[คำที่ ๒๘๕] สงฺขารขนฺธ
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “สงฺขารขนฺธ”
คำว่า สงฺขารขนฺธ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า สัง - ขา - ระ -ขัน - ดะ] มาจากคำว่า สงฺขาร (สภาพธรรมที่ปรุงแต่งจิต) กับคำว่า ขนฺธ (สภาพธรรมที่เกิดดับ ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่า) รวมกันเป็น สงฺขารขนฺธ เขียนเป็นไทยได้ว่า สังขารขันธ์ หมายถึง ขันธ์ที่เป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เป็นไปต่างๆ ปรุงแต่งให้เป็นกุศลจิตบ้าง เป็นอกุศลจิต บ้าง เป็นต้น ข้อความจาก มโนรถปูรณี อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต แสดงความเป็นจริงของสังขารขันธ์ รวมถึงขันธ์ประการอื่นๆ ไว้ว่า
ก็จิตนี้นั่นแล ว่าโดยขันธ์ เป็นวิญญาณขันธ์ เวทนาที่สัมปยุตต์ (ประกอบพร้อม) ด้วยจิตนั้น เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาอันสัมปยุตต์ด้วยจิตนั้น เป็นสัญญาขันธ์ ธรรม มีผัสสะเป็นต้น ที่เกิดพร้อมกัน เป็นสังขารขันธ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีตลอดระยะเวลาที่ยาวนานถึงสี่อสงไขยแสนกัปเมื่อครั้งที่ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ก็เพื่อที่จะได้ทรงตรัสรู้ (รู้อย่างแจ่มแจ้ง) ซึ่งสภาพธรรมที่มีจริง ด้วยพระองค์เอง และเมื่อได้ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ทรงมีพระมหากรุณา แสดงสิ่งที่พระองค์ได้ตรัสรู้ให้สัตว์โลกได้เข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง พ้นจากความไม่รู้ พ้นจากความเห็นผิดและกิเลสทั้งหลาย สิ่งที่มีจริง นั้น มีจริงทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใดก็ตาม
ไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใดก็ตาม ก็มีสิ่งที่มีจริง แต่เป็นสิ่งที่ละเอียด ลึกซึ้งอย่างยิ่ง ยากที่จะเข้าใจเพราะสัตว์โลกสะสมความไม่รู้และกิเลสประการต่างๆ มามากในสังสารวัฏฏ์ การที่จะค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่มีจริงได้นั้น ก็ต้องได้ฟังคำจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยเหตุนี้ จึงควรอย่างยิ่งที่จะได้ฟังพระธรรมด้วยความเคารพ คือ ฟังเพื่อที่จะเข้าใจในแต่ละคำที่ได้ยิน ให้ถูกต้อง ชัดเจนตรงตามความเป็นจริง
ชีวิตประจำวัน เป็นธรรม มีธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอด เป็นขันธ์ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ ว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์บุคคล ตัวตน จิตก็มี เกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย ทุกขณะที่จิตเกิดขึ้นก็มีเจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต) เกิดร่วมด้วยตามควรแก่จิตขณะนั้นๆ และขณะนี้ก็มีรูปธรรมเกิดขึ้นเป็นไปด้วย เมื่อกล่าวโดยจำแนกแล้ว รูปทั้งหมด เป็นรูปขันธ์ ความรู้สึก เป็นเวทนาขันธ์ ความจำ เป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกประเภทต่างๆ มีผัสสะ (สภาพธรรมที่กระทบอารมณ์) เป็นต้น เป็นสังขารขันธ์ และจิตทุกขณะเป็นวิญญาณขันธ์ สำหรับ สังขารขันธ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในขันธ์ ๕ แล้ว หมายถึงเจตสิกที่ปรุงแต่งจิตให้เป็นไปต่างๆ มี ๕๐ ประเภท เพราะ เจตสิกทั้งหมด มี ๕๒ เฉพาะเจตสิก ๕๐ เท่านั้น ที่เป็นสังขารขันธ์ เนื่องจากว่า สัญญาเจตสิก เป็นสัญญาขันธ์ และเวทนาเจตสิก เป็นเวทนาขันธ์ เจตสิกที่เหลือเป็นสังขารขันธ์ทั้งหมด เช่น ผัสสะ (สภาพธรรมที่กระทบอารมณ์) เจตนา (ความจงใจ) โลภะ (ความติดข้อง) โทสะ (ความไม่พอใจ) โมหะ (ความหลง ความไม่รู้) ศรัทธา (ความผ่องใส) สติ (ความระลึกเป็นไปในกุศล) ปัญญา (ความเข้าใจถูกเห็นถูก) เป็นต้น
โดยปกติของปุถุชนแล้ว เป็นผู้ตกไปในฝักฝ่ายของอกุศลเสียเป็นส่วนใหญ่ เป็นผู้มีโทษมาก เพราะกาย วาจา และใจ เป็นไปกับด้วยอกุศล เมื่อสะสมมากขึ้นๆ มีกำลังมากขึ้น ก็ทำให้ล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนได้ เป็นความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศลธรรม ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดำ เป็นธรรมที่ไม่ดี เช่น โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ตามควรแก่อกุศลจิตประเภทนั้น ถ้าจิตไม่ได้เป็นไปในทาน ไม่ได้เป็นไปในศีล ไม่ได้เป็นไปในการอบรมเจริญความสงบของจิตและการอบรมเจริญปัญญาแล้ว เป็นอกุศลทั้งนั้น (เมื่อไม่กล่าวถึงขณะที่เป็นวิบาก และ กิริยา) กุศลเกิดน้อยมากเมื่อเทียบส่วนกับอกุศล ซึ่งขณะที่จิตเป็นกุศล ประกอบด้วยโสภณเจตสิกฝ่ายดีประการต่างๆ มี ศรัทธา หิริ (ความละอายต่อบาป) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อบาป) อโลภะ (ความไม่ติดข้อง) อโทสะ (ความไม่โกรธ) สติ (ความระลึกเป็นไปในกุศล) เป็นต้น และที่ขาดไม่ได้เลย คือ สติ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศล ย่อมเป็นการกั้นกระแสของอกุศล เนื่องจากว่าในขณะที่เป็นกุศล อกุศลก็เกิดไม่ได้ โดยไม่มีตัวตนที่ไปกั้น แต่เป็นธรรมฝ่ายดีที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ซึ่งจะต้องค่อยๆ เจริญกุศล เห็นประโยชน์ของความดีประการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ซึ่งจะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อละคลายกิเลส จนกระทั่งสามารถดับได้ในที่สุด ทั้งหมดนั้น ก็ไม่พ้นจากความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม
สังขารขันธ์ ปรุงแต่งจิตอยู่ทุกขณะ ไม่ขาดเลย ปรุงแต่งทำให้เป็นกุศลจิตบ้าง อกุศลจิต บ้าง ที่มีการทำดี น้อมไปในทางที่ดีที่ถูกที่ควร ก็เพราะสังขารขันธ์ ฝ่ายดี ปรุงแต่งจิต ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีการทำในสิ่งที่ผิดไม่ควรประการต่างๆ เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ ประพฤติปฏิบัติผิดจากหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาด้วยการไปเข้าสำนักปฏิบัติธรรม หรือแม้แต่ผู้ที่เป็นบรรพชิต มีการล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ เช่น รับเงินทอง ทำเครื่องรางของขลัง ลงเลขยันต์ สอนธรรมตลกให้คนอื่นหัวเราะ เป็นต้น ก็เพราะสังขารขันธ์ฝ่ายที่ไม่ดี ปรุงแต่งจิตนั่นเอง ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเลย แม้แต่น้อย
เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม สะสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย ทำให้เริ่มเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีในขณะนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดแล้วก็ดับ ไม่กลับมาอีกเลย ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่า กล่าวคือ ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนเป็นสัตว์เป็นบุคคล ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ธรรมก็เป็นอย่างนี้ เป็นแต่ละขันธ์จริงๆ ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่สำหรับผู้ที่ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจ ก็ย่อมได้รับประโยชน์จากพระธรรมตามกำลังปัญญาของตนเอง ขณะที่ปัญญาเกิดขึ้นก็ค่อยๆ ขัดเกลาละคลายความไม่รู้ไปทีละเล็กทีละน้อย ทำให้น้อมประพฤติเป็นไปในสิ่งที่ถูกที่ควร คล้อยตามปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้น.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ