[คำที่ ๒๘๒] วชฺชทสฺสี

 
Sudhipong.U
วันที่  19 ม.ค. 2560
หมายเลข  32402
อ่าน  380

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “วชฺชทสฺสี

คำว่า วชฺชทสฺสี เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลี ว่า วัด – ชะ - ทัด - สี] มาจากคำว่า วชฺช (สิ่งที่เป็นโทษ คือ อกุศลธรรมทั้งหลาย) กับคำว่า ทสฺสี (แสดงให้เห็น,ชี้ให้เห็น) รวมกันเป็น วชฺชทสฺสี แปลว่า บุคคลผู้ชี้ให้เห็นโทษ, บุคคลผู้ชี้โทษ แสดงถึงความเป็นจริงของบุคคลผู้ที่ประกอบด้วยเมตตา มีปัญญาเข้าใจความจริงที่จะชี้ให้ผู้อื่นได้เห็นโทษของอกุศลธรรมตามความเป็นจริง มุ่งประโยชน์ต่อผู้อื่นให้ได้ถอยกลับจากสิ่งที่ผิดแล้วน้อมประพฤติในสิ่งที่ถูก ตามข้อความจาก ธัมมปทัฏฐกถา อรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ว่า

"ภิกษุผู้ดำรงอยู่แล้วตามสภาพ ด้วยสามารถแห่งการอุ้มชูด้วยการแลดูโทษนั้นๆ เพื่อประโยชน์จะให้รู้สิ่งที่ยังไม่รู้ เพื่อต้องการจะได้ตามถือเอาสิ่งที่รู้แล้ว เพราะความเป็นผู้ปรารถนาความเจริญแห่งคุณมีศีลเป็นต้น แก่ผู้นั้น"

ข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก คันธารชาดก มีว่า

“บุคคลผู้ทำกรรมไม่สมควร เมื่อถูกตักเตือนว่า “ท่านทำกรรมไม่ควรแล้ว” จะโกรธโดยส่วนเดียวก็ตาม หรือไม่โกรธก็ตาม, อีกอย่างหนึ่ง เขาจะเขี่ยทิ้งเหมือนกำแกลบหว่านทิ้งก็ตาม แต่ว่าเมื่อเรากล่าวคำเป็นธรรมอยู่ ขึ้นชื่อว่าบาปย่อมไม่มี”


ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลสประการต่างๆ ยังมีกิเลสอยู่ครบทั้งโลภะ ความติดข้องยินดีพอใจ โทสะ ความโกรธความขุ่นเคืองใจไม่พอใจ โมหะ ความหลงความไม่รู้ เป็นต้น ย่อมเป็นไปได้ที่จะมีความประพฤติที่ไม่ดีทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ เป็นธรรมดา เป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะอยู่ในเพศบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ก็ตาม ถ้าเป็นบรรพชิตก็มีการล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ เช่น รับเงินทอง เป็นต้น ถ้าเป็นคฤหัสถ์ ก็มีการล่วงศีล ทำทุจริตกรรมประการต่างๆ เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ทั้งหมด เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เป็นอกุศล เป็นโทษ

ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครที่ไม่เคยทำผิด ที่สำคัญทำผิดแล้วจะรู้สึกตัวหรือเปล่าว่าเป็นผู้ทำผิด บุคคลผู้ที่มีปัญญาเข้าใจสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง พร้อมทั้งมีเมตตา ความเป็นมิตรเป็นเพื่อนหวังดีเพื่อที่จะให้รู้ถึงโทษนั้นตามความเป็นจริง ว่า โทษ เป็นโทษ มีจิตอนุเคราะห์เกื้อกูลต่อบุคคลผู้หลงผิด ผู้กระทำผิดประการต่างๆ เพื่อให้เป็นผู้ถอยกลับจากกุศล แล้วตั้งมั่นในกุศล เมื่อคนอื่นไม่รู้ว่าเป็นโทษ จึงกล่าวให้ได้เข้าใจตามความเป็นจริง ท่านจึงเสียสละเวลาเพื่อที่จะแนะนำ ตักเตือน ชี้แนวทางที่ถูกต้องให้ เป็นการกล่าวให้ได้รู้ถึงโทษของความประพฤติที่ไม่ดี นั้นตามความเป็นจริง กระจายความจริงให้ได้รู้ในทุกที่ทุกสถาน เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ที่เห็นประโยชน์จากคำแนะนำ จากคำเตือนที่เป็นประโยชน์ ย่อมทำให้เป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศลที่เกิดขึ้น แล้วมีความจริงใจที่จะน้อมประพฤติปฏิบัติตามขัดเกลากิเลสของตนเอง โดยเป็นผู้กลับตัวกลับใจเสียใหม่ ละสิ่งที่ไม่ดี สะสมแต่สิ่งที่ดีงามต่อไป และอีกประการหนึ่ง ถ้าไม่ใช่ผู้กระทำผิดโดยตรง แต่เมื่อได้เข้าใจความจริง แล้ว ก็จะไม่ส่งเสริมในสิ่งที่ผิด ไม่เห็นดีเห็นงามไปกับสิ่งที่ผิด นั้น เช่น เมื่อได้เข้าใจแล้วว่า พระภิกษุรับเงินทองไม่ได้ เงินทองไม่ควรแก่เพศบรรพชิตโดยประการทั้งปวง ก็ไม่ถวายเงินให้แก่พระภิกษุ เพราะการถวายเงินแก่พระภิกษุ เป็นเหตุให้พระภิกษุล่วงละเมิดพระวินัย เท่ากับผลักพระภิกษุให้ลงอบายภูมิ

โดยปกติ ถ้าเป็นผู้ที่มีเหตุมีผล ในเมื่อตนทำผิด พูดผิด เป็นคนไม่ตรง เมื่อมีบุคคลอื่นคอยตักเตือน คอยชี้ให้เห็นถึงความผิด ก็ย่อมจะเป็นผู้มีปกติชอบใจต่อผู้คอยตักเตือนนั้น เปรียบเสมือนผู้ชี้บอกขุมทรัพย์ให้ เพราะถ้าไม่เตือนด้วยพระธรรมแล้วใครจะเตือน, บุคคลผู้ที่คอยตักเตือนนั้นเป็นบัณฑิต เมื่อคบกับบัณฑิตเช่นนี้ ย่อมจะพบแต่คุณอันประเสริฐอย่างเดียว จะไม่พบกับความเสื่อมเลย เพราะเป็นผู้เกื้อกูลให้ห่างไกลจากความประพฤติที่ผิดทั้งหลาย ในทางตรงกันข้ามถ้าเป็นผู้ที่ไม่เห็นประโยชน์ ไม่มีความสำนึกผิด ย่อมจะเพิ่มกิเลสให้กับตนเอง คือ ไม่พอใจในคำแนะนำดังกล่าวนั้น โกรธผู้ที่คอยตักเตือนด้วย และยังทำผิดต่อไป หมักหมมสิ่งสกปรกลงในจิตต่อไปอีก ยากที่จะเกื้อกูลได้ เพราะฉะนั้นแล้ว พระธรรม จึงเป็นประโยชน์สำหรับผู้มีความจริงใจที่จะรับฟังและน้อมประพฤติปฏิบัติตามอย่างแท้จริง

เนื่องจากว่าแต่ละบุคคลมีอัธยาศัยไม่เหมือนกัน ชอบไม่เหมือนกัน บางทีเราหวังดี พูดดี แนะนำดี แต่ผิดเวลา ผิดโอกาส ย่อมไม่เป็นที่พอใจของบุคคลคนนั้น ก็เป็นได้ ดังนั้น โอกาสใดที่สมควรแก่การตักเตือนแนะนำในสิ่งที่ดี ก็ควรที่จะตักเตือน ควรที่จะแนะนำด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตา แต่ถ้าเมื่อถึงเวลาอันสมควรแล้ว แนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์แล้ว ทำอย่างดีที่สุดแล้ว เขาไม่รับฟัง กลับแสดงความโกรธให้ปรากฏ ก็ขอให้พิจารณาถึงความที่แต่ละบุคคลมีกรรมเป็นของของตน สะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น, ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งที่แท้จริง นำไปในกิจทั้งปวงที่เป็นกุศล แม้จะมีการแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น หวังประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็เพราะปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก นั่นเอง แล้วปัญญาจะมาจากไหน ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง รากฐานที่สำคัญที่จะทำให้ปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ คือ ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยความเคารพ ไม่ประมาทในคำจริงแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ