[คำที่ ๒๖๘] คหฏฺฐ

 
Sudhipong.U
วันที่  13 ต.ค. 2559
หมายเลข  32388
อ่าน  338

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ คหฏฺฐ

คำว่า คหฏฺฐ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า คะ - หัด - ถะ] มาจากคำว่า คห (เรือน) กับคำว่า (ตั้งอยู่,ดำรงอยู่,อาศัยอยู่) ซ้อน ฏฺ จึงรวมกันเป็น คหฏฺฐ แปลว่า ผู้มีเรือน, ผู้อยู่ในเรือน หรือ คฤหัสถ์ ซึ่งเป็นบุคคลผู้อยู่ครองเรือนมีชีวิตเป็นไปตามปกติตามเพศของตน ซึ่งจะแตกต่างจากเพศบรรพชิตอย่างสิ้นเชิง พระธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาแสดงถึงความเป็นจริงของชีวิตของคฤหัสถ์ ที่จะเป็นคฤหัสถ์ที่ดี ได้นั้น ก็เพราะเป็นไปกับด้วยกุศลธรรม อบรมเจริญปัญญา น้อมประพฤติในสิ่งที่ดีงาม เว้นไม่กระทำในสิ่งที่ผิด ดังข้อความบางตอนจากพระไตรปิฎก ดังนี้

“บุคคล ผู้ตั้งวาจาและใจไว้โดยชอบ ไม่กระทำบาปด้วยกาย อยู่ครองเรือนอันมีข้าวและน้ำมาก เป็นผู้มีศรัทธา อ่อนโยน จำแนกแจกทาน รู้ความประสงค์ (ของผู้ขอ) ชอบสงเคราะห์ มีถ้อยคำกลมกล่อม อ่อนหวาน ผู้ตั้งอยู่ในคุณธรรม ดังกล่าวมานี้ ไม่พึงกลัวปรโลก (โลกหน้า) ”

(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก อุทยชาดก)

“ผู้ครองเรือน พึงเป็นผู้สงเคราะห์มิตร จำแนกแจกทาน รู้จักจัดทำ พึงบำรุงสมณพราหมณ์ด้วยข้าว น้ำ ทุกเมื่อ ผู้ครองเรือนพึงเป็นผู้ใคร่ธรรม จำทรงอรรถแห่งธรรมที่ได้สดับมาแล้ว หมั่นไต่ถาม พึงเข้าไปหาท่านผู้มีศีล เป็นพหูสูต โดยเคารพ”

(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก วิธุรชาดก)


ชีวิตของคฤหัสถ์ เป็นชีวิตที่ครองเรือน ยังมีเรือน ยังมีกิจหน้าที่ที่จะต้องกระทำตามสมควรแก่ฐานะของตนๆ ไม่ใช่ว่าเป็นคฤหัสถ์แล้วจะกระทำตัวเหมือนอย่างเพศบรรพชิตทุกอย่าง ซึ่งมีอัธยาศัยแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากว่าเพศบรรพชิตเป็นเพศที่สละอาคารบ้านเรือน สละกองแห่งทรัพย์สมบัติ สละความเป็นคฤหัสถ์ทุกอย่าง เพื่อเข้าสู่พระธรรมวินัยอบรมเจริญปัญญาและขัดเกลากิเลสในเพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์ ด้วยความจริงใจ แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ถ้าเป็นผู้ที่มีศรัทธาที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม แล้วน้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม ย่อมจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรม ตามระดับขั้นของปัญญาของแต่ละบุคคล เพศจึงไม่เป็นเครื่องกั้นในการได้รับประโยชน์จากพระธรรมเลย ขึ้นอยู่กับว่าจะเห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมหรือไม่? ถ้าไม่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ก็ไม่ฟังพระธรรม เมื่อไม่ฟังพระธรรม ย่อมไม่มีทางที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกจะเจริญขึ้นได้เลย ก็เป็นผู้มากไปด้วยความไม่รู้ต่อไป ทำให้สังสารวัฏฏ์ยืดยาวต่อไปอีก

คฤหัสถ์ที่ดำรงชีวิตอย่างพอเหมาะ ขยันในการประกอบอาชีพการงานที่สุจริตถูกต้องตรงตามพระธรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์ อันจะเป็นเครื่องประคับประคองให้ชีวิตดำเนินไปอย่างไม่เดือดร้อน เมื่อได้ทรัพย์มาด้วยความสุจริตแล้ว ก็รู้จักใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่น อีกทั้งไม่เป็นหนี้ใครๆ และ ประกอบการงานอันปราศจากโทษ ซึ่งได้แก่ ความดีทุกประการ สะสมเป็นเหตุที่ดี นั้น ย่อมเป็นชีวิตที่มีความสุขตามสมควรแก่เพศของคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นความสุขที่คฤหัสถ์พึงได้ เพราะสิ่งที่สำคัญคือ การประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดี ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ และ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา เพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง ปัญญา เป็นสภาพธรรมที่เข้าใจถูกเห็นถูก นำไปในกิจทั้งปวงที่เป็นกุศล ความดีทั้งหลายทั้งปวง คล้อยไปตามความเข้าใจที่เจริญขึ้น

เพราะฉะนั้น ในชาตินี้ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ที่ได้เกิดมาอย่างยากแสนยาก ก็ควรแสวงหาประโยชน์จากการเป็นมนุษย์ให้มากที่สุด กล่าวคือ สะสมกุศล ทำกิจที่ควรทำ ขวนขวายในความดีทุกประการ เพื่อเป็นที่พึ่งของตนเองต่อไป เนื่องจากว่ายังจะต้องเดินทางอีกยาวไกลในสังสารวัฏฏ์ ภพภูมิมนุษย์นี้ก็เป็นเพียงที่พักชั่วคราวเท่านั้น อีกไม่นานก็จะต้องละจากโลกนี้ไป ซึ่งไม่สามารถจะทราบได้ว่าจะเป็นเมื่อใด สิ่งที่จะติดตามไปและเป็นที่พึ่งได้จริงๆ คือ กุศลธรรมทุกประการที่สะสมไว้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ปัญญา ความเข้าใจถูก เห็นถูก ซึ่งจะมีปัญญาได้นั้น ก็ต้องได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เห็นประโยชน์ของคำจริงแต่ละคำที่พระองค์ทรงแสดง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ