[คำที่ ๒๗๒] มจฺจุ

 
Sudhipong.U
วันที่  10 พ.ย. 2559
หมายเลข  32392
อ่าน  374

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ มจฺจุ

คำว่า มจฺจุ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า มัด - จุ] เขียนเป็นไทยได้ว่า มัจจุ แปลว่า ความตาย, ความขาดไปแห่งชีวิต เป็นการแสดงถึงความจริงของสัตว์โลกที่เมื่อเกิดมาแล้ว ก็ต้องละจากโลกนี้ไป สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ตายแล้วก็ต้องเกิด ส่วนผู้ที่ดับกิเลสหมดสิ้นถึงความเป็นพระอรหันต์ แล้ว เมื่อดับขันธปรินิพพาน (ตาย) ไม่มีการเกิดอีก เพราะดับเหตุที่จะทำให้มีการเกิดได้แล้ว

ข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท มีว่า

พระศาสดาตรัสกะนางกีสาโคตมี ว่า “ท่านเข้าใจว่า 'บุตรของเราเท่านั้น ตายแล้ว' (แต่) ความตาย นั่น เป็นธรรมเที่ยงแท้ ของสรรพสัตว์ (สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง) ”

ข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เตมิยชาดก มีว่า

พระเตมิยกุมาร (พระโพธิสัตว์) กราบทูลพระราชบิดา ว่า สัตว์โลกอันความตายครอบงำไว้ อันความแก่ห้อมล้อมไว้ วันคืน ชื่อว่า สิ่งไม่เป็นประโยชน์เป็นไป มหาบพิตร จงทรงทราบอย่างนี้ ขอถวายพระพร เมื่อด้ายที่เขากำลังทอ ช่างหูกทอไปได้เท่าใด ส่วนที่จะต้องทอก็ยังเหลืออยู่น้อยเท่านั้น แม้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้น แม่น้ำที่เต็มฝั่ง ย่อมไม่ไหลไปสู่ที่สูง ฉันใด อายุของมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมไม่กลับมาสู่ความเป็นเด็กอีก ฉันนั้น แม่น้ำซึ่งเต็มฝั่ง ย่อมพัดพาเอาต้นไม้ที่เกิดอยู่ริมฝั่งให้หักโค่นไป ฉันใด สัตว์ทั้งปวงย่อมถูกชราและมรณะพัดพาไป ฉันนั้น


ความตาย เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นจิตที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในชาติหนึ่งๆ เป็นจิตขณะสุดท้ายที่เกิดขึ้นแล้วดับไป จิตขณะสุดท้ายของภพนี้ชาตินี้ ทำกิจจุติ คือ ทำกิจเคลื่อนหรือพรากให้สิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ จะกลับมาสู่ความเป็นบุคคลนี้อีกไม่ได้เลย ความตาย เป็นความจริงที่ทุกคนหลีกหนีไม่พ้น เมื่อถึงคราวตาย ใครๆ ก็ช่วยไม่ได้ ใครๆ ก็ต้านทานไว้ไม่ได้ จักต้องตายแน่แท้ จะต้องตายเหมือนกับคนที่ตายไปแล้วนั่นแหละ ไม่มีใครรอดพ้นจากความตายไปได้

ข้อความบางตอนจากพระไตรปิฎก ในส่วนของเตมิยชาดกที่ได้ยกมานั้น เป็นเครื่องเตือนใจที่ดีสำหรับทุกคน และทุกคนก็คงจะเห็นด้วยอย่างแน่นอนกับข้อความที่ว่า

สัตว์โลกอันความตายครอบงำไว้ ความจริงเป็นอย่างนี้จริงๆ ไม่มีใครพ้นจากความตายไปได้เลย ถูกความตายครอบงำไว้จริงๆ หนีไปทางไหนก็ไม่สามารถพ้นไปได้ จะไปจักรวาลอื่นนอกโลก หรือจะไปที่ไหนก็ตามแต่ ก็ไม่มีใครจะหนีความตายได้ เพราะเหตุว่า สัตว์โลกทั้งหลายเมื่อเกิดมาแล้วก็จะต้องตาย ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ไม่ว่าจะหนีไปที่ใด ไม่ว่าจะอยู่ถึงสวรรค์ชั้นใดก็ตาม ความตายก็ครอบงำไว้ เพราะความจริง คือ สัตว์โลกทั้งหมดที่เกิดมาแล้วจะต้องตาย หนีความตายไม่พ้นเลย

อันความแก่ห้อมล้อมไว้ ความแก่ห้อมล้อมอยู่ทุกขณะ ทุกเวลา ไม่หนีหายไปเลยเหมือนกัน เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ก็แก่กว่าขณะที่ผ่านๆ มา เพราะฉะนั้น ความแก่นี้ห้อมล้อมอยู่ตลอดเวลา ทุกวินาที ทุกขณะของจิต ไม่พ้นไปอีกเหมือนกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่า แต่ละบุคคล ย่อมถูกความตายครอบงำไว้ หนีไม่พ้น และยังถูกความแก่ห้อมล้อมไว้อีก คือ มีอยู่ด้วยตลอดเวลา ทุกขณะ

และอีกข้อความหนึ่งที่ควรพิจารณา คือ

วันคืน ชื่อว่า สิ่งไม่เป็นประโยชน์เป็นไป เพราะเหตุว่า เป็นแต่เพียงนามธรรม และรูปธรรม แต่ละลักษณะที่เกิดขึ้น แล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ปรากฏแล้วก็ดับไป เสียงที่ปรากฏทางหู ปรากฏแล้วก็ดับไป กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก ปรากฏแล้วก็ดับไป รสที่เลิศที่อร่อย ที่ประณีต ปรากฏแล้วก็ดับไป โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) ปรากฏแล้วก็ดับไป นี่คือ วันและคืน ซึ่งเป็นการเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรม และรูปธรรม แต่ละลักษณะซึ่งเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป สืบต่อกันเป็นวันเป็นคืน เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เพียงเกิดขึ้นแล้วดับไปเท่านั้น ชื่อว่า “สิ่งไม่เป็นประโยชน์เป็นไป”

บางคนบางท่านอาจจะรู้สึกเป็นสุขเหลือเกิน เวลาที่ได้สิ่งที่ปรากฏทางตาที่น่าพอใจ ได้เสียงที่น่าพอใจ ได้กลิ่นที่น่าพอใจ ได้รสอาหารที่ประณีต ที่น่าพอใจ ทำให้มีความสุขมาก แต่ตามความเป็นจริงแล้วถึงจะสุขสักเท่าไร สุขนั้นก็หมดไปแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นสุข เป็นทุกข์อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างก็เป็นแต่เพียงสภาพของธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปหมดไป จึงชื่อว่า เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เป็นไป

ดังนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรมจากส่วนใดก็ตาม ทั้งหมดทั้งปวงนั้นก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง และเพื่อความไม่ประมาทในชีวิต เพราะเหตุว่า ในที่สุดแล้วทุกคนก็จะต้องตาย แต่ก่อนที่จะตาย ซึ่งก็ไม่สามารถจะรู้ได้ว่าเป็นวันใด เวลาใด นั้น ก็ควรที่จะได้ประโยชน์จากการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ให้มากที่สุด แสวงหาสิ่งที่เป็นสาระให้กับชีวิตให้มากที่สุด ประโยชน์หรือสาระที่ว่านั้น ได้แก่ ความเข้าใจพระธรรมตามความเป็นจริง อันเกิดจากการฟัง การศึกษาพระธรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะต้องสะสมเป็นที่พึ่งต่อไป และต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา ไม่ขาดการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ