[คำที่ ๒๘๖] ทิฏฺโฐฆ

 
Sudhipong.U
วันที่  16 ก.พ. 2560
หมายเลข  32406
อ่าน  367

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ทิฏฺโฐฆ”

คำว่า ทิฏฺโฐฆ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า ทิด - โถ - คะ] มาจากคำว่า ทิฏฺฐิ (ความเห็น ซึ่งในที่นี้หมายถึง มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง) กับคำว่า โอฆ (ห้วงน้ำ,สิ่งที่ทำให้หมู่สัตว์จมลง) รวมกันเป็น ทิฏฺโฐฆ เขียนเป็นไทยได้ว่า ทิฏโฐฆะ แปว่า ห้วงน้ำ คือ ความเห็นผิด ข้อความจาก สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ให้ความหมายของโอฆะ ไว้ว่า

“ชื่อว่า โอฆะ เพราะอรรถ (ความหมาย) ว่า ย่อมยังสัตว์นั้นให้จมลงในวัฏฏะ

ข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกา เอกนิบาต แสดงความเป็นจริงของมิจฉาทิฏฐิ ไว้ว่า

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือ อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญ ไพบูลย์ยิ่ง (คือ เกิดมากขึ้น) เหมือนกับมิจฉาทิฏฐินี้เลย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลเป็นผู้มีความเห็นผิด อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญ ไพบูลย์ยิ่ง”


พระธรรมที่ผู้ที่ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นบุคคลผู้เลิศ ผู้ประเสริฐที่สุดในโลกทรงห่างไกลจากกิเลสโดยประการทั้งปวง ทรงแสดง นั้น เป็นคำจริง เป็นคำเกื้อกูลให้สัตว์โลกมีความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด เป็นพระธรรมเทศนาที่เตือนสติสำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ยินได้ฟังอย่างแท้จริง แต่ว่าจิตใจของคน เป็นไปตามการสะสม แต่ละคนเป็นแต่ละหนึ่ง สะสมมาไม่เหมือนกัน ผู้ที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม มีเป็นส่วนน้อยมาก และ อกุศลก็เกิดขึ้นเป็นไปมากในชีวิตประจำวัน แม้แต่วันนี้วันเดียวอกุศลก็เกิดมากกว่ากุศลอย่างเทียบกันไม่ได้ รวมถึงอกุศลประการหนึ่งที่สะสมมา คือ มิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม จะไม่มีทางเข้าใจเลยว่า ใครก็ตามที่ยังไม่ได้บรรลุธรรมถึงความเป็นพระโสดาบัน ความเห็นผิดยังมีอยู่ ยังไม่ถูกดับ

ความเห็นผิด เป็นอกุศลธรรมประการหนึ่ง ซึ่งพัดหมู่สัตว์ให้จมลงในสังสารวัฏฏ์ ข้ามได้โดยยาก ทำให้ไม่กลับมาสู่ความเห็นถูก จึงเรียกว่า เป็นทิฏโฐฆะ (ห้วงน้ำคือความเห็นผิด) ซึ่งเป็นอันตรายมาก ถ้ามีความเห็นผิดเพียงเล็กน้อย แล้วจะทำให้ความเห็นผิดนั้นพาไปสู่ความเห็นผิดที่มากขึ้นและลึกขึ้น ยากต่อการที่จะละ

ความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลธรรม เพราะมีความเห็นผิดเกิดขึ้นเป็นไป จึงเรียกบุคคลนั้นว่า เป็นบุคคลผู้มีความเห็นผิด เป็นผู้มีความเห็นที่ไม่ตรง มีความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของสภาพธรรม เมื่อเห็นผิดแล้ว ทุกอย่างก็ผิดไปหมด โดยที่สิ่งที่ผิด ก็จะเห็นว่าถูก สิ่งที่ถูกก็จะเห็นว่าผิด ความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจา และทางใจ ก็ย่อมผิดไปด้วย กล่าวได้ว่า คิดผิด พูดผิด ทำผิด ปฏิบัติผิด คล้อยตามความเห็นที่ผิด ถ้าได้กระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ ก็จะเป็นเหตุให้ตนเองยิ่งตกต่ำมากยิ่งขึ้น คือ ตกไปสู่อบายภูมิ ยากที่ข้ามพ้นได้ ทั้งหมด ล้วนสืบเนื่องมาจากความเห็นผิด ทั้งนั้น ความเห็นผิด เป็นอกุศลธรรม ที่อันตรายและมีโทษมากเป็นอย่างยิ่ง และ บุคคลผู้ที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมบรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน โอกาสที่จะมีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ก็ย่อมสามารถที่จะเกิดขึ้นได้ แล้วแต่ว่าจะมีมากหรือมีน้อย ซึ่งจะประมาทความเห็นผิดไม่ได้เลย

ขณะที่ความเห็นผิดเกิดขึ้น ก็เป็นผู้ที่เสื่อมแล้ว กล่าวคือ เสื่อมจากปัญญา เสื่อมจากคุณความดีทั้งปวง เช่น เห็นผิดว่าบุญบาป ไม่มี ก็ลองคิดดูว่าถ้าเห็นผิดอย่างนี้แล้วจะเป็นอย่างไร? ก็ไม่ทำดี มีแต่ทำชั่วต่างๆ นานา เป็นผู้เสื่อมโดยส่วนเดียว

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยความละเอียดรอบคอบ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกเท่านั้น ที่จะเป็นไปเพื่อละคลายความเห็นที่ผิดที่ไม่ตรงได้ในที่สุด เราไม่สามารถที่จะทราบได้เลยว่าโอกาสที่เราจะเข้าใจธรรมในภพนี้ชาตินี้ จะเหลืออีกเท่าใด เพราะฉะนั้นแล้วเวลาที่เหลืออยู่นี้จึงเป็นเวลาที่มีค่าที่สุดในการที่จะให้ตนเองมีความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะเป็นไปเพื่อการดับกิเลส มีความเห็นผิด เป็นต้นได้ในที่สุด ซึ่งจะต้องเริ่มสะสมอบรมความเข้าใจถูกเห็นถูก ตั้งแต่ในขณะนี้ ขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้เลย เมื่อมีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะเป็นเครื่องป้องกันที่ดีที่จะไม่ทำให้ตกไปในฝ่ายผิดโดยประกาทั้งปวง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ