื่อยๆ จนกว่าจะออกห่างได้โดยสมบูรณ์เมื่อมรรคจิตเกิดขึ้นทำกิจประหารกิเลส ดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น กิเลสใดๆ ที่ดับได้แล้ว ก็จะไม่เกิดขึ้นอีกในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งจะต้องมีการเริ่มต้นที่การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ขาดการฟังพระธรรมไม่ได้.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ค่อยๆศึกษา
วันที่ 8 มี.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ