[คำที่ ๒๗๑] อนตฺถ

 
Sudhipong.U
วันที่  3 พ.ย. 2559
หมายเลข  32391
อ่าน  379

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ อนตฺถ

คำว่า อนตฺถ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า อะ - นัด - ถะ] มาจากคำว่า (ไม่) กับคำว่า อตฺถ (ประโยชน์) แปลง เป็น อน รวมกันเป็น อนตฺถ เขียนเป็นไทยได้ว่า อนัตถะ แปลว่า ไม่ใช่ประโยชน์ มีความหมายที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในความหมายที่กล่าวถึง สภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวง อกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่เป็นประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่โทษเท่านั้น การที่จะรู้ถึงความไม่มีประโยชน์ของอกุศลธรรมทั้งหลาย ก็ต้องด้วยปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก ดังข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ภัททิยสูตร ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสกับภัททิยลิจฉวี ว่า

“ดูกร ภัททิยะ เมื่อใด ท่านพึงรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้อันวิญญูชนติเตียน ธรรมเหล่านี้อันบุคคลสมาทาน (ถือเอา) ให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายพึงละเสียเถิด ดูกร ภัททิยะ ท่านจะพึงสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความโลภ เมื่อเกิดขึ้นภายในบุคคล ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ หรือ เพื่อมิใช่ประโยชน์? ”

ภัททิยลิจฉวี กราบทูลว่า เพื่อมิใช่ประโยชน์ พระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสถามว่า ดูกร ภัททิยะ ก็บุคคลผู้โลภมาก ถูกความโลภครอบงำย่ำยีจิต ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้ ข้อนี้ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน หรือ?

ภัททิยลิจฉวี กราบทูลว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นคำสอนที่น่าอัศจรรย์ เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ที่มีโอกาสได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง เป็นคำสอนของบุคคลผู้ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาตลอดระยะเวลาสี่อสงไขยแสนกัปป์ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานมาก เพื่อที่จะทรงตรัสรู้ธรรมตามความเป็นจริง และไม่ใช่เพียงเพื่อตรัสรู้เฉพาะพระองค์เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น แต่ทรงมีพระมหากรุณาที่จะทรงแสดงพระธรรมเกื้อกูลให้สัตว์โลกได้เข้าใจพระธรรมตามพระองค์ด้วย ดังนั้น คำสอนของสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสัจจธรรม เป็นความจริง ซึ่งทำให้ผู้ฟังเริ่มเกิดปัญญาที่จะรู้จักตัวเอง และรู้จักสิ่งที่มีจริงทุกอย่างตามความเป็นจริง จนกระทั่งดับกิเลสได้

ในชีวิตประจำวัน แต่ละคนก็มีอกุศลมากด้วยกันทั้งนั้น เพราะเคยได้สะสมมานานแสนนานในสังสารวัฏฏ์ อกุศลเมื่อได้เหตุได้ปัจจัยก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ และเกิดขึ้นบ่อยมากเกือบจะตลอดเวลาก็ว่าได้ เพราะถ้ากุศลไม่เกิด ก็เป็นโอกาสที่อกุศลจะเกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าไม่ได้อาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็จะไม่รู้เลยว่า ตนเองเป็นผู้มีอกุศลมากน้อยแค่ไหน เมื่อไม่รู้อกุศลตามความเป็นจริง ก็จะไม่สามารถละคลายอกุศลใดๆ ได้เลย การที่จะรู้ความจริงอย่างนี้ได้ ก็ต้องฟังพระธรรม และพระธรรม ทุกๆ คำ ที่พระองค์ทรงแสดง ซ้ำๆ บ่อยๆ เนืองๆ ก็เพื่อให้ได้เข้าใจในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงแสดงพระธรรม เพียงพอแก่ผู้ที่สามารถจะเข้าใจได้, พระองค์ไม่ได้มีการบังคับให้ผู้นั้นผู้นี้มานับถือพระองค์ ไม่ได้ทรงบังคับให้ผู้นั้นผู้นี้มาเป็นสาวกของพระองค์ แต่พระองค์ทรงแสดงความจริง เพื่อให้ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา มีการพิจารณาไตร่ตรอง เห็นด้วยตนเองตามความเป็นจริง ดังตัวอย่างในภัททิยสูตร นี้ พระองค์ทรงแสดงแก่ภัททิยลิจฉวี ว่า สภาพธรรมใดที่มีโทษ ก็ควรละ ทั้งความโลภ ความโกรธ ความหลง ความแข่งดี และสภาพธรรมใดที่ไม่มีโทษ คือ ความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง ความไม่แข่งดี เป็นธรรมที่ควรอบรมเจริญให้มีขึ้นในชีวิตประจำวัน เมื่อได้ฟัง ได้พิจารณา เข้าใจตามความเป็นจริงแล้ว จากที่เคยเป็นผู้มากไปด้วยกุศลประการต่างๆ ทั้งความติดข้อง ความโกรธ ความหลง ความแข่งดี เป็นต้น ก็สามารถที่จะละคลายกุศล ขัดเกลาสิ่งที่ไม่ดีภายในจิตใจของตนเอง และอบรมเจริญธรรมฝ่ายดีเพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน

เมื่อภัททิยลิจฉวี ได้ฟังและมีความเข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็รู้ว่าคนอื่นที่เข้าใจผิดกันว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีมายากลับใจคนอื่น นั้น แท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่คนอื่นเข้าใจนั้น ก็คือ พระธรรมคำสอนของพระองค์ นั่นเอง จึงได้กราบทูลแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่า เครื่องกลับใจนี้ ดีนักแล ถ้าญาติสาโลหิต ผู้เป็นที่รักของข้าพระองค์ พึงกลับใจด้วยเครื่องกลับใจนี้ไซร้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ญาติสาโลหิตผู้เป็นที่รัก ของข้าพระองค์ ตลอดกาลนาน ซึ่งรวมถึงชนทั้งหลายทั้งปวงด้วย

จึงแสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วเท่านั้น เป็นสิ่งที่ประเสริฐกว่าสิ่งอื่นใด ที่จะทำให้ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษา มีความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อการขัดเกลาอกุศล ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ภายในจิตใจของตนเอง จนกระทั่งสามารถดับอกุศลได้ตามลำดับขั้น ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้เลย ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ