[คำที่ ๒๗๖] ธมฺมคารวตา

 
Sudhipong.U
วันที่  8 ธ.ค. 2559
หมายเลข  32396
อ่าน  569

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ ธมฺมคารวตา

คำว่า ธมฺมคารวตา เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ดำ – มะ – คา – ระ – วะ – ตา] มาจากคำว่า ธมฺม (สิ่งที่มีจริง,คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) กับคำว่า คารวตา (ความเป็นผู้เคารพ) รวมกันเป็น ธมฺมคารวตา แปลว่า ความเป็นผู้เคารพในพระธรรม แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่ดีงาม ที่เห็นคุณค่าของพระธรรม ตั้งใจที่จะฟังด้วยความเคารพ ไม่ประมาทพระธรรม ว่า ง่าย ไม่ประมาทในแต่ละคำที่เป็นคำจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกๆ พระองค์ ก็เคารพในพระธรรม ดังข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค คารวสูตร ว่า

“พระสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใด ที่ล่วงไปแล้ว ก็ดี พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใด ที่ยังไม่มีมา ก็ดี และพระสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดในบัดนี้ ผู้ยังความโศกของชนเป็นอันมากให้เสื่อมหาย ก็ดี พระพุทธเจ้าเหล่านั้นทุกพระองค์ ทรงเคารพพระสัทธรรมอยู่แล้ว ยังอยู่ และจักอยู่ต่อไป ข้อนี้เป็นธรรมดา ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ กุลบุตรผู้รักตน หวังความเป็นผู้ใหญ่ เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงเคารพพระสัทธรรม”

ข้อความจาก สารัตถปกาสินี อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค สัทธัมมปฏิรูปกสูตร แสดงถึงลักษณะของผู้ที่ไม่เคารพในพระธรรม ซึ่งไม่ควรเลยที่จะเป็นอย่างนี้ ดังนี้ คือ

“ภิกษุใด เมื่อเขาประกาศเวลาฟังธรรม อันภิกษุหนุ่มและสามเณรนั่งห้อมล้อม หรือ กำลังทำนวกรรม (การงาน) เป็นต้นอย่างอื่น นั่งหลับในโรงฟังธรรม หรือ เป็นผู้ฟุ้งซ่าน นั่งคุยเรื่องอื่น ภิกษุนี้ ชื่อว่า ไม่มีความเคารพในพระธรรม”


พระพุทธศาสนา หมายถึง คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ละคำที่พระองค์ตรัส เป็นไปเพื่อปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ถ้าไม่มีโอกาสได้ฟัง ไม่มีโอกาสได้ศึกษา ย่อมไม่มีทางที่จะเข้าใจเลย บุคคลผู้ที่ฟัง ศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบเท่านั้น ถึงจะเข้าใจและได้รับประโยชน์จากพระธรรมอย่างแท้จริง เหมือนอย่างผู้ที่เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาล ที่ได้ฟังพระธรรม ได้รับประโยชน์จากพระธรรมตามกำลังปัญญาของตนเอง ถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ หรือ ถ้าไม่ได้บรรลุธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคล ก็สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นที่พึ่งต่อไปในภายหน้า, สิ่งที่ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่งคือ การฟังพระธรรม เป็นโอกาสที่หายากในชีวิต เป็นการยากมากที่จะได้ฟัง เมื่อมีโอกาสแล้ว ได้พบพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็ไม่ควรจะปล่อยโอกาสนั้นให้ผ่านไป ควรตั้งใจฟังด้วยความเคารพ

ความเป็นผู้เคารพในพระธรรม ย่อมเป็นการฟังพระธรรมด้วยความเคารพ ตั้งใจฟังด้วยความนอบน้อม เห็นคุณค่า และพิจารณาไตร่ตรองให้เข้าใจถูกต้อง ด้วยความละเอียดรอบคอบระมัดระวังอย่างยิ่ง ซึ่งสภาพจิตในขณะที่มีความเคารพยำเกรงในพระธรรม ย่อมเป็นสภาพจิตที่ดีงาม เป็นกุศล กาย วาจา ก็สงบเสงี่ยม ซึ่งจะต่างจากขณะที่ฟังด้วยความไม่เคารพ กล่าวคือ ถ้าฟังโดยไม่เคารพ เมื่อฟังแล้วย่อมคิดเรื่องอื่นบ้าง มีจิตฟุ้งซ่านด้วยอกุศล มีความลบหลู่ ตีเสมอ มุ่งจับผิดผู้แสดงธรรมบ้าง มีการคะนองมือเป็นต้นบ้าง หรือมีกิริยาอาการไม่เหมะสมอื่นๆ ในขณะที่ฟัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเลย

เป็นที่น่าพิจารณาว่า แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงตรัสรู้พระธรรมด้วยพระองค์เอง ทรงเป็นพระบรมศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พระองค์ก็ทรงมีความเคารพยำเกรงในพระธรรม ทั้งในขณะที่ทรงแสดง และในขณะที่ทรงฟังพระธรรมที่พระสาวกกำลังแสดงด้วย

เพราะฉะนั้น บุคคลผู้ที่ฟังพระธรรม ควรที่จะพิจารณาอยู่เสมอว่า พระธรรมที่สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น มีค่ามาก มีค่ายิ่งกว่าทรัพย์สมบัติใดๆ ในโลกทั้งปวง จึงต้องฟังด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ด้วยความละเอียดรอบคอบ ไม่ควรให้ผ่านไปโดยฟังอย่างไม่ตั้งใจ เพราะเหตุว่า บุคคลผู้ฟังด้วยดี ย่อมได้ปัญญา ปัญญาย่อมเจริญขึ้น เพิ่มขึ้นจากการฟังในแต่ละครั้ง เป็นการค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เป็นการฟังการศึกษาในสิ่งที่ประเสริฐที่สุด.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ