[คำที่ ๒๘๔] สพฺพตฺถกกมฺมฏฺฐาน

 
Sudhipong.U
วันที่  2 ก.พ. 2560
หมายเลข  32404
อ่าน  1,237

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ สพฺพตฺถกกมฺมฏฺฐาน

คำว่า สพฺพตฺถกกมฺมฏฺฐาน เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า “สับ - พัด - ถะ - กะ - กำ - มัด - ถา - นะ] มาจากคำว่า สพฺพ (ทั้งปวง) อตฺถก (มีประโยชน์,พึงปรารถนา) กับคำว่า กมฺมฏฺฐาน (ที่ตั้งแห่งการกระทำ) รวมกันเป็น สพฺพตฺถกกมฺมฏฺฐาน เขียนเป็นไทยได้ว่า สัพพัตถกกัมมัฏฐาน หรือ สัพพัตถกกรรมฐาน หมายถึง กรรมฐานคือที่ตั้งแห่งการกระทำ (การอบรมเจริญ) ที่เป็นประโยชน์หรือพึงปรารถนาในที่ทั้งปวง กล่าวถึงสภาพธรรมฝ่ายดี ๒ ประการ คือ เมตตา กับ มรณสติ ซึ่งไม่เป็นโทษเป็นภัยแก่ใครๆ เลย ทั้งกับตนเองและผู้อื่น ตามข้อความจากปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ขัคควิสาณสูตร ว่า

“เมตตาและมรณสติ ชื่อว่า สัพพัตถกกัมมัฏฐาน, กัมมัฏฐานนั้น เรียกว่า สัพพัตถกะ เพราะเป็นกัมมัฏฐานอันบุคคลพึงปรารถนาในที่ทั้งปวง, ชื่อว่า เมตตา อันบุคคลพึงปรารถนาในที่ทั้งปวง มี อาวาส (ที่อยู่) เป็นต้น จริงอยู่ ภิกษุผู้อยู่ด้วยเมตตาในอาวาส ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของ สพรหมจารี (ผู้ประพฤติประเสริฐร่วมกัน) ทั้งหลาย อันเพื่อนพรหมจารีนั้น ไม่กระทบกระทั่ง ถึงความผาสุกอยู่ ผู้อยู่ด้วยเมตตา ในเทวดาทั้งหลาย เป็นผู้อันเหล่าเทวดารักษาคุ้มครองแล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข ผู้อยู่ด้วยเมตตา ในพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชาเป็นต้น อันท่านเหล่านั้นนับถือแล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข ผู้อยู่ด้วยเมตตา ในบ้านและนิคมเป็นต้น อันมนุษย์ทั้งหลายในที่ทั้งปวงมีที่เป็นที่เที่ยวไปเพื่อภิกขา (เที่ยวบิณฑบาต) เป็นต้น สักการะเคารพแล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข ผู้ละความใคร่ในชีวิต ด้วยการเจริญมรณานุสสติ ไม่ประมาทอยู่”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ว่าจะเป็นส่วนใด ล้วนเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสโดยส่วนเดียว ไม่มีคำสอนแม้แต่บทเดียวที่เป็นไปเพื่อการพอกพูนขึ้นของกิเลสอกุศลธรรมทั้งหลาย แม้ที่กล่าวถึงสัพพัตตถกกัมมัฏฐาน ก็กล่าวถึงสภาพธรรมที่ดีงาม ที่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นโทษเป็นภัยแก่ใครๆ เลยแม้แต่น้อย เป็นสิ่งที่ควรมี ควรอบรมเจริญในชีวิตประจำวัน

สัพพัตถกกัมมัฏฐาน หมายถึง กัมมัฏฐาน (ที่ตั้งแห่งการกระทำ) ที่เป็นประโยชน์ในที่ทั้งปวง หรือ พึงปรารถนาในที่ทั้งปวง คือ ในทุกที่ทุกสถาน ไม่มีจำกัดว่าจะเป็นที่ใด มี ๒ ประการ คือ เมตตา ความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน ความหวังดี ความปรารถนาดีต่อผู้อื่น และ มรณสติ สติที่ปรารภความตายเกิดขึ้นแล้วเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดีทั้งคู่

คำอธิบายพอที่จะเป็นความเข้าใจเบื้องต้น มีดังนี้

๑. เมตตา หมายถึง ความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน ความหวังดีเกื้อกูล มุ่งประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นมิตรทันที ให้อภัยได้ทันที ใจไม่เป็นทุกข์ไม่มีความเดือดร้อน เป็นเรื่องที่ง่ายกว่าความโกรธ เพราะโกรธต้องหาเรื่องผูกโกรธ ย้อนคิดถึงเรื่องที่ทำให้ตนเองโกรธมากมาย ซึ่งไม่ได้อยู่ที่คนอื่น แต่เป็นเพราะกิเลสของตนเองเท่านั้น เมื่อความโกรธเกิดขึ้น ก็ประทุษร้ายตนเองก่อน เพราะขณะนั้นถูกไฟคือโทสะแผดเผาทำร้ายจิตใจ ซึ่งจะเห็นได้ว่าถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ก็ไม่สามารถสะสมเมตตาให้เจริญขึ้นได้ โทสะหรือความโกรธที่มีกำลังย่อมเป็นเหตุให้ทำสิ่งที่ทำได้ยาก เช่น ฆ่า เบียดเบียน ประทุษร้ายผู้อื่น เป็นต้น ถ้าปัญญาไม่มีกำลัง ก็ย่อมไม่สามารถดับหรือทำลายกิเลสได้ ถ้าชาตินี้เมตตาเกิดไม่ได้ ชาติหน้าเมตตาก็น้อยมากเหมือนไม่มี แม้คิดว่ามี แต่อาจเป็นโลภะก็ได้ อย่างเช่น รักญาติพี่น้อง ติดข้องในเพื่อน แต่ถ้าเป็นเมตตาแล้วต่างกันมาก เนื่องจากเมตตาเป็นกุศลธรรม เป็นธรรมที่ดีงาม

๒. มรณสติ สติที่เกิดขึ้นปรารภความตายแล้วเป็นเหตุให้กุศลธรรมเจริญขึ้น ทำให้เป็นผู้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทมัวเมาในชีวิต เป็นเรื่องธรรมดาของสัตว์โลกที่เกิดมาแล้วจะต้องตาย ทุกชีวิตมีความตายเป็นที่สุด เห็นกันวันนี้อาจไม่เห็นกันในวันหน้า จากโลกนี้ไปแล้วจะไปไหน เกิดเป็นอะไร ก็ไม่สามารถที่จะทราบได้ กุศลที่สะสมไว้เต็มวันนี้และในวันที่ผ่านๆ มาตลอดจนถึงในชาติที่ผ่านๆ มาด้วย ก็สะสมสืบต่อไปอีกในสังสารวัฏฏ์ เจอบุคคลใหม่ ก็รักอีก โกรธอีก ด้วยเหตุนี้ การฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ประโยชน์สูงสุด คือ เห็นธรรมตามความเป็นจริง มิฉะนั้น ไม่มีทางที่จะขัดเกลาละคลายกิเลสได้ และที่น่าพิจารณา คือ สมบัติมีมากมาย แต่จะตายอยู่แล้ว ยังอยากเก็บไว้เป็นของเราไปเรื่อยๆ นานๆ หรือ เคยโกรธใคร จะตายอยู่แล้วก็ขอโกรธต่อไป หรือว่า จริงๆ แล้วไม่มีอะไรเลยที่จะเป็นของใครอย่างแท้จริง และกิเลสไม่เป็นประโยชน์แก่ใครเลยแม้แต่น้อย ถ้าไม่เป็นผู้ว่าง่ายในการที่จะขัดเกลาละคลายกิเลสตั้งแต่ในขณะนี้ ต่อไป ก็ยิ่งยาก มีแต่จะสะสมพอกพูนสิ่งที่ไม่ดีต่อไปอีก

เมื่อเข้าใจว่าทุกคนเกิดมาแล้วจะต้องตาย เกิดมาแล้วตายทุกคนไม่เว้นใครเลย แม้แต่ตัวเราเองก็จะต้องตายเหมือนอย่างคนที่ตายไปแล้ว นั่นแหละ จึงควรอย่างยิ่งที่จะสะสมกุศลธรรมเป็นที่พึ่งให้กับตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก ที่เจริญขึ้นจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมในชีวิตประจำวัน ไม่ขาดการฟังพระธรรม ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เมื่อปัญญาเจริญขึ้น กุศลธรรมประการต่างๆ มี เมตตา เป็นต้น ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นตามระดับขั้นของปัญญา ด้วย ซึ่งเป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสโดยตลอด.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Kalaya
วันที่ 24 พ.ย. 2567

อนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ