[คำที่ ๒๗๗] ปํสุกูลจีวร

 
Sudhipong.U
วันที่  15 ธ.ค. 2559
หมายเลข  32397
อ่าน  677

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ ปํสุกูลจีวร

คำว่า ปํสุกูลจีวร เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ปัง - สุ - กู - ละ- จี -วะ- ระ] มาจากคำว่า ปํสุ (ฝุ่น) กุ (น่าเกลียด) อุล ธาตุ ลงในอรรถ ว่า ถึง [รวมกันเป็น กูล] และ คำว่า จีวร (ผ้า) รวมกันเป็น ปํสุกูลจีวร เขียนเป็นไทยได้ว่า บังสุกุลจีวร แปลโดยศัพท์ว่า ผ้าเปื้อนฝุ่น , ผ้าที่ถึงความน่าเกลียดเหมือนฝุ่น มีหลายชนิดด้วยกัน ซึ่งคนอื่นเขาทิ้งแล้ว ไม่ต้องการแล้ว ตามข้อความจาก พระวินัยปิฎก ปริวาร ว่า

ผ้าบังสุกุลมี ๕ คือ ผ้าตกที่ป่าช้า ๑ ผ้าตกที่ตลาด ๑ ผ้าหนูกัด ๑ ผ้าปลวกกัด ๑ ผ้าถูกไฟไหม้ ๑

ผ้าบังสุกุล แม้อื่นอีก ๕ คือ ผ้าที่วัวกัด ๑ ผ้าที่แพะกัด ๑ ผ้าที่ห่มสถูป ๑ ผ้าที่เขาทิ้งในที่อภิเษก ๑ ผ้าที่เขานำไปสู่ป่าช้าแล้วนำกลับมา ๑

เป็นเรื่องของผ้า เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับเรื่องอื่นเลย พระภิกษุ แสวงหาผ้าเหล่านี้ มาทำเป็นเครื่องนุ่งห่มที่ถูกต้องตามพระวินัยได้ ดังเช่นเรื่องของพระอนุรุทธเถระ ที่ท่านแสวงหาผ้าบังสุกุล ดังนี้

ในวันหนึ่ง พระอนุรุทธเถระมีจีวรเก่าแล้ว แสวงหาจีวรในที่ทั้งหลายมีกองหยากเยื่อเป็นต้น. หญิงภรรยาเก่าของพระเถระนั้นในอัตภาพที่ ๓ (ชาติที่ ๓) แต่อัตภาพนี้ ได้เกิดเป็นเทพธิดาชื่อชาลินี ในภพดาวดึงส์. นางชาลินีเทพธิดานั้น เห็นพระเถระเที่ยวแสวงหาท่อนผ้าอยู่ ถือผ้าทิพย์ ๓ ผืน ยาว ๓ ศอก กว้าง ๔ ศอก แล้วคิดว่า "ถ้าเราจักถวายโดยทำนองนี้ พระเถระจักไม่รับ" จึงวางผ้าไว้บนกองหยากเยื่อแห่งหนึ่ง ข้างหน้าของพระเถระนั้นผู้แสวงหาท่อนผ้าทั้งหลายอยู่ โดยอาการที่เพียงชายผ้าเท่านั้น จะปรากฏได้. พระเถระเที่ยวแสวงหาท่อนผ้าอยู่โดยทางนั้น เห็นชายผ้าของท่อนผ้าเหล่านั้นแล้ว จึงจับที่ชายผ้านั้นนั่นแล ฉุดมาอยู่ เห็นผ้าทิพย์มีประมาณดังกล่าวแล้ว ถือเอาด้วยคิดว่า "ผ้านี้ เป็นผ้าบังสุกุลอย่างอุกฤษฏ์ (อย่างสูง) หนอ" ดังนี้แล้วหลีกไป.

ครั้นในวันทำจีวรของพระเถระนั้น พระศาสดามีภิกษุ ๕๐๐ รูปเป็นบริวาร เสด็จไปวิหารประทับนั่งแล้ว. แม้พระเถระผู้ใหญ่ ๘๐ รูป ก็นั่งแล้วอย่างนั้นเหมือนกัน. พระมหากัสสปเถระ นั่งแล้วตอนต้น เพื่อเย็บจีวร. พระสารีบุตรเถระ นั่งในท่ามกลาง. พระอานนท์เถระ นั่งในที่สุด. ภิกษุสงฆ์กรอด้าย. พระศาสดาทรงร้อยด้ายนั้นในรูเข็ม. พระมหาโมคคัลลานเถระ ความต้องการด้วยวัตถุใดๆ มีอยู่ เที่ยวน้อมนำวัตถุนั้นๆ มาแล้ว.

(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เรื่องพระอนุรุทธเถระ)


พุทธศาสนิกชน หรือ ชาวพุทธ ควรอย่างยิ่งที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะถ้าได้ฟังได้ศึกษา ด้วยความละเอียด มีการพิจารณาไตร่ตรองในสิ่งที่ได้ฟังได้ศึกษา พิจารณาในความเป็นเหตุเป็นผลของธรรม ก็จะทำให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามพระธรรม เมื่อมีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ทั้งผู้ที่เป็นบรรพชิต และ ผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ ก็จะมีความประพฤติที่คล้อยตามพระธรรม คล้อยไปตามความเข้าใจที่เจริญขึ้น ไม่กระทำในสิ่งที่ผิดที่ไม่ถูกต้อง จะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทั้งหมดทั้งปวง นั้น เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลส เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม ซึ่งถ้าได้ศึกษาไปตามลำดับแล้ว ก็จะรู้ได้ว่า อะไรคือสิ่งที่ถูก อะไร คือ สิ่งที่ผิดไม่เป็นไปตามพระธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เมื่อได้เข้าใจแล้วว่า อะไรผิด อะไรถูก ก็พร้อมที่จะละการกระทำที่ผิดที่ไม่ตรง แล้วน้อมประพฤติแต่สิ่งที่ถูก เท่านั้น

แม้แต่ในเรื่อง ผ้าป่า ความจริงคืออะไร เป็นไปตามพระธรรมวินัยหรือไม่? คำว่า ผ้าป่า นั้น เป็นคำในภาษาไทย ซึ่งเมื่อเทียบเคียงสอบทานกับพระไตรปิฎกแล้ว คือ ผ้าบังสุกุล ซึ่งแปลว่า "ผ้าเปื้อนฝุ่น หรือ ผ้าที่ถึงความน่าเกลียดเหมือนฝุ่น" ซึ่งเป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของ คนอื่นเขาไม่ต้องการแล้ว ที่พระภิกษุท่านแสวงหาด้วยการเก็บตามป่าช้า บ้าง ตามกองขยะ บ้าง ตามสถานที่ที่บุคคลนำไปทิ้งแล้ว บ้าง เป็นต้น เก็บรวบรวมมาทำเป็นผ้าจีวรสำหรับนุ่งห่ม เรียกว่า ผ้าบังสุกุล หรือ ผ้าบังสุกุลจีวร

การทอดผ้าป่า หรือ การถวายผ้าป่า อย่างที่ทำกันในปัจจุบันนี้ ไม่มีในพระไตรปิฎก ถ้าจะพิจารณาตามความเป็นจริงในสังคมไทย แล้ว ผ้าป่า มีความคลาดเคลื่อนจากพระธรรมวินัย ซึ่งจะเห็นได้ว่า ที่บอกว่าถวายผ้าป่า ก็ไม่ใช่ผ้าป่าในพระธรรมวินัย เพราะส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องของเงินทอง เงินทอง ไม่ใช่ผ้าป่า สิ่งที่นำไปถวาย ก็ไม่ใช่ผ้าป่า เพราะผ้าป่าที่แท้จริง เป็นผ้าบังสุกุล คือผ้าเปื้อนฝุ่นที่พระภิกษุแสวงหามาเพื่อทำเป็นจีวรเท่านั้นเอง

ถ้าหากคฤหัสถ์มีความประสงค์จะสร้างถาวรวัตถุถวายไว้ในพระพุทธศาสนา เช่น สร้างพระอุโบสถ สร้างศาลา สร้างหอฉัน เป็นต้น ก็สามารถร่วมใจกันบริจาคเงิน แล้วสร้างถวายได้เลย โดยที่ไม่เกี่ยวกับผ้าป่า และ ที่สำคัญผู้ที่เป็นพระภิกษุจะต้องไม่รับเงินทอง เพราะการรับเงินทองของพระภิกษุ ไม่ว่าจะรับเพื่อตน หรือรับเพื่อสิ่งอื่น ก็เป็นอาบัติ (ล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้) ทั้งนั้น มีโทษสำหรับภิกษุผู้รับโดยส่วนเดียว ส่วนคฤหัสถ์ผู้ถวาย ก็ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ฉลาดในการให้ทาน เพราะการให้เงินทองแก่พระภิกษุ เป็นเหตุให้พระภิกษุท่านต้องอาบัติ เท่ากับว่าการกระทำของเราเองเป็นเหตุให้พระภิกษุไปเกิดในอบายภูมิ เพราะทำให้ท่านต้องอาบัติ มีอาบัติเป็นเครื่องกั้นการบรรลุมรรค ผล นิพพาน และกั้นการเกิดในสุคติภูมิ ด้วย ถ้าไม่แก้ไขให้ถูกต้องตามพระวินัย หากมรณภาพ (ตาย) ในขณะที่เป็นพระภิกษุอยู่ ชาติถัดไป พระภิกษุที่ต้องอาบัติก็ต้องเกิดในอบายภูมิ เท่านั้น เพราะฉะนั้นแล้ว เรื่องเงินทอง ไม่ควรแก่เพศบรรพชิตโดยประการทั้งปวง ในวัดหนึ่งๆ ก็ควรที่จะมีไวยาวัจกร (คฤหัสถ์ผู้ขวนขวายในสิ่งที่เป็นประโยชน์) ดูแลเรื่องนี้โดยตรง โดยที่ไม่เกี่ยวกับพระภิกษุ เพศบรรพชิต เป็นเพศที่จะต้องขัดเกลากิเลสเป็นอย่างยิ่ง ถ้ามีการรับเงินทอง ก็ไม่ต่างอะไรกับคฤหัสถ์ที่ยังยุ่งเกี่ยวกับเงินทอง และการประพฤติผิดพระวินัย ชื่อว่า ไม่มีความเคารพยำเกรงในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงบัญญัติพระวินัย ด้วยพระองค์เอง เพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาอันจะเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสของผู้นั้น อีกทั้งการประพฤติผิดพระวินัย ก็ยังเป็นโทษเป็นภัยแก่ผู้ที่ประพฤติผิดอีกด้วย ความเป็นบรรพชิต ถ้ารักษาไม่ดีก็มีแต่จะฉุดคร่าผู้นั้นไปสู่อบายภูมิเท่านั้นจริงๆ สำหรับคฤหัสถ์ที่เข้าใจพระวินัย ก็มีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะกระทำในสิ่งที่เหมาะควรที่ไม่เป็นเหตุให้พระภิกษุต้องอาบัติ เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่น อีกทั้งยังเป็นการรักษาพระพุทธศาสนาด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องของแต่ละคนอีกด้วย เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจอย่างถูกต้อง น้อมประพฤติตามพระธรรม และเผยแพร่ความจริงตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ