[คำที่ ๒๘๓] ธุตงฺค

 
Sudhipong.U
วันที่  26 ม.ค. 2560
หมายเลข  32403
อ่าน  608

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ธุตงฺค”

คำว่า ธุตงฺค เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า ทุ - ตัง - คะ] มาจากำคำว่า ธุต (กำจัดกิเลสอกุศลธรรม) กับคำว่า องฺค (องค์ธรรม,ส่วนของธรรม) รวมกันเป็น ธุตงฺค เขียนเป็นไปไทยได้ว่า ธุดงค์ หมายถึง องค์ธรรมหรือส่วนของธรรมที่เป็นไปเพื่อกำจัดกิเลส ทั้งหมดของธุดงค์นั้น เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น เป็นไปเพื่อความมักน้อยสันโดษ เมื่อความสงัดจากอกุศล ไม่ใช่การประกาศให้คนอื่นรู้ว่าตนเองรักษาธุดงค์ ดังข้อความจาก ปปัญจสูทนี อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ รถวินีตสูตรว่า

พระเถระ ๒ พี่น้อง อยู่ในเจติยบรรพต. พระเถระองค์น้อง รับท่อนอ้อยที่อุปัฏฐากเขาส่งมา ได้ไปยังสำนักของพระเถระผู้พี่ พูดว่า หลวงพี่ฉันเสียซิ. เป็นเวลาที่พระเถระฉันแล้วบ้วนปาก. พระเถระผู้พี่กล่าวว่า พอล่ะเธอ. พระผู้น้องชายถามว่า หลวงพี่ถือเอกาสนิกังคธุดงค์ (องค์แห่งภิกษุผู้ฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นปกติ) หรือ?. พระเถระผู้พี่กล่าวว่า เธอ นำท่อนอ้อยมา แม้เป็นผู้ถือเอกาสนิกังคธุดงค์มาถึง ๕๐ ปีก็ปกปิดธุดงค์ไว้ ฉันแล้ว บ้วนปาก อธิษฐานธุดงค์ใหม่แล้วไป.


ความเป็นจริงของพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่เคยเปลี่ยน เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น พระธรรมทั้งหมดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ถ้าเป็นไปเพื่อความติดข้องต้องการ เพื่อได้ นั่นไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน ธุดงค์ คือ องค์ธรรมหรือข้อประพฤติปฏิบัติอันเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น เพื่อความมักน้อยสันโดษ เพื่อความสงบสงัดจากอกุศล ที่สำคัญต้องเป็นผู้มีปัญญารู้ประโยชน์ของธุดงค์ จึงจะสมาทาน (ถือเอาเป็นข้อปฏิบัติด้วยดี) รักษาธุดงค์ได้ ไม่ใช่การไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ไม่ใช่การเดินดง เดินป่า ไม่ใช่การเดินเป็นแถวตามๆ กันแล้วให้คนมากราบไหว้บูชาแต่อย่างใด ธุดงค์ทั้งหมด เป็นความประพฤติด้วยความเห็นประโยชน์ของการเป็นผู้อยู่ขัดเกลากิเลส ที่จะประพฤติด้วยอัธยาศัยของแต่ละบุคคลโดยไม่มีการบังคับ ขึ้นอยู่กับการเป็นผู้เห็นประโยชน์ของการขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้นอย่างแท้จริง และสำหรับผู้สมาทานรักษาธุดงค์จริงๆ ขัดเกลาจริงๆ มีแต่จะปกปิดคุณของตน ไม่ประสงค์ที่จะให้ผู้อื่นรู้แม้จะสมาทานรักษามานานหลายสิบปีก็ตาม อย่างเช่นตัวอย่างของพระเถระท่านหนึ่ง สมาทานรักษาธุดงค์ข้อฉัน ณ อาสนะเดียว (เอกาสนิกังคะ) พระภิกษุน้องชายได้รับอ้อยจากคฤหัสถ์ผู้อุปัฏฐากแล้วนำไปถวายท่าน ท่านไม่รับ น้องชายจึงถามว่าท่านรักษาเอกาสนิกังคธุดงค์หรือ ท่านพระเถระแม้จะสมาทานรักษาธุดงค์มาถึง ๕๐ ปี ก็ไม่ยอมบอก ก็เลยรับอ้อยมาฉัน บ้วนปากแล้วสมาทานรักษาใหม่ นี้คือตัวอย่างของผู้ที่ขัดเกลาจริงๆ แม้จะรักษาธุดงค์ ก็ไม่ได้ประกาศหรือเปิดเผยให้ผู้อื่นได้รับรู้

และที่น่าพิจารณา คือ ธุดงค์ที่เป็นอกุศล ไม่มี ใครก็ตามที่ปรารถนาลามก มุ่งลาภ สักการะสรรเสริญ อยากให้ผู้อื่นยกย่องสรรเสริญ แล้วสมาทานธุดงค์ อย่างนี้ก็ไม่เป็นธุดงค์ในพระพุทธศาสนา แต่เป็นการกระทำที่ผิดคลาดเคลื่อนจากพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นการหันหลังให้พระสัทธรรม มีแต่จะเป็นโทษโดยส่วนเดียว

ธุดงค์ มีทั้งหมด ๑๓ ประการ ได้แก่

๑. ปังสุกูลิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุล เป็นปกติ คือ ใช้แต่ผ้าบังสุกุล คือ ผ้าเปื้อนฝุ่น เป็นผ้าเก่าที่คนเขาทิ้งเอาไว้ตามกองขยะบ้าง ผ้าข้างถนนบ้าง ผ้าห่อศพบ้าง ผ้าเช็ดมลทินครรภ์ บ้าง แล้วนำผ้าเหล่านั้นมาซัก ย้อม เย็บต่อกันจนเป็นผืนใหญ่ที่พอจะใช้ได้ เว้นจากการรับผ้าจีวรที่มีผู้นำมาถวาย

๒. เตจีวริกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการทรงไว้ซึ่งไตรจีวรเป็นปกติ กล่าวคือ ทรงผ้าไตรจีวร ซึ่งเป็นผ้าเพียง ๓ ผืน ได้แก่ ผ้าอุตตราสงค์ (ผ้าจีวร) ผ้าอันตรวาสก (ผ้าสบงหรือผ้านุ่ง) และผ้าสังฆาฏิ (ผ้าห่มซ้อน) เพียงผ้า ๓ ผืนนี้ ก็เพียงพอที่จะเป็นเครื่องรักษากายให้ชีวิตของท่านเป็นไปได้

๓. ปิณฑปาติกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการเที่ยวบิณฑบาตเป็นปกติ กล่าวคือ เที่ยวบิณฑบาต แล้วฉันเฉพาะอาหารที่ได้มาจากการเที่ยวบิณฑบาต เว้นจากการรับกิจนิมนต์ แสดงถึงความเป็นผู้มักน้อย สันโดษ ขัดเกลาจริงๆ อาหารที่ได้มาก็เพียงเพื่อยังอัตภาพให้เป็นไปได้เท่านั้น

๔. สปาทานจาริกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเรือนเป็นปกติ กล่าวคือ เป็นการเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับบ้าน ไม่เลือกบ้าน ไม่ว่าจะมีผู้ถวายอะไร ก็รับไปตามลำดับบ้าน ไม่ข้ามบ้านตามใจชอบ

๕. เอกาสนิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีการฉัน ณ อาสนะเดียว (ที่นั่งเดียว) เป็นปกติ กล่าวคือ นั่งฉันอาหาร ณ ที่นั่งที่เดียวจนกว่าจะฉันเสร็จ ไม่นั่งหลายที่

๖. ปัตตปิณฑิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันถือเอาก้อนข้าวในบาตรเป็นปกติ กล่าวคือ จะนำอาหารทุกชนิดที่จะบริโภคในมื้อนั้น มารวมกันในบาตร แล้วจึงฉันอาหารนั้น ไม่ติดในรสของอาหาร และไม่วุ่นวายเกี่ยวกับภาชนะที่ใช้ด้วย

๗. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้อันไม่ฉันปัจฉาภัตรเป็นปกติ กล่าวคือ เมื่อรับอาหารมาแล้ว ตั้งใจว่าจะไม่รับอะไรเพิ่มอีกแล้ว หลังจากนั้นถึงแม้จะมีใครนำอาหารมาถวายเพิ่มอีก ก็จะไม่รับอะไรเพิ่มอีกเลย

๘. อารัญญิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในป่าเป็นปกติ กล่าวคือ จะอยู่เฉพาะในป่า ไม่อยู่ในเขตบ้าน

๙. รุกขมูลิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ที่โคนไม้เป็นปกติ กล่าวคือ จะพักอาศัยอยู่ใต้ต้นไม้เป็นหลัก งดเว้นจากการอยู่ในที่มีหลังคาที่สร้างขึ้นมามุงบัง

๑๐. อัพโภกาสิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในที่แจ้งเป็นปกติ กล่าวคือ จะไม่เข้าสู่ที่มุงบังใดๆ เลย

๑๑. โสสานิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในป่าช้าเป็นปกติ กล่าวคือ เป็นผู้งดเว้นจากที่พักอันสุขสบายทั้งหลาย แล้วไปอาศัยอยู่ในป่าช้า เป็นผู้ไม่ประมาท ระลึกถึงความตายอยู่เสมอ

๑๒. ยถาสันถติกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในเสนาสนะตามที่ท่านจัดให้ เป็นปกติ กล่าวคือ เมื่อใครชี้ให้ไปพักที่ไหน หรือจัดที่พักอย่างใดไว้ให้ ก็พักอาศัยในที่นั้นๆ โดยไม่เลือกว่าสะดวกสบายหรือไม่สะดวกสบาย หรือถูกใจหรือไม่ถูกใจ

๑๓. เนสัชชิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ด้วยความนั่งเป็นปกติ กล่าวคือ อยู่ในอิริยาบถเพียง ๓ เท่านั้น คือ ยืน เดิน และนั่ง เป็นผู้เว้นจากการนอน ไม่เอนหลังนอน เป็นการบรรเทาความเป็นผู้มัวเมาในการนอน

ทั้งหมดเป็นเรื่องของการขัดเกลาและเป็นไปตามอัธยาศัยของแต่ละท่านจริงๆ พระภิกษุสามารถสมาทานรักษาธุดงค์ได้ทั้ง ๑๓ ข้อ สามเณรสามารถสมาทานรักษาได้ ๑๒ข้อ เว้นข้อที่เกี่ยวกับไตรจีวร ส่วนคฤหัสถ์สามารถสมาทานรักษาได้ ๒ข้อ ที่เกี่ยวกับอาหาร คือ บริโภค ณ ที่นั่งที่เดียว และบริโภคโดยใช้ภาชนะเดียว ข้อที่น่าพิจารณาเพิ่มเติม คือ แม้ไม่ได้สมาทานรักษาธุดงค์ ก็ไม่ได้ผิดอะไร เพราะเป็นเรื่องของอัธยาศัยของแต่ละคนที่จะสมาทานรักษาขัดเกลายิ่งขึ้น นอกเหนือจากสำรวมระวังรักษาสิกขาบทอันเป็นพระวินัยบัญญัติ แม้ไม่ได้สมาทานรักษาธุดงค์ ก็สามารถที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ไม่ประมาทในการสะสมความดีในชีวิตประจำวันได้ ขึ้นอยู่กับความเป็นผู้เห็นประโยชน์ของพระธรรมเท่านั้นจริงๆ เพราะฉะนั้นแล้ว บุคคลผู้ที่เป็นชาวพุทธควรอย่างยิ่งที่จะได้ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เมื่อได้ศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบแล้ว จะเห็นถึงพระมหากรุณาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียดโดยประการทั้งปวง ให้สัตว์โลกได้เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงที่จะให้ไม่รู้ ให้ไม่เกิดปัญญานั้น ไม่มี แต่ที่มีการกระทำอะไรที่ผิดปกติ คลาดเคลื่อนไปจากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ก็เพราะว่าขาดการศึกษา ไม่มีความเข้าใจพระธรรมอย่างถูกต้อง ถูกอวิชชา (ความไม่รู้) มิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) ตลอดจนถึงกิเลสประการอื่นๆ ครอบงำ เลยทำให้มีการกระทำอะไรที่ผิดๆ มากมาย เป็นไปตามอำนาจของกิเลสที่ได้สะสมมา จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะได้ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงทุกคำ เป็นคำจริง ที่ให้ผู้ฟังผู้ศึกษาได้เข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เป็นไปเพื่อละคลายขัดเกลากิเลส และ เมื่อเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะไม่ตกไปในฝ่ายผิด ไม่ถูกชักจูงหรือไม่ถูกหลอกลวงด้วยกิเลสของคนอื่น เพราะได้เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว และยังสามารถจะอธิบายเกื้อกูลให้ผู้อื่นได้เข้าใจตามพระธรรมอย่างถูกต้องด้วย เป็นการช่วยกันรักษาพระพุทธศาสนา ด้วยการตั้งใจศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 14 พ.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ