[คำที่ ๒๘๗] ทุปฺปญฺญ

 
Sudhipong.U
วันที่  23 ก.พ. 2560
หมายเลข  32407
อ่าน  1,151

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ ทุปฺปญฺญ

คำว่า ทุปฺปญฺญ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า ทุบ - ปัน - ยะ] มาจากคำว่า ทุ (ชั่ว, ไม่ดี,ทราม) กับคำว่า ปญฺญ (ผู้มีปัญญา) รวมกันเป็น ทุปฺปญฺญ หมายถึง ผู้มีปัญญาทราม,ผู้ทรามปัญญา หรือ ผู้ไม่มีปัญญา แสดงความเป็นไปของธรรมที่เป็นอกุศลธรรมทั้งหลาย มีอวิชชา (ความไม่รู้) เป็นต้น จึงเรียกว่า ผู้มีปัญญาทราม,ผู้ทรามปัญญา หรือ ผู้ไม่มีปัญญา ตามข้อความจากสัทธัมมปกาสินี อรรถกถาขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ชื่อว่า ทุปฺปญฺโญ คือ บุคคลผู้มีปัญญาทราม เพราะมีปัญญาทราม เพราะลุ่มหลงด้วยโมหะ” ซึ่งเมื่อไม่มีปัญญาแล้ว ก็เป็นเหตุให้ทำในสิ่งที่ผิด ไม่เหมาะไม่ควรมากมาย เป็นโทษโดยส่วนเดียว สะสมเหตุที่ไม่ดีให้กับตนเอง ที่จะเป็นเหตุให้ได้รับผลที่ไม่ดีในภายหน้า ตามข้อความจากพระไตรปิฎก ดังนี้ คือ

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงว่า บุคคลในโลกนี้ ตั้งใจไว้ผิด กล่าววาจาผิด กระทำการงานผิดด้วยกาย ผู้มีการสดับน้อย ทำกรรมอันไม่เป็นบุญไว้ในชีวิตอันมีประมาณน้อย ในมนุษยโลกนี้ เขา ผู้มีปัญญาทราม เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงนรก

(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ มิจฉาทิฏฐิสูตร)

------------------------------------

“ชนพาลทั้งหลาย มีปัญญาทราม มีตนเป็นดังศัตรู เที่ยวทำแต่บาปกรรมซึ่งมีผลเผ็ดร้อนอยู่”

(พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงถึงสิ่งที่มีจริง เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริงของธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง และมีจริงในชีวิตประจำวัน เพราะมีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ แม้แต่ในเรื่องของ “บุคคลผู้มีปัญญาทราม หรือ ผู้ไม่มีปัญญา” แท้ที่จริงแล้ว เมื่อว่าโดยปรมัตถธรรม คนสัตว์ ไม่มี มีแต่ธรรม เพราะมีธรรมฝ่ายไม่ดี มีความไม่รู้ เป็นต้น เกิดขึ้นเป็นไป ส่วนใหญ่แล้ว เมื่อเป็นปุถุชน ก็ย่อมเป็นไปด้วยอำนาจของกิเลสเป็นส่วนใหญ่ กุศลจิตจึงเกิดขึ้นมากในชีวิตประจำวัน บุคคลผู้มีปัญญาทราม ก็มีหลากหลายตามความเป็นไปของสภาพธรรมฝ่ายที่ไม่ดี เช่น คนที่ทำบาปกรรม มี ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ เป็นต้น เป็นบุคคลผู้ไม่รู้ประโยชน์โลกนี้ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ไม่ได้ทำความดีในโลกนี้ และไม่รู้ประโยชน์ในโลกหน้า ไม่สะสมความดีเป็นที่พึ่งให้กับตนเองเลย แต่มีปกติทำในสิ่งที่ไม่ดี และความเป็นผู้มีปัญญาทรามที่น่ากลัวอย่างยิ่ง คือ เป็นผู้ประกอบด้วยความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ซึ่งเมื่อเห็นผิดแล้ว ก็จะทำให้คิดผิด พูดผิด ทำผิด กาย วาจา ใจ ผิดไปหมด ตามความเห็นที่ผิด และยังชักนำผู้อื่นไปในทางที่ผิด ด้วย ทั้งหมดทั้งปวง ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของกุศลธรรมเลย

เป็นที่น่าพิจารณาว่า การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ นับว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้เจริญกุศลทุกประการ เนื่องจากว่าภูมิมนุษย์เป็นภูมิที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญกุศลได้ทุกประการ ทั้งในเรื่องของทาน การให้ การสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น, ในเรื่องของศีล การรักษากาย วาจา ให้เป็นปกติเรียบร้อยดีงาม เว้นในสิ่งที่ควรเว้น กระทำในสิ่งที่ควรกระทำ รวมถึงอ่อนน้อมถ่อมตน และการขวนขวายกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นต้น ด้วย นอกจากนั้นแล้วในเรื่องของภาวนา ซึ่งเป็นการอบรมเจริญปัญญา ก็มีด้วยเช่นเดียวกัน ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงจากสัตบุรุษผู้ที่เข้าใจพระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพื่อความเข้าใจในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น บุคคลผู้ที่น้อมประพฤติปฏิบัติตามได้อย่างนี้ ชีวิตย่อมจะมีค่า ไม่สูญเปล่า และไม่เสียชาติเกิดเลยที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วได้กระทำในสิ่งที่ควรทำซึ่งเป็นประโยชน์และจะเป็นที่พึ่งให้แก่ตนได้อย่างแท้จริง

แต่บุคคลบางคน ไม่ได้เป็นอย่างนี้ กลับเป็นตรงกันข้ามจากที่กล่าวมา เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว แต่ไม่ได้ประโยชน์จากความเป็นมนุษย์ที่ตนควรได้ เป็นผู้ประมาท มัวเมา ลุ่มหลง เป็นผู้มีปัญญาทราม ประกอบแต่กุศลกรรมสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น (ขณะนั้นตนเองก็เดือดร้อนเพราะกุศลแผดเผาและจะเดือดร้อนในขณะที่อกุศลกรรมให้ผลอีกด้วย) ในขณะที่กระทำอกุศลกรรมแต่ละครั้งนั้น เท่ากับว่าสาปแช่งให้กับตัวเอง ทำให้ตนเองมีความตกต่ำในภพข้างหน้า เพราะเหตุว่าที่ไปของบุคคลที่กระทำกุศลกรรมบ่อยๆ เนืองๆ นั้น มีเพียงอบายภูมิ ซึ่งเป็นภูมิที่มีแต่ความทุกข์ความเดือดร้อน เท่านั้น บุคคลประเภทดังกล่าวนี้ เป็นผู้ไม่ได้รับประโยชน์จากการมาเป็นมนุษย์ซึ่งได้อย่างยากแสนยาก จึงไม่ควรอย่างยิ่งเลยที่จะเป็นอย่างบุคคลประเภทนี้ จึงเป็นเครื่องเตือนใจที่ดีสำหรับทุกคนทุกเพศทุกวัย เพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต และเพื่อความเจริญมั่นคงในกุศลธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่ประมาทในการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย และที่สำคัญปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกนี้เองที่จะค่อยๆ ขัดเกลาความเป็นผู้มีปัญญาทรามไปทีละเล็กทีละน้อย และ เป็นเครื่องนำทางชีวิตไปสู่ความดีทั้งหลายทั้งปวงอย่างแท้จริง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ