[คำที่ ๒๗๙] ธมฺมรส

 
Sudhipong.U
วันที่  29 ธ.ค. 2559
หมายเลข  32399
อ่าน  279

ภาษาบาลี ๑ คำคติธรรมประจำสัปดาห์ “ธมฺมรส

คำว่า ธมฺมรส เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า ดำ - มะ – ระ – สะ ] มาจากคำว่า ธมฺม (พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก จนสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น) กับคำว่า รส (สิ่งที่นำมาซึ่งความยินดี) รวมกันเป็น ธมฺมรส แปลว่า รสแห่งพระธรรม, ธรรมรส แสดงถึงความเป็นจริงว่า พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นรสที่ประเสริฐ เพราะเป็นไปเพื่อปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด นำมาซึ่งความปลาบปลื้มยินดีอย่างยิ่ง เพราะสามารถทำให้พ้นจากทุกข์ พ้นจากกิเลสโดยประการทั้งปวง

ข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท แสดงความเป็นจริงของธรรมรส ไว้ว่า

“รส มีรสเกิดแต่ลำต้นเป็นต้น ทุกชนิด โดยส่วนสูงแม้รสแห่งสุธาโภชน์ (อาหารที่สะอาด) ของเทวดาทั้งหลาย ย่อมเป็นปัจจัยแห่งการยังสัตว์ให้ตกไปในสังสารวัฏฏ์ แล้วเสวยทุกข์โดยแท้ ส่วนพระธรรมรส กล่าวคือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ (มีสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น) และกล่าวคือ โลกุตตรธรรม ๙ ประการ (มรรคจิต ๔ ผลจิต ๔ และ พระนิพพาน) นี้แหละประเสริฐกว่ารสทั้งปวง เพราะเหตุนั้น พระศาสดา จึงตรัสว่า รสแห่งธรรม ชนะรส ทั้งปวง”


ในชีวิตประจำวัน ทุกคนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการบริโภคอาหาร เพื่อความสืบต่อเป็นไปแห่งชีวิต ซึ่งจะเห็นได้ว่าแต่ละบุคคลก็บริโภคมามาก อาหารที่ประณีตมีมากมาย ถ้าจะนับ ย่อมนับไม่ถ้วน แล้วที่จะเป็นอาหารที่ประณีตต่อไปก็จะมีอีกมากมายทีเดียว แต่อาหารเหล่านั้นก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดความยินดีพอใจเพียงชั่วขณะที่กระทบกับลิ้นเท่านั้น เวลาที่ผ่านลิ้นไปสู่ลำคอ หรือไปสู่ลำไส้ กระเพาะแล้ว อาหารทั้งหลายไม่ปรากฏเลย เพราะฉะนั้น ถ้าจะพิจารณาตามความเป็นจริงว่า ที่บุคคลมีความยินดีพอใจติดในรสอาหารอย่างมากนี้ ก็เพียงชั่วขณะสั้นๆ ที่ปรากฏในขณะที่กระทบลิ้นเท่านั้นเอง แล้วก็หมดไป ไม่สามารถจะตั้งอยู่ได้นานเลย แต่ก็เป็นที่ตั้งของความติดความยินดีพอใจได้ แต่สำหรับบุคคลที่ได้อบรมเจริญปัญญา ท่านย่อมสามารถที่จะเปรียบเทียบได้ว่า รสที่ปรากฏที่ลิ้นชั่วขณะที่ชิวหาวิญญาณ (จิตรู้รส) รู้รสนั้น เป็นแต่เพียงสิ่งที่ไม่เที่ยง ไม่เป็นสาระ ไม่เป็นสิ่งที่ทำให้หมดความกระหาย ความเร่าร้อน และความทุกข์ต่างๆ ได้เลย เพราะเหตุว่าถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้นรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ถึงแม้จะลิ้มรสที่ประณีตสักเท่าใดก็ไม่พอแก่ความต้องการ ก็ยังคงปรารถนาที่จะลิ้มรสที่ประณีตนั้นต่อไปอีก ไม่มีวันหยุด ไม่มีวันหมดสิ้น เพราะฉะนั้น รสที่ประเสริฐที่สุดที่จะดับความกระหาย ดับความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสิ่งที่กระทบสัมผัสกายทั้งปวง ก็ต้องเป็นรสของพระธรรม เท่านั้น

จึงแสดงให้เห็นว่า เทียบกันไม่ได้เลยระหว่างรสอาหารกับรสพระธรรม บุคคลผู้ที่เห็นรสพระธรรม ว่า เลิศกว่ารสทั้งปวง นั้น ก็จะต้องเป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรมพิจารณาไตร่ตรองจนเป็นความเข้าใจของตนเอง น้อมประพฤติปฏิบัติตาม และรู้ตามว่า สภาพธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นความจริงอย่างนั้น เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม จึงมีประโยชน์มากที่จะทำให้ผู้ศึกษาได้พิจารณาสภาพธรรมที่ปรากฏให้ละเอียดขึ้น ลึกซึ้งขึ้น เพื่อการประพฤติปฏิบัติจะได้ถูกต้องขึ้น รู้ความละเอียดของธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น จนกระทั่งเป็นปัญญาที่ประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ในที่สุด ยุคนี้สมัยนี้ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ยังดำรงอยู่ ก็เป็นโอกาสที่ดียิ่งที่ผู้สะสมเหตุที่ดีมา เห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริง จะได้ฟัง ได้ศึกษาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริงต่อไป เพราะสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในชีวิตไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทอง แต่เป็นปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก เท่านั้น และการที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้ ก็ต้องไม่ขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ